'ทีเฟก'- 'ก.ล.ต.'เร่งสอบก๊วนบล็อกเทรด หากพบกระทำผิดเตรียมลงดาบ
ก.ล.ต.เผย อยู่ระหว่างตรวจสอบข้อมูลนักลงทุนร้องเรียนจากได้รับความเสียหายจากมาร์เก็ตติ้งทำธุรกรรมบล็อกเทรดผ่านบัญชีตนเอง ตลาดทีเฟก แจงหากพบการกระทำผิดเตรียมดำเนินงานทันที ด้านอดีตนายกสมาคมโบรกเกอร์ ชี้ บล.ต้องเข้มระบบควบคุมภายใน
จากกรณีที่เจ้าหน้าที่แนะนำการลงทุน(มาร์เก็ตติ้ง)หลายบริษัทหลักทรัพย์(โบรกเกอร์)รวมตัวกันทำธุรกิจกรรมบล็อกเทรดระหว่างกันทำให้ลูกค้าได้รับความเสียหาย ซึ่งขณะนี้นักลงทุนอยู่ระหว่างการร้องเรียนดำเนินการกับมาร์เก็ตติ้งและบริษัทหลักทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าว
นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ก.ล.ต.อยู่ระหว่างการดำเนินการตรวจสอบข้อมูลจากที่มีนักลงทุนเข้ามาร้องเรียนได้รับความเสียหายจากมาร์เก็ตติ้งทำธุรกรรมบล็อกเทรดผ่านบัญชีของนักลงทุน ซึ่งก.ล.ต.จะต้องดูรายละเอียดและข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องก่อน
ส่วนกรณีก.ล.ต.จะมีการออกมาตรการดูแลการทำธุรกิจกรรมบล็อกเทรดหรือไม่ นางสาวรื่นวดี กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถตอบได้ เพราะ ต้องรอพิจารณาข้อมูลก่อนว่า กรณีที่เกิดขึ้นมีรายละเอียดอย่างไร มีเหตุจากเรื่องใดบ้าง
นางสาวรินใจ ชาครพิพัฒน์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานการตลาด ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ TFEX กล่าวว่า ตลาาดTFEXได้รับทราบถึงกรณีการซื้อขายบล็อกเทรดที่เกิดขึ้นแล้วโดยเบื้องต้นมีเกณฑ์กำกับดูแลการซื้อขายบล็อกเทรดและมีการกำหนดให้มีการวางหลักประกัน (มาร์จิ้น) รวมทั้งมีการมอร์นิเตอร์สถานะสัญญาอย่างเป็นประจำอยู่แล้ว ซึ่งกรณีที่พบความผิดปกติจะมีการดำเนินการตามกระบวนการต่อไป
ทั้งนี้ ยอมรับว่าปริมาณการซื้อขายบล็อกเทรดปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปี 2563 โดยการซื้อขายบล็อกเทรด (รวมทุกผลิตภัณฑ์) ในเฉลี่ยต้นปีนี้ถึง 11 พ.ค. 2564 อยู่ที่ 2.57 แสนสัญญาต่อวัน จากปี 2563 เฉลี่ยอยู่ที่ 1.86 แสนสัญญาต่อวัน โดยเฉพาะเดือน ธ.ค.2563 มียอดซื้อขายเฉลี่ยสูงถึง 3.84 แสนสัญญาต่อวัน เช่นเดียวกันกับบล็อกเทรด Single Stock Futures ที่อ้างอิงหุ้นรายตัวที่ปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยปรับขึ้นมาอยู่ที่ 2.56 แสนสัญญาต่อวัน จากปีก่อนที่ 1.86 แสนสัญญาต่อวัน และเดือน ธ.ค.ที่ 3.82 สัญญาต่อวัน
นางภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.)ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) จำกัดและอดีตนายกสมาคมโบรกเกอร์ กล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นได้ ส่วนตัวมองว่าแต่ละโบรกเกอร์จะต้องมีการเข้มงวดเรื่องการทำธุรกรรมและการบริหารความเสี่ยงดังกล่าวมากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้
“กรณีการร้องเรียนเรื่องการทำธุรกิจบล็อกเทรดที่เกิดขึ้นส่วนตัวไม่ทราบรายละเอียด แต่มองว่าปัญหาดังกล่าวนั้นโบรกเกอร์จะต้องมีระบบควบคุมดูแล และบริหารความเสี่ยงที่ดี เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา ”
ส่วนเกณฑ์ปัจจุบันสามารถให้โบรกเกอร์ส่งคำสั่งซื้อขายบล็อกเทรดระหว่างกันได้ เพราะ บางโบรกเกอร์ ไม่ทำธุรกิจบล็อกเทรด แต่ลูกค้าต้องการทำ มาร์เก็ตติ้งสามารถส่งคำสั่งซื้อขายบล็อกเทรดไปยังโบรกเกอร์อื่นได้ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกกับลูกค้า ซึ่งมองว่าเรื่องดังกล่าวไม่ได้เป็นเรื่องผิด
สำหรับการทำธุรกรรมบล็อกเทรดมีปริมาณเพิ่มขึ้นเป็นไปตามภาวะตลาดหุ้นไทย ไม่ได้มีการเพิ่มขึ้นแบบผิดปกติ ซึ่งบล.ดีบีเอส มีการทำธุรกรรมดังกล่าวให้ลูกค้าแต่เป็นลักษณะส่งคำสั่งซื้อขายต่อให้กับโบรกเกอร์พันธมิตร ไม่ได้ทำธุรกรรมเอง
นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์และนักกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า จากกรณีธุรกรรมการซื้อขายที่ผิดปกติของสัญญาบล็อกเทรด ซึ่งคาดว่าเป็นผลจากการใช้เครื่องมือลงทุนดังกล่าวผลักดันราคาหุ้นผ่านเครือข่ายมาร์เก็ตติ้งของโบรกเกอร์หลายแห่ง ที่ใช้ช่องโหว่จากระบบงานภายในเปิดสถานะสัญญาบล็อกเทรดแบบไม่ระบุบัญชีของลูกค้า หรือระบุบัญชีในภายหลัง ส่งผลให้ลูกค้ามีผลขาดทุน
ขณะที่ผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทย พบว่า ธุรกรรมดังกล่าวทำให้ราคาหุ้นอ้างอิงรายตัวปรับลงรุนแรงประมาณ 25% ในระยะเวลาเพียง 3 เดือน ซึ่งภายหลัง(ก.ล.ต.) เข้าตรวจสอบทีมมาร์เก็ตติ้ง และการเข้มงวดการซื้อขายภายในของโบรกเกอร์ จะส่งผลให้ยอดการทำธุรกรรมบล็อกเทรดเบาบางลง ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องไปยังมูลค่าการซื้อขายรวมของตลาดหุ้นไทย
ทั้งนี้ ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2564 วอลุ่มการซื้อขายบล็อกเทรดเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 4-5 พันล้านบาทต่อวัน จากปี 2563 อยู่ที่ 2-3 พันล้านบาทต่อวัน ซึ่งส่งผลต่อวอลุ่มการซื้อขายหุ้นไทย ประมาณ 3 หมื่นล้านบาทต่อวัน หรือประมาณ 30% ของวอลุ่มการซื้อขายต่อวันทั้งหมด ซึ่งภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าว คาดว่าธุรกรรมการซื้อขายบล็อกเทรดจะปรับลดลงประมาณครึ่งหนึ่ง ทำให้วอลุ่มการซื้อขายของตลาดหายไปประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 15% และในกรณีเลวร้าย 2 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 20%
ขณะที่แหล่งข่าวในตลาดทุน เปิดเผยว่า การกระทำลักษณะนี้เชื่อว่าผู้บริหาร มาร์เก็ตติ้ง รวมถึงลูกค้า ต้องล้วนแต่เป็นผู้มีส่วนรู้เห็น ซึ่งในอดีตตั้งแต่เกิดเรื่องในเดือน ธ.ค.2563 ต่อเนื่องมาจนถึงต้นปี 2564 ทุกฝ่ายยังได้รับกำไรจากการปรับขึ้นของหุ้นอ้างอิงบนกระดาน อย่างไรก็ดี ภายหลังราคาหุ้นปรับลงตรงข้ามกับสถานะบล็อกเทรดที่เปิดสัญญาไว้ ส่งผลให้ถูกบังคับขาย และส่วนหนึ่งต้องนำเงินมาใส่เพิ่ม จึงเกิดการร้องเรียนต่อ ก.ล.ต.ขึ้นมา
“การจะทำแบบนี้ได้ต้องมีเครือข่ายมาร์เก็ตติ้งที่รู้เห็นกันหลายโบรกฯ เพราะกฎหมายเปิดให้ทำธุรกรรมบล็อกเทรดข้ามโบรกฯ ได้ รวมถึงมีความเป็นไปได้สูงที่ลูกค้าอาจจะรู้กันด้วยก็ได้ แต่พอขาดทุนก็มาร้องร้องเรียน ก.ล.ต. เพราะอย่างไรความผิดก็จะไปตกที่ที่มมาร์เก็ตติ้ง หรือเรียกว่าวงแตกแล้วนั่นเอง”