‘AAV’ ขาดทุน 1,865 ล้านบาท Q1/64 ชี้แผนปรับโครงสร้างกิจการจะมีเงินทุน 6,825 ล้านบาท!
“AAV” ผู้ถือหุ้นใหญ่สายการบิน “ไทยแอร์เอเชีย” เผยไตรมาส 1/2564 มีรายได้รวม 1,351 ล้านบาท ขาดทุน 1,865 ล้านบาท ชี้ “แผนปรับโครงสร้างกิจการ” จะมีเงินทุน 6,825 ล้านบาท เป็นทุนเพิ่มสภาพคล่อง 3 ปี ประคองธุรกิจผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19
บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด หรือ TAA เปิดเผยผลประกอบการไตรมาสที่ 1 ปี 2564 มีรายได้รวม 1,351 ล้านบาท คิดเป็นขาดทุน 1,865 ล้านบาท ด้านการดำเนินงาน TAA มีอัตราขนส่งผู้โดยสารรวมอยู่ที่ 66% ขนส่งผู้โดยสาร 0.98 ล้านคน ลดลง 78% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากความต้องการเดินทางท่องเที่ยวที่ลดลงเเละแผนการปรับเที่ยวบินให้สอดคล้องกับสถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่ อย่างไรก็ตามยังได้รับสัญญาณที่ดีจาก “แผนปรับโครงสร้างกิจการ” ที่จะมีเงินทุน 6,825 ล้านบาท เป็นทุนเพิ่มสภาพคล่อง 3 ปี ประคองธุรกิจผ่านพ้นสถานการณ์โควิด-19
นายสันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เอเชีย เอวิเอชั่น และ บจ.ไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่า ไตรมาส 1 ปี 2564 เราได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ระลอกใหม่อีกครั้ง ซึ่งหากรวมระยะเวลาตั้งเเต่ปลายไตรมาส 1 ปีที่เเล้ว ถือว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเเละธุรกิจการบินได้รับผลกระทบมา 1 ปีเต็มเเล้ว เเละเราพยายามปรับตัวทุกวิถีทาง ทั้งการบริหารจัดการต้นทุน การร่วมใจของผู้บริหารเเละพนักงานสมัครใจลาโดยไม่รับค่าตอบเเทนทั้งระยะสั้นเเละระยะยาว การปรับลดเที่ยวบินเเละสร้างโอกาสธุรกิจใหม่ๆ อย่างดีที่สุด
จากผลกระทบดังกล่าว ทำให้ไตรมาส 1 ปี 2564 นี้ AAV มีรายได้รวมอยู่ที่ 1,351 ล้านบาท ขาดทุน 1,865 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่ขาดทุน 671 ล้านบาท โดยผลกระทบมาจากสถานการณ์โควิด-19 ทั้งไตรมาส 1 ในปีนี้ เเตกต่างจากไตรมาส 1 ปีก่อน ที่ได้รับผลกระทบเพียงช่วงปลายไตรมาส
ทั้งนี้ TAA มีอัตราขนส่งผู้โดยสารเฉลี่ยรวมทั้งไตรมาสอยู่ที่ 66% และมีสัญญาณฟื้นตัวในเดือนมีนาคม 2564 ซึ่งอัตราขนส่งเพิ่มมาอยู่ที่ 70% จากแผนเริ่มฉีดวัคซีน มาตรการกระตุ้นท่องเที่ยวปลอดภัย เเละการบริหารจัดการปริมาณเที่ยวบิน โดยในไตรมาสนี้ TAA ให้บริการเที่ยวบินภายในประเทศอยู่ 42% จากจำนวนเที่ยวบินทั้งหมด ส่วนเส้นทางบินระหว่างประเทศยังงดให้บริการชั่วคราว พร้อมดำเนินตามเเผนลดจำนวนเครื่องบิน 1 ลำ เหลือเครื่องบิน 61 ลำ ณ สิ้นไตรมาส
“เราจำเป็นต้องเข้าถึงเเหล่งเงินทุน เพื่อรอดจากสถานการณ์โควิด-19 และเติบโตได้อย่างยั่งยืน ซึ่งน่ายินดีที่ต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เราทำแผนปรับโครงสร้างกิจการสำเร็จ และอยู่ในขั้นตอนการดำเนินงาน จากแผนนี้จะทำให้ TAA มีเงินทุนรวม 6,825 ล้านบาท มาเพิ่มสภาพคล่องประคองธุรกิจได้อย่างน้อย 3 ปี ซึ่งแหล่งทุนจะมาจากนักลงทุนรายใหม่ เเละการนำ TAA เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เเทน AAV ผ่านการคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของผู้มีส่วนได้เสียทุกราย” นายสันติสุขกล่าว
ทั้งนี้เรายังได้รับสัญญาณที่ดีจากปัจจัยสนับสนุนต่างๆ อาทิ การที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบอนุมัติขยายการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิง ต่อไปอีกจนถึง 31 ธันวาคม 2564 เพื่อบรรเทาผลกระทบของผู้ประกอบการธุรกิจสายการบิน แผนการกระจายวัคซีนทั้งภายในประเทศเเละต่างประเทศ ซึ่งมีความคืบหน้าตามลำดับ แผนการใช้ IATA Travel Pass เป็นพาสปอร์ตวีซ่าสำหรับนักท่องเที่ยวที่มีผลตรวจโควิด-19 และได้รับการฉีดวัคซีนเเล้ว รวมทั้งโมเดล “ภูเก็ต เเซนด์บ็อกซ์” ที่จะเป็นการเริ่มเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนเดินทางเข้ามาในประเทศไทย
“จากแผนที่กล่าวมาเเละปัจจัยสนับสนุนต่างๆ เราเชื่อว่าเมื่อโอกาสมาถึงไทยแอร์เอเชียจะเป็นสายการบินที่พร้อมที่สุดในการเเข่งขัน และรักษาการเป็นผู้นำตลาดได้อย่างเเน่นอน” นายสันติสุขกล่าว
อย่างไรก็ตาม TAA ยังตั้งเป้าพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีมาปรับใช้กับบริการอย่างต่อเนื่อง เพื่อความตรงต่อเวลา ความปลอดภัยและสุขอนามัยสำหรับทุกคน พร้อมก้าวสู่วงการดิจิทัลเต็มรูปแบบ ปรับตัวให้เป็นมากกว่าสายการบิน นำเสนอบริการที่หลากหลายผ่าน airasia.com แพลตฟอร์มที่ตอบสนองทุกไลฟ์สไตล์ เช่น บริการ SNAP จองตั๋วเครื่องบินพร้อมที่พักในราคาสุดคุ้ม รวมถึงกิจกรรมที่น่าสนใจอื่นๆ นอกจากนี้ยังใช้ประโยชน์จากเครือข่ายการบินที่ครอบคลุมทั่วทั้งภูมิภาค เปิดตัวบริการ เทเลพอร์ต เพื่อขนส่งสินค้าคาร์โกทางอากาศ และสินค้าภาคพื้นถึงมือลูกค้า ตอบรับการขยายตัวของธุรกิจโลจิสติกส์ที่เติบโตในปัจจุบัน