คว้าโอกาสจากปรากฏการณ์ Sell in May and Go Away!
ส่องปรากฏการณ์ Sell in May หรือสถิติที่หุ้นมักโดนเทขายในเดือนพฤษภาคม และมักจะทำให้ผลตอบแทนในเดือนนี้น้อยกว่าเดือนอื่นๆ หรืออาจติดลบ แล้วในปี 2021 จะเกิดไหม? หรือเป็นอย่างไร?
หลายท่านคงเคยได้ยินคำว่า “Sell in May and Go Away” ที่สมัยก่อนใช้กับเหล่าพ่อค้าที่มักไปพักผ่อนช่วงฤดูร้อนซึ่งเริ่มในเดือนพฤษภาคมและกลับมาค้าขายอีกครั้งในเดือนกันยายน แต่ในมิติของการลงทุนนั้น หมายถึงสถิติที่หุ้นมักโดนเทขายในเดือนพฤษภาคม ทำให้ผลตอบแทนเดือนนี้น้อยกว่าเดือนอื่นๆ หรืออาจติดลบ สาเหตุหลักน่าจะมาจากเป็นช่วงที่บริษัทจดทะเบียนประกาศผลดำเนินงานไตรมาสแรกและผู้บริหารออกมาให้แนวโน้มผลดำเนินงานตลอดทั้งปี รวมถึงเป็นฤดูกาลจ่ายเงินปันผล ซึ่งถ้าผลดำเนินงานดีตามคาด นักลงทุนบางกลุ่มจะ Sell on Fact แล้วหาจังหวะกลับเข้าลงทุนอีกครั้ง หรือถ้าหากผลดำเนินงานแย่กว่าคาด ก็ทำให้เกิดแรงเทขายได้เช่นกัน
จากสถิติย้อนหลัง 10 ปี ตั้งแต่ปี 2011-2020 พบว่าปรากฏการณ์ “Sell in May” นั้น เห็นได้ชัดในตลาดเกิดใหม่รวมถึงตลาดหุ้นไทย โดยดัชนี MSCI Emerging Markets และ SET Index มักให้ผลตอบแทนติดลบในเดือนพฤษภาคม คือลดลงเฉลี่ยราว -3% และ -1% ตามลำดับ ในทางตรงข้าม ตลาดหุ้นในประเทศพัฒนาแล้วยังให้ผลตอบแทนเป็นบวกได้
โดยตลาดหุ้นสหรัฐ ดัชนี S&P500 ปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ย +0.3% ส่วนยุโรป ดัชนี STOXX Europe 600 +0.5% นอกจากนี้ หากพิจารณาถึงโอกาสที่แต่ละตลาดให้ผลตอบแทนติดลบ ยังพบว่าหุ้น Emerging Market นั้น ให้ผลตอบแทนติดลบในเดือนพฤษภาคมถึง 7 ปี ในช่วงเวลา 10 ปี ย้อนหลัง แต่ตลาดหุ้นสหรัฐ และยุโรปให้ผลตอบแทนติดลบเพียง 2 และ 3 ปี เท่านั้น
- Sell in May 2021 จะเกิดไหม?
หากวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานปัจจุบัน สหรัฐนับเป็นประเทศขนาดใหญ่ที่เศรษฐกิจฟื้นตัวจากวิกฤติโรคโควิด-19 อย่างแข็งแกร่งและรวดเร็ว เพราะได้รับยากระตุ้นอย่างแรงถึงสองขนาน ทั้งจากวัคซีน ที่ตอนนี้ประชากรเกือบ 50% ได้รับแล้ว รวมถึงมีเม็ดเงินกระตุ้นจำนวนมหาศาลจากมาตรการเยียวยามูลค่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์
นอกจากนี้ นายโจ ไบเดน ยังได้เสนอแผนลงทุนระยะยาวเพิ่มอีก 2 แผน ได้แก่ แผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานวงเงิน 2.25 ล้านล้านดอลลาร์ และ American Families Plan ที่เน้นการศึกษาและการดูแลเด็กอีก 1.8 ล้านล้านดอลลาร์ แต่ด้วยระดับ Valuation ที่อยู่ในเกณฑ์สูง หลังจากที่ตลาดหุ้นสหรัฐเพิ่มขึ้นมาแล้วกว่า 90% (ดัชนี S&P500) จากจุดต่ำสุดในเดือนมีนาคมปีที่แล้ว และปัจจุบันซื้อขายที่ P/E 22.1 เท่า ทำให้ตลาดหุ้น มีโอกาสปรับขึ้นจำกัดในระยะสั้น และต้องรอการขยายตัวอย่างโดดเด่นของผลดำเนินงานบริษัทจดทะเบียนมาเป็นแรงผลักต่อไปในระยะยาว
เปรียบเทียบกับยุโรปที่เศรษฐกิจอยู่ในช่วงฟื้นตัว หลายประเทศมีความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนค่อนข้างมาก โดยรวมประชากรเกือบ 25% ได้รับวัคซีนเข็มแรกแล้ว และประชากรในอังกฤษเกินครึ่งได้รับวัคซีนแล้ว นอกจากนี้ เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นสหรัฐนั้น ตลาดหุ้นยุโรป มี Valuation ถูกกว่า โดยปัจจุบันซื้อขายที่ P/E 16.9 เท่า ใกล้เคียงค่าเฉลี่ย 5 ปี ย้อนหลัง และตลาดหุ้นยุโรปปรับเพิ่มขึ้นจากจุดต่ำสุดราว 60% (ดัชนี STOXX Europe 600) ซึ่งถือว่าน้อยกว่าตลาดหุ้นสหรัฐอย่างมีนัยสำคัญ (ข้อมูล ณ วันที่ 4 พ.ค.)
ขณะที่ภาพรวมของกลุ่มประเทศเกิดใหม่เปราะบางกว่ามาก การฟื้นตัวยังไม่ทั่วถึง มากไปกว่านั้น บางประเทศ เช่น อินเดีย กำลังเผชิญการแพร่ระบาดระลอกใหม่ที่รุนแรงจนต้องกลับมาจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและฉุดให้การฟื้นตัวช้าลง แต่ก็มีบางประเทศที่สามารถฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่ง เช่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน ที่เศรษฐกิจพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก ทำให้ได้รับอานิสงส์จากการค้าโลกที่ฟื้นตัว สำหรับพี่ใหญ่ของ Emerging Markets อย่างจีนเองก็เป็นประเทศแรกที่ฟื้นตัวและเศรษฐกิจยังเติบโตต่อได้อย่างดี แม้มีแนวโน้มชะลอลงบ้าง เนื่องจากทางการยึดหลักสมดุลที่คำนึงถึงเสถียรภาพด้วย
จากสถิติและปัจจัยพื้นฐานข้างต้น จะเห็นว่าในระยะสั้นตลาดหุ้นยุโรปมีแนวโน้มให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าภูมิภาคอื่นๆ หนุนจากทั้งเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวและ Valuation ที่ยังไม่สูง แต่ทั้งนี้การลงทุนแบบทุ่มสุดตัวมีความเสี่ยงสูงเกินไป ขณะที่ความพยายามในการจับจังหวะเข้าซื้อ-ขายให้แม่นยำทำได้ยาก โดยเฉพาะในสภาวะที่มีปัจจัยต่างๆ มากมายที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจและตลาดหุ้นเช่นปัจจุบัน ดังนั้น การกระจายลงทุนให้หลากหลาย ผ่านกองทุนรวมที่มีนโยบายเชิงรุก และมีผู้ดูแลติดตามพอร์ตการลงทุนรวมทั้งให้ข้อมูลอย่างสม่ำเสมอเพื่อการตัดสินใจที่รอบคอบ ย่อมเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับรากฐานการสร้างขุมทรัพย์ที่ยั่งยืนต่อไป