'ดับบลิวทีโอ' ชี้นโยบายการค้าเวียดนามทำเศรษฐกิจขยายตัวแข็งแกร่ง
"เวทีดับบลิวทีโอ"ถกนโยบายการค้าเวียดนาม ชี้ นโยบายการค้า การทำเอฟทีเอหลายประเทศสร้างแต้มต่อทางเศรษฐกิจ ด้านไทยขออย่ากีดกันเรื่องยานยนต์และยา
นางพิมพ์ชนก พิตต์ฟีลด์ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลกและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก เปิดเผยว่า ได้เข้าร่วมและกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมเพื่อทบทวนนโยบายการค้า(Trade Policy Review)ของเวียดนามครั้งที่ 2 ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา พัฒนาการของเศรษฐกิจเวียดนามเป็นที่จับตาจากทั่วโลกเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเวียดนามมีอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจที่สูงอย่างต่อเนื่อง โดยเศรษฐกิจเวียดนามขยายตัวเฉลี่ยที่ 6.6 % ระหว่าง 2557– 2561และในปี2562สามารถขยายตัวถึง 7 % และถึงแม้จะประสบกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เศรษฐกิจเวียดนามกลับขยายตัวได้ถึง2.9 % ในปี2563ทำให้รายได้เฉลี่ยต่อหัวของเวียดนามเพิ่มสูงกว่า 2,700 ดอลลาร์ เทียบกับไทยที่ 8,000 ดอลลาร์ และสามารถลดสัดส่วนความยากจนได้จาก 70% ในช่วงต้นทศวรรษที่ 90 ลงมาเพียง 6% ในปี 2562 โดยเวียดนามตั้งเป้าจะกลายเป็นประเทศรายได้สูงที่พัฒนาแล้วภายในปี 2585
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เวียดนามประสบความสำเร็จอยู่ที่นโยบายส่งเสริมการส่งออกและสร้างความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลก สะท้อนจากสัดส่วนการค้าต่อจีดีพีสูงถึง 210% ในปี 2562 เพิ่มจาก 165.1% ในปี 2556 ทำให้เวียดนามกลายเป็นหนึ่งใน20ประเทศสมาชิกที่มีมูลค่าการค้ามากที่สุดในโลก ในปี 2563 โดยคู่ค้าหลักของเวียดนาม ได้แก่ จีน สหรัฐอเมริกา และเกาหลีใต้ โดยไทยเป็นคู่ค้าอันดับที่ 7 ของเวียดนาม และเวียดนามเป็นคู่ค้าอันดับที่ 6 ของไทย นอกจากนี้ เวียดนามยังมุ่งเน้นการทำความตกลงการค้าระดับภูมิภาคและการหารือระดับทวิภาคี ซึ่งปัจจุบันนี้มีถึง 15 ฉบับ รวมถึงการมีเอฟทีเอกับสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร สหภาพเศษฐกิจยูเรเซีย และซีพีทีพีพีและกำลังเจรจาเอฟทีเอกับสมาคมการค้าเสรียุโรป(EFTA)และอิสราเอล ซึ่งส่งผลให้เวียดนามต้องปฏิรูปกฎระเบียบหลายประการ เพื่อเพิ่มมาตรฐานและส่งเสริมสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ ให้สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ
“การที่เวียดนามมีเอฟทีเอจำนวนมากกับหลายประเทศเป็นแต้มต่อในการส่งออกผ่านอัตราภาษีของคู่ค้าที่ต่ำกว่าดับบลิวทีโอ ทำให้หลายประเทศสนใจเข้ามาลงทุนในเวียดนามอย่างมากและการผ่อนคลายกฎระเบียบการค้าการลงทุนหลาย ๆ ด้านโดยเฉพาะในภาคบริการ เช่น โทรคมนาคม สื่อต่าง ๆ โดยยังไม่ได้เปิดให้ต่างชาติถือหุ้น 100%แต่ก็ให้ถือหุ้นข้างมากได้ในบางกิจกรรมย่อย หรือการให้คนต่างชาติเข้ามาให้ทำงานเฉพาะด้านมากขึ้น”
ทั้งนี้ แม้เวียดนามจะได้รับคำชื่นชมมากแต่ก็มีบางเรื่องที่ประเทศสมาชิกดับบลิวทีโอเห็นว่า เวียดนามควรจะระมัดระวัง เช่นบทบาทของรัฐวิสาหกิจหลายแห่งในเวียดนามซึ่งยังมีเป็นจำนวนมาก และเป็นผู้เล่นสำคัญในหลายสาขาอันทำให้ไม่มีการแข่งขันเพียงพอซึ่งอาจเป็นอุปสรรคการพัฒนาประเทศในช่วงต่อไปได้ และการที่เวียดนามใช้มาตรการที่ไม่ใช่ภาษี(NTBs)มากขึ้นในระยะหลัง ๆโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ซึ่งเวียดนามกำลังเริ่มวางรากอย่างรวดเร็ว ทั้งรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปและรถไฟฟ้า เพื่อเป็นอุตสาหกรรมใหม่มาแทนที่โทรศัพท์มือถือซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนของบริษัทต่างชาติ
ขณะที่ไทยมีความกังวลกับมาตรการโดยเฉพาะเรื่องการขออนุญาตวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาและส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ยา และข้อกำหนดเรื่องการรับรองมาตรฐานยานยนต์และการตรวจสอบรถยนต์ที่มีการขอเอกสารเพิ่มเติมเกินความจำเป็นจากที่กำหนดในมาตรฐานระหว่างประเทศโดยเวียดนามชี้แจงว่ามาตรการข้างต้นเกี่ยวกับยา เป็นไปเพื่อสร้างความมั่นใจในคุณภาพของผลิตภัณฑ์ยาที่ถูกนำเข้า แต่เวียดนามได้เร่งรัดกระบวนการตรวจสอบคำขออนุญาตวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาและส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ยาจากภาคเอกชนให้ได้เร็วที่สุด
สำหรับเรื่องมาตรฐานยานยนต์ เวียดนามชี้แจงว่าการใช้ข้อกำหนดนี้เป็นไปตามการปฏิบัติทั่วไประหว่างประเทศ และเวียดนามจะยึดมั่นตามข้อผูกพันในข้อตกลงยอมรับร่วมผลการตรวจสอบและรับรองผลิตภัณฑ์ยานยนต์ของอาเซียน (APMRA) ทันทีที่มีผลบังคับใช้ต่อไป