ผบ.ทร. เปิดตัว 'เรือแตงโม' ข้ามฟาก อายุ 50 ปี รับ-ส่ง ผู้โดยสาร ในแม่น้ำเจ้าพระยา
ผบ.ทร. เปิดตัวเรือข้ามฟากอายุ 50 ปี ที่ปรับปรุงเป็นระบบขับเคลื่อนพลังงานไฟฟ้า พร้อมออกทดลองแล่นรับ-ส่งผู้โดยสาร ในแม่น้ำเจ้าพระยา
14 พ.ค. 2564 เวลา 09.00 น. พลเรือเอก ชาติชาย ศรีวรขาน ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธีเปิดตัวเรือแตงโมพลังงานไฟฟ้า (ขส.ทร. 1110 ) ซึ่งเป็นเรือข้ามฟาก ในแม่น้ำเจ้าพระยาของกองทัพเรือ ที่มีอายุการใช้งานมานานถึง 50 ปี ณ ท่าเรือราชนาวิกสภา เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร โดยมี พลเรือโท ประชาชาติ ศิริสวัสดิ์ รองเสนาธิการทหารเรือสายงานกิจการพลเรือน และ พลเรือตรี สาธิต นาคสังข์ เจ้ากรมการขนส่งทหารเรือ ให้การต้อนรับ และเรียนเชิญผู้บัญชาการทหารเรือชมนิทรรศการการดำเนินโครงการ พร้อมทำพิธีเปิดตัวเรือแตงโมไฟฟ้า
จากนั้น ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้ลงเรือแตงโมไฟฟ้า เพื่อทดลองนั่งไปยัง ป้อมวิไชยประสิทธิ์ และกลับมาที่อาคารราชนาวิกสภา ก่อนเดินทางกลับกองทัพเรือ ได้อนุมัติแต่งตั้งคณะทำงานพลังทดแทนร่วม ระหว่าง กองทัพเรือ และ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) เพื่อดำเนินการด้านความร่วมมือกับภาคเอกชนในการนำพลังงานทดแทนมาใช้ในกองทัพเรือ ในการวิจัยและพัฒนาเพื่อพึ่งพาตนเองตามแนวทางการพัฒนากองทัพเรือที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์กองทัพเรือ 20 ปี (พ.ศ.2560 – พ.ศ.2579) ในเรื่องการส่งเสริมการสร้างเครือข่ายความร่วมมือการวิจัยและพัฒนายุทโธปกรณ์กับองค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน
โดยมี พลเรือโท ประชาชาติ ศิริสวัสดิ์ รองเสนาธิการทหารเรือสายงานกิจการพลเรือน เป็นหัวหน้าคณะทำงานร่วมฝ่ายกองทัพเรือ นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) เป็นหัวหน้าคณะทำงานร่วมฝ่าย บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) และ พลเรือโท สมัย ใจอินทร์ รองผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ เป็น รองหัวหน้าคณะทำงาน
ทั้งนี้ คณะทำงานดังกล่าว ได้จัดให้มีโครงการ ติดตั้งระบบขับเคลื่อนไฟฟ้าสำหรับรถโดยสาร เรือเวรข้ามฟาก (เรือแตงโม) เพื่อวิจัยและพัฒนาการใช้พลังงานไฟฟ้าในเรือเวรข้ามฟาก (เรือแตงโม) ในสังกัด กรมการขนส่งทหารเรือ ที่มีอายุการใช้งานมานาน 50 ปี ที่ไม่สามารถใช้งานได้ มาดัดแปลงจากระบบเครื่องยนต์สันดาปภายในที่ใช้น้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิง มาปรับปรุงเป็นระบบขับเคลื่อนพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า เพื่อลดฝุ่น PM 2.5 และมลภาวะในอากาศ
สำหรับ เรือข้ามฟากดังกล่าว มีชื่อเรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า "เรือแตงโม" ด้วยรูปทรงของเรือ ที่มีลักษณะคล้ายลูกแตงโมผ่าซีก แต่ด้วยรูปลักษณ์ของท้องเรือ ทำให้เรือแม้จะเอียงมากเพียงใดแต่ก็ยังสามารถทรงตัวอยู่ได้ โดย ปัจจุบันเรือแตงโม สังกัด แผนกเรือบริการ กองเรือเล็ก กรมการขนส่งทหารเรือ เริ่มมีใช้ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2495 เป็นต้นมา
โดยใช้บริการ รับ - ส่ง กำลังพลกองทัพเรือ และบุคคลทั่วไป ข้ามฟากในแม่น้ำเจ้าพระยา ในเวลาราชการ ระหว่างฝั่งธนบุรีกับฝั่งพระนคร ระหว่างท่านิเวศน์วรดิฐ กับ ท่าราชนาวิกสภา และ ท่าพระราชวังเดิม กับ ท่าราชนาวีสโมสร ปัจจุบันมี เรือให้บริการจำนวนทั้งสิ้น 11 ลำ โดยใช้ชื่อเรือว่า ขส.ทร.1101 - 1111 และเรือแต่ละลำจะมีนามแฝงโดยตั้งจากชื่อคลองสำคัญๆ เช่น บางกอกน้อย บางหลวง ชักพระ ผดุงกรุงเกษม ตลิ่งชัน โอ่งอ่าง เป็นต้น
พลเรือโท ประชาชาติ ศิริสวัสดิ์ กล่าวว่า โครงการดังกล่าว เป็นการปรับปรุงเรือข้ามฟากในแม่น้ำเจ้าพระยา หรือ “เรือแตงโม” จากการใช้ เครื่องยนต์ ซึ่งใช้พลังงานจากน้ำมันเชื้อเพลิง เปลี่ยนมาเป็นมอเตอร์ไฟฟ้าที่ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ ซึ่งมีเสียงเบากว่า และลดมลพิษในอากาศได้ โดยโครงการนี้ กองทัพเรือ ได้รับความร่วมมือจาก นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) เจ้าของฉายา “Tesla เมืองไทย” บริจาค มอเตอร์ไฟฟ้า แบตเตอร์รี่ และอุปกรณ์ประกอบ ให้เพื่อใช้ในโครงการนี้ โดยเรือข้ามฟากที่ทำใหม่นี้ จะวิ่งได้ประมาณ 5 ชั่วโมงต่อการชาร์จ 1 ครั้ง ที่ความเร็ว 5 น็อต และความเร็วสูงสุด 8 น็อต
และที่สำคัญคืออาจเป็นจุดกำเนิด เรือไฟฟ้าอื่น ๆ ของกองทัพเรือ และนอกจากโครงการดังกล่าวแล้ว ทางบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ยังได้ให้การสนับสนุนกองทัพเรือ และ คณะทำงานพลังทดแทนร่วมฯ ในอีกหลายโครงการรวมถึง การใช้เครื่องกำจัดเชื้อโรคในสถานที่ปฏิบัติงานและบนเรือรบของกองทัพเรือ
โดยทำระบบปรับอากาศรวมของอาคารและเรือรบให้ปลอดภัย จากเชื้อ COVID – 19 ด้วยแสง UVC โดยปัจจุบันได้ดำเนินติดตั้งแล้วในหลายพื้นที่ ประกอบด้วย โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ และ โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า กรมแพทย์ทหารเรือ เรือหลวงจักรีนฤเบศร เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช เรือหลวงมกุฎราชกุมาร เรือหลวงนเรศวร เรือหลวงตากสิน เรือหลวงกระบุรี เรือหลวงบางปะกง และอยู่ระหว่างการติดตั้งอีก 2 ลำ คือ เรือหลวงอ่างทอง และ เรือหลวงสิมิลัน "