กทม.ชี้แจง ฉีดวัคซีนนอก รพ. 12 - 14 พ.ค. อยู่ระหว่างทดลองระบบ
กทม. ชี้แจงการฉีดวัคซีนนอก รพ. ระหว่าง 12-14 พ.ค. เป็นระยะทดลองระบบการให้บริการวัคซีนกลุ่มเป้าหมายที่ทาง กทม. มีรายชื่อแล้ว ตามที่ได้รับจากองค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เน้นไปที่บุคคลที่ต้องทำงานบริการประชาชนเสี่ยงสูง ยังไม่เปิด Walk in
วันนี้ (13 พ.ค. 64) ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกของกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ว่า ปัจจุบันผู้ป่วยโควิด-19 ในกทม.มีหลายกลุ่มก้อน (cluster) ที่สำคัญ อาทิ ชุมชนแออัดในเขตคลองเตย ตลาดห้วยขวาง แฟลตดินแดง เขตดินแดง ปากคลองตลาด เขตพระนคร สี่แยกมหานาค เขตดุสิต สำเพ็ง เขตสัมพันธวงศ์ บริษัทขายตรงตึกเอมไพร์ เขตสาทร ชุมชนวัดโสมนัส เขตป้อมปราบฯ ชุมชนบ่อนไก่ เขตปทุมวัน ชุมชนบ้านขิง/The mall บางแค เขตบางแค เป็นต้น
ทั้งนี้ มีหลายคลัสเตอร์ ที่มีแนวโน้มที่จะสามารถควบคุมการระบาดได้ ได้แก่ บริษัทขายตรงตึกเอมไพร์ เขตสาทร ชุมชนวัดโสมนัส เขตป้อมปราบฯ ชุมชนบ่อนไก่ เขตปทุมวัน ชุมชนบ้านขิง/The mall บางแค เขตบางแค ทั้งนี้กรุงเทพมหานครร่วมกับสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) กระทรวงสาธารณสุข กองทัพ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดใน Cluster ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะชุมชนแออัดคลองเตยปัจจุบันได้เร่งตรวจค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุก (Swab) ในตลาดคลองเตย เพื่อแยกผู้ติดเชื้อนำเข้าสู่ระบบรักษาพยาบาล
- แนวทางให้วัคซีน พื้นที่ กทม.
สำหรับแนวทางการให้วัคซีนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เนื่องจากวัคซีนที่ กทม.ได้รับจัดสรรในช่วงนี้มีปริมาณจำกัด จึงมีการจัดลำดับในการวัคซีนแก่ผู้มีความเสี่ยง ได้แก่ บุคลากรด่านหน้าที่มีหน้าที่ในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคและกลุ่มอาชีพเสี่ยงก่อน จากนั้นจะเป็นการให้วัคซีนในระยะต่อไปสำหรับกลุ่มผู้ป่วย 7 กลุ่มโรค และผู้สูงอายุที่ได้ลงทะเบียนผ่านช่องทางต่างๆ อาทิ "หมอพร้อม" หรือลงทะเบียนผ่านโรงพยาบาล แล้วจึงจะให้บริการสำหรับประชาชนทั่วไป
นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครยังได้พิจารณาให้วัคซีนเร่งด่วนเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดในพื้นที่ที่พบคลัสเตอร์การระบาดหลายชุมชน อาทิ ชุมชนคลองเตยและบ่อนไก่ ซึ่งเป็นมาตรการเชิงรุกตามแผนที่กรุงเทพมหานครแจ้งกับกระทรวงสาธารณสุขไปก่อนหน้า อย่างไรก็ตามหากได้รับการการจัดสรรวัคซีนจากกระทรวงสาธารณสุขเพิ่มเติมกรุงเทพมหานครจะเร่งฉีดให้แก่ประชาชนในกลุ่มที่มีความต้องการต่อไป
- จุดบริการวัคซีนนอก รพ.ยังไม่เปิดรับประชาชนทั่วไป Walk in
ในส่วนของการฉีดวัคซีนนอก รพ.ระหว่างวันที่ 12-14 พ.ค. เป็นระยะทดลองระบบที่ กทม. ร่วมกับ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ให้บริการวัคซีนกลุ่มเป้าหมายที่ทาง กทม. มีรายชื่อแล้วตามที่ได้รับจากองค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย บุคลากรทางการแพทย์ที่ยังตกค้างบางส่วน ครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อเตรียมพร้อมก่อนเปิดภาคเรียน เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานด่านหน้า เช่น อาสาสมัครสาธารณสุข เจ้าหน้าที่สอบสวนโรค ทีมที่ต้องเข้าไปดูแลประชาชนในชุมชน พนักงานเก็บขนขยะ และประชาชนกลุ่มอาชีพเสี่ยง
ในเบื้องต้นจะเน้นไปที่บุคคลที่ต้องทำงานบริการประชาชนและมีความเสี่ยงสูง เช่น พนักงานขับรถโดยสารสาธารณะ รถประจำทาง แท็กซี่ วินมอเตอร์ไซต์ รวมถึงคนขับเรือโดยสาร ผู้มีอาชีพผู้ดูแลผู้สูงอายุ และเจ้าหน้าที่ศูนย์รับเลี้ยงเด็กเล็ก เป็นต้น โดยทั้งหมด กทม.ประสานนำรายชื่อจากองค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดูแลกลุ่มอาชีพต่าง ๆ เพื่อเข้ารับการฉีดในจุดฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาลทั้ง 14 จุดที่ดำเนินการร่วมกับหอการค้าไทย ไม่ได้เป็นการเปิดรับประชาชนทั่วไปที่ walk in เข้ามาที่จุดบริการฉีดวัคซีนฯ
ส่วนกลุ่มอาชีพเสี่ยงอื่น ๆ จะได้รับการพิจารณาให้ได้รับวัคซีนในลำดับถัดมา ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณวัคซีนที่ได้รับจัดสรร หากมีปริมาณมากจะสามารถให้บริการวัคซีนกับกลุ่มอาชีพต่าง ๆ ได้มากและรวดเร็วยิ่งขึ้น โดย กทม.จะประชาสัมพันธ์แจ้งให้ทราบเป็นระยะ ตามปริมาณวัคซีนที่ได้รับ
- 14 จุดฉีดวัคซีน กทม. + สภาหอการค้าไทย
1. เซ็นทรัล ลาดพร้าว ร่วมกับโรงพยาบาลรามาธิบดี (เปิดทดสอบระบบ วันที่ 12 พ.ค.)
2. เซ็นทรัลปิ่นเกล้า ร่วมกับโรงพยาบาลวชิรพยาบาล
3. ไอคอนสยาม ร่วมกับโรงพยาบาลศิริราช
4. True Digital Park ร่วมกับโรงพยาบาลศิริราช
5. สามย่านมิตรทาวน์ ร่วมกับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ (เปิดทดสอบระบบ 13 พ.ค.)
6. SCG บางซื่อ ร่วมกับกรมการแพทย์
7. เดอะมอลล์ บางกะปิ ร่วมกับโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี (เปิดทดสอบระบบ 14 พ.ค.)
8.เดอะมอลล์ บางแค ร่วมกับมหาวิทยาลัยสยาม โดยคณะแพทยศาสตร์และคณะพยาบาลศาสตร์
9. ธัญญาพาร์ค ร่วมกับโรงพยาบาลเครือบางปะกอก
10. เอเชียทีค ร่วมกับโรงพยาบาลเครือบางปะกอก
11. โรบินสัน ลาดกระบัง ร่วมกับโรงพยาบาลเครือบางปะกอก
12. โลตัส มีนบุรี ร่วมกับโรงพยาบาลเครือบางปะกอก
13. บิ๊กซี บางบอน ร่วมกับโรงพยาบาลเครือบางปะกอก
14. PTT Station พระราม 2 ร่วมกับโรงพยาบาลเครือบางปะกอก
นอกจากนี้ สภาหอการค้าไทย ได้เสนอสถานที่ฉีดวัคซีนเพิ่มเติมอีก 11 แห่ง โดยคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ ในวันที่ 23 พ.ค. 64 เพื่อให้ประชาชนได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึงโดยเร็วที่สุด รวมสถานที่ให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 นอกโรงพยาบาลในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 25 แห่ง โดยมีศักยภาพการให้บริการฉีดวัคซีนอยู่ที่ 1,000-3,000 คน/วัน และสามารถให้บริการได้ 38,000-50,000 คน/วัน เบื้องต้นทุกแห่งจะเปิดให้บริการต่อเนื่อง 7 เดือน
- ลงทะเบียนรับวัคซีนได้ที่ไหน
นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กทม. กล่าวว่า สำหรับศักยภาพการรองรับผู้ป่วยในขณะนี้ กรุงเทพมหานครยังเดินหน้าบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วนในการควบคุมโรคและยังคงมาตรการต่างๆ อย่างเข้มข้นเพื่อเร่งคลี่คลายปัญหา โดยสถานการณ์การรองรับผู้ป่วยสีเขียวหรือผู้ป่วยที่ไม่มีอาการเป็นไปด้วยดี ในส่วนของผู้ป่วยสีเหลืองและแดงได้ขยายขีดความสามารถโรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานครเพื่อรองรับผู้ป่วยอย่างเต็มที่ รวมทั้งขณะนี้สำนักการแพทย์ได้รับเต้นท์ความดันลบมาเพิ่มเติม จึงสามารถรับผู้ป่วยสีแดงได้อีกจำนวนหนึ่ง โดยจะปรับแผนเป็นระยะเพื่อรองรับสถานการณ์ในขณะนี้
ในส่วนของประชาชนประชาชนที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป และผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค ที่ประสงค์รับบริการวัคซีน ตั้งแต่ 7 มิ.ย. 64 เป็นต้นไป ให้ลงทะเบียนผ่าน Line OA “หมอพร้อม” หากไม่สามารถลงทะเบียนได้ สามารถลงทะเบียนได้ที่ศูนย์ BFC ณ โรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์ทั้ง 11 แห่ง หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนสำนักการแพทย์ 1646
- ขยายตรวจเชิงรุก ผู้ประกันตน - แรงงานนอกระบบ ฟรี
นางป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. กล่าวว่า สำนักอนามัย ได้มีการวางแผนเพื่อควบคุมโรคเชิงรุกโดยปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์รายวันและรายสัปดาห์ โดยกรุงเทพมหานคร บูรณาการการทำงานร่วมกับกระทรวงแรงงาน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ขยายเวลาตรวจโควิด-19 เชิงรุก แก่ผู้ประกันตน แรงงานนอกระบบ และกลุ่มพนักงานส่งอาหาร Delivery โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ที่อาคารกีฬาเวสน์ 1 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย – ญี่ปุ่น) เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 31 พ.ค.64
โดยให้บริการตั้งแต่เวลา 08.00 – 16.00 น. ซึ่งในแต่ละวันตรวจได้ไม่เกิน 3,000 คน รอบเช้า 1,500 คน และรอบบ่าย 1,500 คน เมื่อพบผู้ติดเชื้อกระทรวงแรงงานจะส่งต่อเข้าสู่ระบบการรักษา นอกจากนี้กรุงเทพมหานครจะร่วมกับกองทัพไทยในการให้บริการตรวจโควิด-19 เชิงรุกกระจายไปตาม 6 กลุ่มโซน ซึ่งประชาชนกลุ่มเสี่ยงสูงจะสามารถไปใช้บริการได้
- ส่งมอบ 1 ล้านโดส ให้ กทม.
ในส่วนของวัคซีน ขณะนี้ กรุงเทพมหานครได้ขอจัดสรรจากรัฐบาล จำนวน 500,000 โด้ส โดยรัฐบาลจะส่งมอบให้กรุงเทพมหานครจำนวน 1 ล้านโด้ส หลังจากวันที่ 17 พ.ค.นี้ เพื่อเร่งฉีดให้บุคลากรด่านหน้าและผู้ที่มาช่วยในหน่วยบริการ สำหรับการฉีดวัคซีนให้แก่ชาวต่างชาติที่พำนักในประเทศไทยนั้น สำนักอนามัยยังยึดถือแนวทางการให้วัคซีนของรัฐบาลที่กำหนดให้วัคซีนแก่ทุกคนที่อยู่ในประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการฉีดวัคซีนให้แก่แรงงานต่างชาติที่ทำงานในจังหวัดสมุทรสาครมาแล้ว ในส่วนของกรุงเทพมหานครเมื่อเปิดให้ประชาชนได้ลงทะเบียนรับวัคซีนแล้วจึงจะเปิดให้แก่กลุ่มชาวต่างชาติต่อไป
- คลองเตย ชุมชนต้นแบบ Community Isolation
นอกจากนี้ ในด้านการควบคุมโรคสำนักอนามัยยังเร่งการควบคุมโรคให้อยู่ในช่วงระยะเวลาที่กำหนด คือ ควบคุมการระบาดในแต่ละคลัสเตอร์ให้ได้ภายใน 28 วัน ซึ่งการควบคุมที่ดีคือการตรวจเชิงรุกควบคู่ไปกับการฉีดวัคซีนป้องกันการแพร่ระบาดและการนำผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการรักษาที่รวดเร็ว จึงจะทำให้เกิดการควบคุมโรคที่ดี มีประสิทธิภาพ
สำหรับการแพร่ระบาดในขณะนี้ พบว่า มีหลายคลัสเตอร์ที่อยู่ในชุมชน และชุมชนบางแห่งสามารถบริหารจัดการดูแลกันเองได้เป็นอย่างดี อาทิ ชุมชนริมคลองวัดสะพาน เขตคลองเตย ที่ได้แยกประชาชนที่ติดเชื้อออกจากครอบครัวมาดูแลพักคอยก่อนนำส่งสถานพยาบาล อันเป็นการลดการแพร่ระบาดให้แก่คนในครอบครัวและชุมชน ซึ่งถือเป็นชุมชนต้นแบบ Community Isolation ซึ่งชุมชนอื่นสามารถนำแนวทางนี้ไปปรับใช้หรือจัดเตรียมสถานที่รองรับไว้หากพบการระบาดในพื้นที่ต่อไป