‘วัคซีนโควิด 19’ อาวุธสำคัญ ลดป่วย ลดตาย
ยอดจองฉีดวัคซีนโควิด19 ราว 1.7 ล้านราย จากเป้า 16 ล้านราย ในระยะที่ 2 ถือว่าต่ำกว่าเป้าถึง 90% แม้วัคซีนจะเป็นอาวุธสำคัญในการลดป่วย ลดตาย แต่ประชาชนจำนวนมากยังกังวลเรื่องผลข้างเคียง ทำให้ล่าสุด สธ. ลุยฉีดในพื้นที่กทม. ตั้งเป้า 7.5 ล้านคน
สำหรับ การฉีดวัคซีนระยะที่ 2 ใน 2 กลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้สูงอายุ และ กลุ่มโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค จำนวน 16 ล้านคน ตัวเลขการจอง 1 - 11 พ.ค. 64 (14.00น.) มีผู้ลงทะเบียนจองคิวสะสม 1,730,526 ราย หรือประมาณ 10% ของกลุ่มเป้าหมายทั้งหมด แบ่งเป็น ในกทม. 543,600 ราย และ ต่างจังหวัด 1,186,926 ราย เรียกว่ายังต่ำกว่าเป้าถึง 90%
นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมช.สธ.) ระบุว่า เหตุผลอาจเพราะความกังวลในอาการไม่พึงประสงค์ของการฉีดวัคซีน และการเข้าถึงระบบหมอพร้อมผ่านไลน์และแอปพลิเคชันหมอพร้อม ซึ่งผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรังอาจยังกระตือรือร้นช้าอยู่ ทั้งนี้ การให้วัคซีนแก่สองกลุ่มนี้ก่อน เพื่อรักษาและคุ้มครองชีวิต ยืนยันว่าไม่ได้ละเลยคนกลุ่มอื่น ไม่ว่ากลุ่มอาชีพที่มีความเสี่ยง หรือกลุ่มที่ทำงานด่านหน้า หรือกลุ่มต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดที่จำเป็นด้านเศรษฐกิจที่จัดลำดับไว้ แต่ที่เราเปิดลงทะเบียนหมอพร้อมในสองกลุ่มนี้ ก็สัมพันธ์กับจำนวนวัคซีนล็อตใหญ่ที่จะได้รับช่วงแรก มิ.ย. และ ก.ค.
- "วัคซีนโควิด 19" ลดความรุนแรงโรค
ขณะเดียวกัน 3 คณบดี รร.แพทย์ ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล พร้อมด้วย ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี และ ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า อยากให้ประชาชนเข้าใจในสถานการณ์ของโควิด และ หันมาฉีดวัคซีนโควิด เพื่อป้องกัน ลดความรุนแรงของโรค เนื่องจากปัจจุบันพบผู้ป่วยเฉลี่ย 1,000 คนต่อวัน และจำนวนผู้ป่วยหนักก็เพิ่มมากขึ้น ซึ่งหากไม่แก้ไขปัญหาตั้งแต่ต้นทางด้วยการลดจำนวนผู้ป่วย จะหวังให้แก้ปัญหาผู้ป่วยแบบปลายทางด้วยการรักษาอย่างเดียวคงไม่ได้ หากทุกพื้นที่ยังพบผู้ป่วยอยู่ จำนวนผู้ป่วยในรพ.จะลดลงได้อย่างไร
ทั้งนี้ ตัวเลขผู้ป่วยโควิด ใน 3 สถาบัน พบเฉลี่ยที่ละ 150-200 คน แต่ภาพรวมประเทศพบ ผู้ป่วยหนักใส่ท่อช่วยหายใจ 400 คน และ ร้อยละ 25 มีแนวโน้มรุนแรง ในจำนวน 1 ใน 4 มีโอกาสเสียชีวิต หากให้วิเคราะห์สถานการณ์การเพิ่มจำนวนของผู้ป่วยส่วนหนึ่งมาจากการ์ดตก คนหนุ่มสาวไม่ได้ป้องกันตนเอง ยังคงมีการสังสรรค์ และพบ ภาวะโรคอ้วน หรือมี BMI30 เสี่ยงป่วยรุนแรงและชีวิตและพบการติดเชื้อในครอบครัวการฉีดวัคซีนเป็นสิ่งหนึ่งที่จะช่วยลดอัตราการติดเชื้อ และลดภาระงานของแพทย์ ที่ขณะนี้ ภาระงานเต็มไม้เต็มมือ และ กำลังจะล้นไม้ล้นมือ
- ป่วยโควิด โอกาสเกิดลิ่มเลือดอุดตัน "มากกว่าฉีดวัคซีน"
สำหรับอาการที่หลายคนกังวลหลังฉีดวัคซีน ได้แก่ "การเกิดลิ่มเลือดอุดตัน" นพ.กำธร มาลาธรรม นายกสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย เปิดเผยในการเสวนาหัวข้อ “ผ่าวัคซีน COVID-19 ฟังชัด ๆ กับ ทีมแพทย์ 3 สถาบัน” ว่า วัคซีนโควิด 19 ไม่ได้เพิ่มการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในเส้นเลือดในคนทั่วไป โดยเฉพาะคนไทย อัตราการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ ต่ำกว่าคนผิวขาวหรือชาวตะวันตก 10 เท่า จากปัจจัยทางพันธุกรรม ขณะที่ในยุโรป จะเห็นว่ามีลิ่มเลือดอุดตันชนิดพิเศษ (ยังไม่พบประเทศไทย) ซึ่งมีเกล็ดเลือดต่ำร่วมด้วยแต่น้อยมาก คือ 1 ในแสนหรือล้าน
เกิดจากการตอบสนองของร่างกาย หากรุนแรงเกินไปจะไปกระตุ้นเกล็ดเลือดทำให้ลิ่มเลือดอุดตันขึ้นมา สามารถรักษาได้ แต่หากติดโควิด 19 มีโอกาสเกิดลิ่มเลือดอุดตันได้ โดยใน รพ.รามาฯ มีคนไข้โควิด ปอดอักเสบเรื้อรัง อยู่ในไอซียู พบว่ากว่าร้อยละ 20 ของผู้ป่วยมีภาวะลิ่มเลือดอุดตันเกิดขึ้น ดังนั้น การฉีดวัคซีน โอกาสลิ่มเลือดอุดตันน้อยกว่าเป็นโควิด 19
ขณะที่อาการชา เป็นเพียงอาการที่เกิดขึ้นชั่วคราว อาจจะเพราะร่างกายไม่พร้อม อ่อนเพลีย กลัว ทำให้เกิดอาการอ่อนแรงครึ่งตัว จะเป็น 1-3 วัน หรืออาทิตย์หนึ่งจากความกังวลใจ สุดท้ายก็หายเป็นปกติ ไม่มีใครเสียชีวิต หรือพิการถาวรเรื้อรัง
- ฉีดวัคซีน ยี่ห้อไหนดี
นพ.กำธร อธิบายเพิ่มเติมว่า หากดูเฉพาะตัวเลข ก็จะคิดว่าดีแตกต่างกันชัดเจน แต่ความเป็นจริง ในการทดลองแต่ละตัว มีการทดลองในสถานที่แตกต่างกัน เพราะฉะนั้นเปรียบเทียบตรงๆ ไม่ได้ และแต่ละที่เชื้อโควิดสายพันธุ์ไม่เหมือนกัน แต่ก็ทำให้เห็นประสิทธิภาพวัคซีนได้ การป้องกันจากการฉีดวัคซีน ตัวเลขใกล้เคียงกันมาก ประสิทธิภาพวัคซีนไม่แตกต่างกันโดยเฉพาะซิโนแวค และ แอสตร้าเซนเนก้า ดังนั้น ยิ่งเวลานานไป หากไม่ฉีดวัคซีนโอกาสติดโรคจะยิ่งมากขึ้น
รศ.พญ.ธันยวีร์ ภูธนกิจ รองหัวหน้าภาควิชากุมาร เวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า สิ่งที่ต้องวัด คือ “จำนวนการฉีดวัคซีน” จะเห็นว่าหลายประเทศที่ฉีดเยอะๆ เช่น อังกฤษ อัตราการเสียชีวิตลดลง ดังนั้น จึงไม่ได้วัดว่าฉีดยี่ห้อไหน แต่วัดว่าพื้นที่ใดประชาชนได้รับการฉีดครอบคลุม 50-70% สำหรับ รพ.จุฬาฯ ในผู้ป่วย 1,000 ราย จะมีผู้ป่วยเด็กราว 100 ราย ดังนั้น การที่พ่อแม่ฉีดวัคซีนก็เป็นการปกป้องเด็กได้ด้วย ในระหว่างที่รอวัคซีนเด็ก รวมถึง ครู และทุกๆ คน ทุกกลุ่มประชากรต้องฉีดไปถึง 70% โดยเร็ว ต้องใช้วัคซีนทุกตัวมาช่วยกัน
- ระบบเฝ้าระวัง เก็บข้อมูลแบบเรียลไทม์
รศ.นพ.วินัย รัตนสุวรรณ หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราช กล่าวว่า การฉีดวัคซีนโควิด 19 จะมีการเก็บข้อมูลแบบเรียลไทม์ ว่าแต่ละคนได้ฉีดวัคซีนยี่ห้อใด ล้อตไหน เพราะฉะนั้น ใครเกิดอาการข้างเคียงขึ้น จะสามารถดูได้ทันทีว่าฉีดอะไรมา และหลังฉีดมีการเฝ้าระวังดูอาการ 30 นาที หากใครที่มีอาการรุนแรง สามารถช่วยเหลือได้ทัน
- อายุแตกต่างกัน ผลข้างเคียงต่างกันหรือไม่
รศ.พญ.ธันยวีร์ อธิบายว่า สำหรับคนในวัยหนุ่มสาว สิ่งที่แสดงว่ามีการสร้างภูมิคุ้มกัน คือ จะมีอาการไข้ ปวดเมื่อย เพลีย จะมากกว่าผู้สูงอายุ เป็นตัวบ่งบอกว่า ร่างกายเราสร้างภูมิคุ้มกันได้ดี ข้อมูลที่ศึกษาในกลุ่มวัยรุ่น ไม่แตกต่างจากวัยทำงาน
ขณะที่ในวัยสูงอายุ หรือคนที่มีโรคประจำตัว ผู้ที่มีโรคประจำตัว หลักๆ คือ เบาหวาน หัวใจ ปอด หากติดโควิดจะมีอาการรุนแรง ดังนั้น จึงสนับสนุนให้มารับวัคซีนก่อน เพื่อป้องกันความรุนแรง
- ไวรัสกลายพันธุ์ วัคซีนสู้ได้หรือไม่
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ” หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า มีการศึกษาว่าไวรัสกลายพันธุ์ที่ต้องคำนึงถึง จะเห็นว่า สายพันธุ์แอฟริกา อินเดีย หรืออังกฤษ สายพันธุ์อังกฤษไม่มีผลต่อประสิทธิภาพของวัคซีน ส่วนสายพันธุ์แอฟริกา อาจมีผลบ้าง แต่ประสิทธิภาพที่ลดลงมา แต่ยังเพียงพอ แม้แต่บราซิล แต่สายพันธุ์อินเดีย ยังไม่หลักฐานพิสูจน์ชัดว่าทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนด้อยลงหรือไม่ ต้องรอ อย่างไรก็ตาม ไม่คิดว่าวัคซีนที่ฉีดปูพรมไป อย่างน้อยก็มีประสิทธิภาพ สามารถปกป้องคนส่วนใหญ่ การฉีดวัคซีนในหมู่มาก ทำให้ป้องกันการติดสายพันธุ์ใหม่ได้ด้วย
"วิกฤติครั้งนี้แก้ปัญหาได้ด้วยวัคซีน เราเห็นได้ว่าทั่วโลกทำไมจึงไขว้คว้าหาวัคซีน และฉีดไปแล้วกว่า 1,300 ล้านโดส เป้าหมายของทั่วโลก ต้องฉีดให้ได้ 10,000 ล้านโดสเป็นอย่างน้อย สำหรับไทย ไม่น้อยกว่า 100 ล้านโดส ถึงจะยุติวิกฤติได้ จะฉีดอย่างไรให้ได้มากที่สุด เร็วที่สุด ไม่ว่ายี่ห้อไหนก็ตาม"
- อังกฤษ อัตราเสียชีวิตลดหลังเร่งฉีดวัคซีน
ข้อมูลจาก ศ.นพ. ยง ระบุว่า “โควิด 19 วัคซีน เปรียบเทียบระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศส” ประเทศฝรั่งเศส มีประชากร 65 ล้านคนประเทศอังกฤษมีประชากร 67 ล้านคน เท่ากับประเทศไทย ทั้งสองประเทศ มีปัญหา covid อย่างมาก และมีมาตรการต่างๆ รวมทั้ง lock down
“อังกฤษ” มีปัญหาระบาดหนักในช่วงที่เกิดสายพันธุ์อังกฤษ จนระบบสาธารณสุขของอังกฤษจะไปไม่รอด อังกฤษระดมฉีดวัคซีนอย่างเต็มที่ เดินหน้าปูพรมได้วัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม และสามารถฉีดวัคซีนได้ถึง 75 โดสต่อประชากร 100 คน ในขณะที่ฝรั่งเศสฉีดวัคซีนได้เพียง 34 dose ต่อประชากร 100 คน ( 4 พฤษภาคม) จะเห็นผลต่างกันชัดเจน อังกฤษใช้วัคซีน Pfizer และ AstraZeneca โดยภายหลังใช้ AstraZeneca เป็นหลัก
“ฝรั่งเศส” ก็เช่นเดียวกัน แต่เมื่อมีปัญหาอาการแทรกซ้อน ที่เกี่ยวกับลิ่มเลือด ของวัคซีน virus vector (AstraZeneca) การฉีดวัคซีนของฝรั่งเศสช้าลงมากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอังกฤษ น้อยกว่ากันกว่าครึ่ง
ผลลัพธ์ขณะนี้ผู้ป่วย covid 19 ของอังกฤษอยู่ในหลัก 1,000 ถึง 2,000 คนต่อวัน และมีการเสียชีวิตหลักหน่วย ถึง หลักสิบต้นๆ ส่วน ฝรั่งเศส ยังมีผู้ป่วยประมาณวันละ 20,000 คน เสียชีวิต 200 ถึง 300 คนต่อวัน หรือมากกว่ากัน 10 เท่า แสดงให้เห็นการให้วัคซีนในประชากรหมู่มาก มีประโยชน์อย่างเห็นได้ชัดเจนต่อระบบสาธารณสุขและชีวิตโดยรวมของประชาชน
- เสนอปรับแผน 50-40-10
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา มีหลายข้อเสนอให้ภาครัฐ ดำเนินการปรับแผนการฉีดวัคซีน เพื่อให้สามารถฉีดได้ครอบคลุมอย่างรวดเร็วมากขึ้น อาทิ "ศ.นพ.นิธิ มหานนท์" ผอ.โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ที่ระบุว่า สมมุติฉีดได้วันละ 100 คน สามารถจัดให้คนในแผนเดิมคือผู้สูงอายุ และผู้ที่เป็นโรคเรื้อรัง 50 คน (50%) อีก 40 คนใครก็ได้ทุกช่วงวัย (40%) และ 10 ให้คนที่เดินเข้ามาฉีดเอง (10%) ต้องสามารถได้รับการฉีดได้ เหมือนการนัดคนไข้ไป รพ. ตามปกติ คือ มีทั้งคนที่มาตามนัด คนที่เดินเข้ามาเอง ดังนั้น ต้องมีความยืดหยุ่นสูง ไม่ควรยึดติดอยู่กับระบบเดิม และต้องปรับให้เร็ว และ สัดส่วนดังกล่าวสามารถปรับได้ รวมถึง กลุ่มเสี่ยงบางกลุ่ม เช่น ชุมชนแออัด ตลาด ก็สามารถเข้าไปฉีดป้องกันไว้เลย เพราะการบริหารจัดการวัคซีน ไม่ควรจะให้คนเข้าไปหาวัคซีน วัคซีนต้องเข้าไปหาคนที่มีความเสี่ยงที่จะแพร่เชื้อได้ง่าย เราต้องจัดการกับคนที่จะแพร่เชื้อ
- ลุยฉีด พื้นที่ กทม. 7.5 ล้านคน
ด้าน กระทรวงสาธารณสุข นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนโควิด 19 เปิดเผยภายหลังการประชุมอนุกรรมการบริหารจัดการวัคซีนฯ ว่า ที่ประชุมมีข้อสรุปว่ามั่นใจว่าจะมีวัคซีนเข้ามาจำนวนมากประมาณ 10 ล้านโดสในเดือน มิ.ย. ดังนั้น จะต้องมีการฉีดให้ประชาชนอย่างทั่วถึง
โดยมีการฉีดหลายรูปแบบ คือ 1.การฉีดในสถานพยาบาล 2. ฉีดในสถานที่อื่นๆ เช่น ศูนย์การค้า ยิมเนเซียม 3.การฉีดด้วยรถให้บริการฉีดวัคซีนเคลื่อนที่ รุกเข้าไปในพื้นที่ เช่น ตลาด ชุมชน ผู้ป่วยติดเตียง และ4. ให้แต่ละองค์กรดำเนินการจัดฉีดเอง เช่น ทหาร ตำรวจ ที่มีรพ. หรือโรงงานที่มีรพ.ประกันสังคมอยู่แล้ว ทั้งนี้การฉีดไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดต้องมีการเฝ้าระวังสังเกตอาการ 30 นาที เช่นเดิม
สำหรับพื้นที่ กทม. มีการพิจารณาว่าน่าจะใช้วัคซีนประมาณ 7.5 ล้านโดสสำหรับฉีดเข็มแรก ให้กับประชากร 7.5 ล้านคน ฉีดครอบคลุมประชากรทุกคนในพื้นที่ รวมถึงแรงงานต่างด้าวกว่า 2 ล้านคนด้วย ซึ่งกรณีแรงงานต่างด้าวจะไม่มีการพิสูจน์ว่าเป็นแรงงานถูกกฎหมาย หรือผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตาม จากจำนวน 7.5 ล้านโดสนี้ ตั้งเป้าว่าจะต้องฉีดให้ได้อย่างน้อย 70% หรือประมาณ 5 ล้านคน (5 ล้านโดส) ทั้งนี้ ปัจจุบันกทม. ฉีดวัคซีนไปแล้ว 5 % ของประชากร เบื้องต้นภายในเดือนพ.ค.จะมีวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าเข้ามาก่อนประมาณ 1 ล้านโดส แต่ยังระบุวันที่ชัดเจนไม่ได้ ก็จะถูกนำมาใช้ในพื้นที่การระบาด
"วัคซีนที่เรามีอยู่ไม่ว่าตัวไหนก็ตามสามารถฉีดได้หมดเพราะสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ ส่วนต่างจังหวัดจะกระจายวัคซีนลงไปให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดดำเนินการกระจายต่อไป" นพ.โสภณกล่าว
พร้อมกับยืนยันว่า วัคซีนที่มีทุกตัวสามารถฉีดแล้วกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ ซิโนแวคเองมีการฉีดในพื้นที่ภูเก็ต แม่สอด รวมถึงสมุทรสาครก็พบว่าได้ผลดี ดังนั้นวัคซีนที่ดีคือฉีดให้เร็วที่สุดเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ป้องกันตัวเอง ป้องกันชุมชน และป้องกันประเทศชาติ วัคซีนจะช่วยให้เราปิดจบการระบาดโควิด-19 ได้เร็ว
ทั้งนี้ สำหรับประชากรกรุงเทพฯ ตามทะเบียนราษฎร์จำนวน 5,583,601 คนประชากรแฝง 2,053,508 คน รวม 7,637,109 คน หากคิดเป็น 70%ของประชากรจะอยู่ที่ 5,345,977 คน