หุ้น "ครอบครัว ปตท." ประคองตัวฝ่าวิกฤตโควิด
เข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายของการประกาศงบฯ ประจำไตรมาส 1 ของปี 2564 จะเห็นว่าหลายๆ กลุ่มธุรกิจ เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวกันบ้างแล้ว หลายบริษัทผลประกอบการออกมาดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์กันไว้ด้วยซ้ำ ท่ามกลางการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจ
“กลุ่มพลังงาน” เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่โชว์ฟอร์มแจ่ม! นำทีมโดยครอบครัว ปตท. ที่สมาชิกทุกตัวทำผลงานได้ดีมาก หลายบริษัทที่เคยขาดทุนในปีก่อน พลิกกลับมามีกำไรได้อย่างสวยงาม แถมดูจะดีกว่าที่บรรดากูรูประเมินไว้ด้วยซ้ำ กลายเป็นแรงส่งช่วยดันราคาหุ้นขึ้นมาอย่างคึกคัก
เริ่มต้นด้วยพี่ใหญ่ประจำตระกูลกับหุ้นพลังงานต้นน้ำ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP ทวงฟอร์มเทพ! กลับมาได้อีกครั้ง กำไรทะลุ 10,000 ล้านบาท มาอยู่ที่ 11,533.68 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 33.91% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่กลับเข้าสู่ช่วงขาขึ้นอีกครั้ง หลังปีก่อนถูกพิษโควิด-19 เล่นงานจนทรุดหนัก โดยราคาน้ำมันดิบดูไบซื้อขายเฉลี่ยอยู่ที่ 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดโรคระบาด เพิ่มขึ้นจากราคาเฉลี่ยช่วงไตรมาส 4 ปี 2563 ที่ระดับ 44 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันได้แรงหนุนจากความคืบหน้าในการฉีดวัคซีน ขณะที่หลายประเทศเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หนุนความต้องการใช้น้ำมันทยอยฟื้นตัวตั้งแต่ปลายปีก่อน ด้านกลุ่มโอเปกและชาติพันธมิตรยังคงปรับลดกำลังการผลิตตามข้อตกลงที่ได้ทำร่วมกันไว้ เพื่อรักษาความสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทาน
นอกจากนี้ ราคาน้ำมันยังได้รับปัจจัยหนุนจากสภาพอากาศที่หวานเย็นในสหรัฐส่งผลกระทบต่อการผลิต รวมทั้งเหตุการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกระหว่างกลุ่มกบฏฮูตีในเยเมนและซาอุดีอาระเบียที่โจมตีตอบโต้กันไปมา โดย PTTEP เป็นหุ้นต้นน้ำที่อิงกับราคาน้ำมันมากที่สุด ดังนั้นเมื่อราคาน้ำมันเร่งตัวขึ้นจึงได้รับประโยชน์สูงสุด
ส่วนตัวอื่นๆ ในกลุ่มโชว์ผลงานได้ดีไม่แพ้กัน บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC ราคาขายทุกผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมัน ปริมาณการขายขยายตัวตามภาวะเศรษฐกิจ โดยมีรายได้จากการขายรวม 101,864 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ที่สำคัญคือกลับมามีกำไรจากสต๊อกน้ำมันราว 2.3 พันล้านบาท จากปีก่อนขาดทุนจากสต๊อกน้ำมันถึง 8.9 พันล้านบาท ส่งผลให้ผลประกอบการบรรทัดสุดท้ายพลิกกลับมามีกำไรสุทธิ9,694.86 ล้านบาท เทียบกับช่วงไตรมาส 1 ปี 2563 ที่ขาดทุนสุทธิถึง 8,784.11 ล้านบาท
บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC สามารถพลิกกลับมามีกำไรได้เช่นกัน 5,581.20 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนขาดทุนสุทธิ 8,904.89 ล้านบาท หลังรายได้จากการขายเพิ่มขึ้น 4,771 ล้านบาท ตามราคาขายผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น 15%
ขณะที่ส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ (สเปรด) ก็เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงปีก่อนที่ได้รับผลกระทบจากสงครามราคาน้ำมัน และการแพร่ระบาดของโควิดรอบแรก ส่งผลให้กลับมามีกำไรจากสต๊อกน้ำมัน 5,002 ล้านบาท จากงวดเดียวกันของปีก่อนขาดทุนสต๊อกน้ำมันถึง 6,811 ล้านบาท
ส่วนหุ้นโรงกลั่น บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP แน่นอนว่าน้ำมันเป็นต้นทุนหลัก เมื่อราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น จึงกระทบรายได้ธุรกิจโรงกลั่น แต่ยังโชคดีที่ได้กลุ่มอะโรเมติกส์และน้ำมันหล่อลื่นเข้ามาช่วยชดเชย โดยไตรมาสนี้มีกำไรจากสต๊อกน้ำมัน 4,656 ล้านบาท ส่งผลให้พลิกกลับมามีกำไรสุทธิ 3,360 ล้านบาท จากงวดปีก่อนขาดทุน 13,754.49 ล้านบาท
บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC รับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำไซยะบุรีเพิ่มขึ้น ชดเชยการหยุดซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้าเก็คโค่วันและโกลว์ไอพีพี ดันกำไรสุทธิเพิ่มเป็น 1,973.47 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24.91% จากงวดปีก่อน
ด้านน้องเล็กของกลุ่มที่พึ่งจะเข้าตลาด บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ไม่ทำให้ผิดหวัง ธุรกิจปั๊มน้ำมันรายได้ยังเติบโตต่อเนื่องตามราคาน้ำมัน ช่วยชดเชยรายได้กลุ่มนอนออยล์ที่ถูกกระทบ โดยกำไรสุทธิโตแรง 110.87% มาอยู่ที่ 4,003.19 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 1,898.34 ล้านบาท
เมื่องบฯ ออกมาดี ราคาหุ้นก็ตอบรับกันถ้วนหน้า จับมือขึ้นมาคึกคัก แต่ที่แปลกคือหุ้นแม่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT กลับยังไม่ไปไหน ดูจะ Outperform ลูกๆ ทั้งๆ ที่งบฯ โค้งแรกสวยแน่นอน แต่ถ้าเจาะดูลึกแล้วๆ ธุรกิจก๊าซอาจไม่โดดเด่นเท่ากับธุรกิจน้ำมันและปิโตรเคมี จึงไม่แปลกที่บรรดากูรูจะเชียร์ซื้อหุ้นลูกมากกว่า โดยมองว่าผลประกอบการงวดไตรมาส 2 ของครอบครัวปตท. ไม่น่าขี้เหร่ แม้จะเกิดการระบาดระลอกใหม่ แต่ยังพอประคองตัวได้ดีกว่าหลายกลุ่ม จากราคาน้ำมันที่ทรงตัวในระดับสูง