'สปสช.' เตรียมเงิน 100 ล้านบาท 'เยียวยา' อาการ 'แพ้วัคซีนโควิด' แล้ว
"สปสช." ออกประกาศเพิ่มค่าใช้จ่าย "เยียวยาอาการไม่พึงประสงค์" หลัง "ฉีดวัคซีนโควิด-19" แล้ว เตรียมเงินไว้ 100 ล้านบาทเพื่อ "เยียวยา" ผู้ได้รับผลกระทบ
"สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ" หรือ "สปสช." ออกประกาศเพิ่มค่าใช้จ่ายเยียวยาอาการไม่พึงประสงค์หลัง "ฉีดวัคซีนโควิด-19" แล้ว เตรียมเงินไว้ 100 ล้านบาทเพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ เผยขณะนี้มี สปสช.เขต 1 เชียงใหม่ และเขต 10 อุบลฯ ยื่นเรื่องขอรับการเยียวยาแล้ว 267 ราย คิดเป็นสัดส่วนจากที่ฉีดไปแล้วทั้งหมดอยู่ที่ประมาณ 0.24% และมีอาการจนต้องนอนในโรงพยาบาลเพียง 0.05% เท่านั้น
นพ.จเด็จ ธรรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. เปิดเผยว่า จากกรณีที่รัฐบาลมีนโยบายเร่งระดมฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้ได้โดยเร็วและเป็นวงกว้างมากที่สุด รวมทั้งมีนโยบายจ่ายเงินเยียวยาแก่ผู้ที่ได้รับผลไม่พึงประสงค์จากการฉีดวัคซีนเพื่อสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนนั้น
ล่าสุดคณะกรรมการ สปสช. ได้ออกประกาศหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการจ่ายค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ (ฉบับที่ 5) เรียบร้อยแล้ว โดยในกรณีการเยียวยาผลกระทบหลังฉีดวัคซีนได้เตรียมงบประมาณไว้ 100.32 ล้านบาท สำหรับจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ได้รับความเสียหายจากการฉีดวัคซีน และให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 5 เม.ย. 2564 เป็นต้นไป
นพ.จเด็จ กล่าวว่า หลังจากเริ่มระดมฉีดวัคซีนไปแล้วระยะหนึ่ง ขณะนี้มี 2 เขตที่เสนอข้อมูลการขอรับเงินช่วยเหลือกรณีอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีน คือ สปสช.เขต 1 เชียงใหม่ จำนวน 218 ราย และ สปสช.เขต 10 อุบลราชธานี อีกจำนวน 49 ราย ส่วนเขตอื่นๆขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูล
นพ.จเด็จ กล่าวว่า ในส่วนของ สปสช.เขต 1 ซึ่งมีผู้ยื่นขอเยียวยา 218 รายนั้น ตัวเลขถือว่าไม่ได้เยอะเลยเมื่อเทียบกับจำนวนที่ฉีดไปแล้วทั้งหมด 91,551 เข็ม คิดเป็น 0.24% ซึ่งถือว่าน้อยมาก และกลุ่มที่มีอาการรุนแรงก็มีแค่ 0.05% เท่านั้น และคำว่ามีอาการรุนแรงนี้ก็ไม่ใช่อาการรุนแรงน่ากลัวแบบเลือดตกยางออกหรือมีผลจนอาจเสียชีวิตแต่อย่างใด เป็นเพียงวิธีการนับของเขต 1 ว่าผู้ที่ต้องนอนพักในโรงพยาบาลก็นับเป็นกลุ่มที่มีอาการรุนแรงแล้วเท่านั้น
"จาก 218 รายนี้ กว่าครึ่งมีอาการเล็กน้อย เช่น เป็นไข้นิดๆหน่อยๆปวดเมื่อยตามตัว ส่วนที่กลุ่มที่มีอาการรุนแรงนั้นก็คือไข้สูงจนต้องนอนพักโรงพยาบาล ส่วนอาการรุนแรงที่สุดที่พบคือมีอาการชาเท่านั้น จากข้อมูลนี้สะท้อนว่าการรับวัคซีนโควิด-19 มีความปลอดภัย
เพียงแต่การที่ สปสช.กำหนดวิธีการเยียวยาด้วยนั้นก็เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนว่าหากมีอาการไม่พึงประสงค์ก็จะได้รับการดูแลด้วย ดังนั้นก็อยากจะฝากถึงประชาชนว่าให้รีบมาฉีดวัคซีนให้เร็วที่สุด ช่วยมากันเยอะๆ เมื่อมีภูมิคุ้มกันหมู่แล้วก็จะหยุดการระบาดของโรค เราจะได้กลับมาใช้ชีวิตกันตามปกติ เศรษฐกิจก็จะได้ดีขึ้น" นพ.จเด็จ กล่าว
ด้าน พญ.สุชาดา เจียมศิริ รองผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า อาการไม่พึงประสงค์รุนแรงหลังฉีดวัคซีนหรือแพ้วัคซีน จะมีเช่น หอบหืด ผื่นขึ้น หน้าบวม เป็นผื่นเฉพาะที่ หมดสติ ช็อค อาการเหล่านี้สามารถรักษาได้และไม่มีผลในระยะยาว และโอกาสที่จะเกิดการแพ้รุนแรงมีน้อยมาก
ส่วนกรณีของวัคซีนโควิดขณะนี้ฉีดเข็มแรกไป 1.46 ล้านโดสแล้ว ไม่มีใครที่มีอาการไม่พึงประสงค์รุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต ส่วนคนที่แพ้ก็อาการดีขึ้นหมดแล้ว