เครือข่ายไม่กินหวาน ชวนเปลี่ยน 'ปรับลิ้น-กินอาหารปลอดภัย'
เครือข่ายไม่กินหวาน ชวนเปลี่ยน "ปรับลิ้น-กินอาหารปลอดภัย" หลังพบว่าคนไทยกินรสหวาน เค็มมากขึ้น โดยสัดส่วนของคนที่กินรสหวานเป็นอาหารมื้อหลักเพิ่มจาก 11.2% ในปี 2556 มาเป็น 14.2% ในปี 2560
ผลการวิเคราะห์ข้อมูลพฤติกรรมการบริโภคอาหารของประชากรอายุ 6 ปีขึ้นไปของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2556 และปี 2560 ซึ่งมีกลุ่มตัวอย่างประมาณ 2.8 หมื่นครัวเรือน พบว่าคนไทยกินรสหวาน เค็มมากขึ้น โดยสัดส่วนของคนที่กินรสหวานเป็นอาหารมื้อหลักเพิ่มจาก 11.2% ในปี 2556 มาเป็น 14.2% ในปี 2560 ขณะที่รสเค็มเพิ่มจาก 13.0% มาเป็น 13.8% ทั้งนี้รสชาติอาหารมื้อหลักของคนไทยมีลักษณะของการกินตามช่วงอายุ เช่น การกินรสหวานจะมีสัดส่วนสูงที่สุดในวัยเด็กที่ 32.5% และน้อยที่สุดในกลุ่มผู้สูงอายุที่กินรสหวานเป็นหลัก 6.6%
ทั้งนี้ เป็นที่ทราบกันดีว่าพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่เหมาะสม คือต้นเหตุของการเกิดโรคต่างๆ โดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs ดังนั้นการเพิ่มขึ้นของคนไข้กลุ่มโรคไม่ติดต่อ และยังเริ่มป่วยด้วยอายุที่น้อยลงเรื่อยๆ
ที่โรงพยาบาลแม่จัน อ.แม่จัน จ.เชียงราย ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ ทพญ.ละอองนวล อิสระธานันท์ ทันตแพทย์ชำนาญการพิเศษเข้ามาทำงานที่รพ.แม่จัน พบว่า ผลการตรวจสุขภาพบุคลากรของโรงพยาบาลร่วม 500 คน อยู่ในกลุ่มเสี่ยงโรคเบาหวานมากกว่า 40% ทำให้เธอไม่อาจนิ่งนอนใจ แม้จะไม่ใช่งานหลักในหน้าที่รับผิดชอบ แต่เธอคิดว่าน่าจะมีโรงอาหารต้นแบบในโรงพยาบาล ที่ทำให้ประชาชนและเจ้าหน้าที่ได้ฝึกเรื่องการทานอาหาร เพราะส่งผลต่อสุขภาพโดยตรง ขณะเดียวกันก็จะได้เป็นแบบอย่างต่อญาติคนไข้ที่มาเยี่ยมผู้ป่วยด้วย
“ศูนย์อาหารอ่อนหวาน” คือโรงอาหารต้นแบบที่หมอละอองนวลเป็นหัวเรือใหญ่ในการผลักดันให้เกิดขึ้น ซึ่งก่อนหน้านั้น บุคลากรของโรงพยาบาลจะซื้ออาหารจากที่อื่นเข้ามา เมื่อมีศูนย์อาหารก็สามารถเลือกรับประทานอาหารจากร้านภายในได้
สิ่งที่ตามมาหลังจากมีศูนย์อาหารอ่อนหวาน คือพฤติกรรมการรับประทานของบุคลากรเริ่มเปลี่ยนไป ผู้มาใช้บริการประมาณ 20% สั่งเมนูสุขภาพ หมอละอองนวลก็อยากขยายการรับรู้มากขึ้น จึงเข้าร่วมกับโครงการเด็กไทยไม่กินหวานที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อนำทุนที่ได้สร้างสื่อประชาสัมพันธ์ เช่น ทำป้ายตั้งวางหน้าร้าน ให้คนเห็นอย่างเด่นชัด ว่าร้านนี้มีเมนูสุขภาพอะไรบ้าง ขณะเดียวกันฝ่ายงานคุ้มครองผู้บริโภค ก็ช่วยดูแล ตรวจวัตถุดิบที่ใช้ปรุงอาหาร ไม่ว่าจะเป็นน้ำตาล ผัก ผลไม้ เครื่องปรุงต่างๆ รวมถึงคุณภาพน้ำกับน้ำดื่มที่ใช้ด้วย
“หวังว่าโครงการนี้จะชักชวนให้ประชาชนคำนึงถึงสุขภาพของตัวเองให้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็เป็นการปรับลิ้นของตัวเองที่ลองกินเมนูหวานน้อย ให้นำไปสู่การกินหวานให้น้อยลงต่อไป”
ทพญ.ละอองนวล กล่าวและอธิบายเพิ่มเติมว่า ถ้ารับประทานหวานน้อยๆ ติดต่อกันให้ได้ 21 วัน จะทำให้ลิ้นเคยชิน ไม่กลับไปกินหวานอีก ซึ่งวิธีการนี้สามารถใช้ปรับพฤติกรรมในการกินเค็ม หรือรสชาติจัดให้ลดลงได้เช่นกัน
กระบวนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค เพื่อให้ลดอัตราเสี่ยงจากโรคร้าย รวมถึงสร้างสุขนิสัยที่ดีในการบริโภคอาหาร ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในศูนย์อาหารอ่อนหวานของโรงพยาบาลแม่จันเท่านั้น หากที่โรงเรียนบ้านสันกอง อ.แม่จัน ก็เกิดโรงอาหารอ่อนหวานอาหารปลอดภัยด้วยเช่นกัน เพื่อให้เด็กๆ ในโรงเรียนได้รับประทานอาหารกลางวันที่มีคุณประโยชน์อย่างแท้จริง
โรงเรียนบ้านสันกอง มีนักเรียนทั้งหมด 321 คน นักเรียนส่วนใหญ่เป็นเด็กชนเผ่า มีพื้นฐานครอบครัวค่อนข้างยากจน จากสถิติด้านโภชนาการในปีการศึกษาที่ผ่านมานักเรียน 37% อยู่ในภาวะทุพโภชนาการ มีเด็กอ้วน 6% และฟันแท้ผุถึง 92 คนจากนักเรียนทั้งหมด ปัญหานี้ทำให้ทางโรงเรียนไม่อาจละเลยได้ จึงหาทางออก โดยเริ่มต้นที่อาหารกลางวัน เพราะเป็นมื้อสำคัญที่ทางโรงเรียนสามารถดูแลได้
ทางผู้บริหารโรงเรียนและคณะกรรมการสถานศึกษา นำโดย พันธ์ทิภา สร้างช้าง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านสันกอง จึงได้ประชุมชี้แจกกับผู้ปกครองนักเรียนและแจ้งให้ทราบว่าโรงเรียนจะให้เด็กทานผัก ทานข้าวกล้อง จึงขอให้ผู้ปกครองบอกกล่าวกับนักเรียนอีกทางหนึ่ง ซึ่งก็ได้รับความร่วมมืออย่างดี แม้ว่าช่วงแรกเด็กๆ อาจจะไม่คุ้นชิน แต่เมื่อเวลาผ่านไป ก็รับประทานได้และยังปฏิบัติต่อที่บ้านด้วย
พันธ์ทิภา กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือวัตถุดิบที่นำมาปรุง ซึ่งทางโรงเรียนก่อน มีบ่อปลา แปลงผัก โรงเลี้ยงไก่ไข่ สามารถนำมาใช้ได้ ส่วนที่เหลือได้จากแหล่งผลิตในชุมชนหรือผู้ปกครองนักเรียน โดยส่งผ่านสหกรณ์โรงเรียน โรงครัวก็ซื้อจากสหกรณ์โรงเรียนมาปรุงอาหารอีกทอดหนึ่ง ฉะนั้นจึงมั่นใจได้ส่วนหนึ่งว่าได้คัดเลือกวัตถุดิบที่ปลอดภัยมาปรุงอาหารให้นักเรียนได้ทาน
นอกจากนี้ สหกรณ์โรงเรียนบ้านสันกอง ยังไม่จำหน่ายน้ำอัดลม รวมถึงขนมกรุบกรอบ แต่เน้นขายขนมที่มาจากวัตถุดิบธรรมชาติ เครื่องดื่มก็เป็นน้ำสมุนไพรหวานน้อย เช่น น้ำกระเจี๊ยบ น้ำอัญชัน ซึ่ง ผอ.โรงเรียนบ้านสันกอง เชื่อมั่นว่า ตลอดเวลาที่เด็กอยู่ที่โรงเรียน อย่างน้อย 8 ปี นักเรียนจะปรับลิ้นได้ คือสัมผัสกับรสชาติไม่กินหวานหรือกินหวานน้อยลง สังเกตได้ว่าเมื่อนำเด็กไปทัศนศึกษาด้านนอก เด็กจะเลือกซื้อน้ำเปล่าแทนน้ำหวาน
“การลดหวานในโรงเรียนไม่ใช่เรื่องยาก แต่เป็นเรื่องที่เราควรทำ เด็กทุกคนควรได้รับโอกาสนี้ ที่ผ่านมาจึงพยายามขยายเครือข่าย เริ่มจากโรงเรียนใกล้ๆ เล่าให้เขาฟังว่าเราทำอะไร ประสบความสำเร็จอย่างไร แล้วเชิญชวนบอกให้เขาเห็นความสำคัญของการสร้างเสริมสุขภาพเด็ก จนตอนนี้เกิดเครือข่ายขึ้น 9 โรงเรียน และยังหวังว่าจะขยายไปได้มากกว่านี้ เพราะสิ่งที่ต้องการคือคุณภาพชีวิต สุขอนามัยของเด็กๆ ที่จะติดตัวเขาไป เมื่อเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต” ผอ.โรงเรียนบ้านสันกอง กล่าว
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทพญ.ปิยะดา ประเสริฐสม ผู้อำนวยการสำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย ในฐานะผู้จัดการเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน ย้ำว่า เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวานมีจุดประสงค์หลัก คือลดการกินน้ำตาล พอลงมาในพื้นที่อำเภอแม่จัน ก็พบว่าโรงเรียนบ้านสันกอง เป็นโรงเรียนต้นแบบเรื่องอาหารปลอดภัย มีการปลูกข้าว ปลูกผัก เลี้ยงปลา เลี้ยงไก่เอง ในมื้ออาหารกลางวันจึงไม่ต้องกังวลว่าเด็กจะมีอาหารไม่เพียงพอ หรือไม่ครบส่วน แม้ในโรงเรียนจะมีน้ำหวานอยู่บ้าง แต่ก็ปรับระดับน้ำตาลลงอยู่ในเกณฑ์ คือไม่เกิน 5% และยังเปิดขายเป็นเวลา ไม่ได้เปิดตลอดวัน
“การทำโครงการเด็กไทยไม่กินหวานนอกจากจุดประสงค์จะไม่ให้มีโรคอ้วนแล้ว ยังต้องการลดฟันผุด้วย อย่าง กิจกรรมแปรงฟันหลังอาหาร ครูที่นี่มีการจัดระบบให้เด็กทุกชั้นเรียนได้แปรงฟันหลังจากรับประทานอาหารเสร็จแล้ว ทำให้เขาเคยชินว่าหลังการรับประทานอาหารทุกครั้งควรจะได้แปรงฟัน เพื่อให้ช่องปากสะอาด กำจัดเศษอาหารและคราบเชื้อโรค ถ้าเด็กไม่มีปัญหาสุขภาพช่องปากและบริโภคอาหารตามที่โรงเรียนจัดให้ โอกาสที่เด็กจะเป็นโรคอ้วนหรือโรคฟันผุก็ลดลง” ทพญ.ปิยะดา กล่าวและย้ำว่า แม้ว่าเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวานจะเริ่มต้นจากเรื่องน้ำตาล แต่ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นวงจรเชื่อมโยงกัน ฉะนั้นจึงสนับสนุนให้โรงเรียนจัดอาหารครบส่วน จัดขนมและเครื่องดื่มที่ปลอดภัยให้กับเด็กนักเรียน เพื่อให้เด็กมีสุขภาพแข็งแรง เติบโตสมวัย และมีคุณภาพที่ดี