‘ทีทีบี’ พุ่งเป้า แบงก์ในใจลูกค้า
‘ทีทีบี’ปักธง ภายใน 3 ปี ท็อปทรีดิจิทัล แบงกิ้ง’ทีทีหวังคนไทยมีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้น พร้อมวาง Visionอีกด้านของธนาคาร คือต้องการทำให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ลูกค้า “เลือกใช้” และ“บอกต่อ”
การรวมกิจการระหว่างทีเอ็มบีและธนาคารธนชาต ถือว่าเกือบเสร็จสมบูรณ์ 100% หลังใช้เวลาร่วม 18 เดือน เพื่อเปลี่ยนสององค์กรให้เป็นหนึ่งเดียว ภายใต้ชื่อใหม่ “ทีเอ็มบีธนชาต” (ttb) หรือชื่ออย่างเป็นทางการคือ ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน)
ภารกิจหลังจากนี้ คือการเดินหน้ารีแบรนด์องค์กร รวมสาขา เอทีเอ็มให้เป็นหนึ่งเดียว ก่อนจะเข้าสู่การรวมกิจการให้เสร็จสมบูรณ์ภายในเดือน ก.ค. นี้ ตามเป้าหมาย
“ดร.เอกนิติ นิติภัณฑ์ประภาศ” ประธานกรรมการ ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ttb กล่าวว่า ตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งได้กว่า 1 ปีที่ผ่านมา ตนเห็นพัฒนาการในการรวมกิจการเป็นไปในทิศทางที่ดีอย่างต่อเนื่อง
จนนำมาสู่ผลลัพธ์ของวันนี้ ที่ทำให้ “ทีทีบี” ถูกยกให้เป็น “Deal of the Year Awards” จากการรวมกิจการระหว่างทีเอ็มบีและธนชาต ในปี 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับแนวทางที่กระทรวงการคลังวางไว้ คือต้องการเห็นสถาบันการเงินในไทยมีเสถียรภาพการเงินที่เข้มแข็ง ตอบโจทย์ประเทศ ตอบโจทย์ประชาชนให้เข้าถึงบริการทางการเงินมากขึ้น!
“ซึ่งต้องยอมรับว่าการรวมสองธนาคารให้เป็นหนึ่งเดียว เป็นสิ่งที่ยากมาก ทั้งวัฒนธรรม โครงสร้างที่แตกต่างกัน แต่เกือบ 18 เดือนที่ผ่านมา ก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ทุกอย่างเกิดขึ้นได้”
ttb เป็นธนาคารใหม่ที่ผสานจุดแข็งของสองธนาคารเข้าด้วยกัน หากดูในมุม “ทีเอ็มบี” จุดแข็ง คือ เป็นผู้นำด้านนวัตกรรมเงินฝาก และ ดิจิทัล แบงกิ้ง
ขณะที่ “ธนชาต” เก่งด้านสินเชื่อรายย่อย โดยเฉพาะสินเชื่อรถยนต์ สิ่งที่ ttbมุ่งเน้นต่อไปคือ การสร้างชีวิตทางการเงินที่ดีให้กับคนไทย (Better Financial Well-being) ผ่านบริการและผลิตภัณฑ์ที่เป็นจุดแข็งของทั้งสองธนาคาร
ซึ่งทำให้ลูกค้าเป็นผู้ได้รับประโยชน์ ขณะเดียวกัน การรวมกิจการก็ทำให้ฐานะการเงินขององค์กรแข็งแกร่งขึ้น
สะท้อนจากงบการเงินในปี 2563 ที่มีผลประกอบการดีขึ้น ทั้งในส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยและกำไรก่อนการตั้งสำรองที่ดีขึ้น อีกทั้งต้นทุนทางการเงินที่ลดลง เป็นต้น
Vision อีกด้านของธนาคาร คือต้องการทำให้ เป็นผลิตภัณฑ์ที่ลูกค้า “เลือกใช้” และ“บอกต่อ” และตั้งเป้าหมายที่จะขึ้นเป็นอันดับ 3 ของดิจิทัล แบงกิ้ง ภายใน 3 ปีข้างหน้า จากการโฟกัสความต้องการของลูกค้าแต่ละคน ตลอดทุกช่วงชีวิต
โดยเฉพาะดิจิทัลโซลูชั่นที่จะตอบโจทย์ลูกค้า ซึ่งเป้าหมายที่อยากเห็นในระยะกลางคือ ต้องทำให้ลูกค้าหันมาใช้ดิจิทัลของแบงก์มากกว่า 75% เพราะโลกเข้าสู่ดิจิทัลแล้ว
. ซึ่งต้องยอมรับว่า เป้าหมายเหล่านี้ถือเป็นสิ่งที่ท้าทายมาก และในอนาคตจำนวนสาขาของธนาคารคงลดลงเรื่อยๆ ซึ่งจะสอดรับกับพฤติกรรมของลูกค้าที่หันไปใช้ช่องทางดิจิทัลมากขึ้น แทนการเดินทางมาที่สาขา
สำหรับ Mission คือ การช่วยให้คนไทยมีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้น จากโซลูชั่นที่ตอบโจทย์ลูกค้าแต่ละคน ซึ่งธนาคารจะนำเสนอโซลูชั่นทางการเงินทั้ง 4 ด้าน ได้แก่
1. การออม ช่วยให้ลูกค้าฉลาดในการออมผ่านผลิตภัณฑ์เงินฝากดอกเบี้ยสูง และฉลาดใช้กับบัญชีที่มอบสิทธิประโยชน์แบบฟรีรอบด้าน พร้อมรับฟรีประกันอุบัติเหตุ
2. สินเชื่อ ไม่ยัดเยียดให้ลูกค้าเป็นหนี้เกินภาระที่ควรเป็น มีการปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
3. การลงทุน ที่เน้นให้ความรู้กับนักลงทุน พร้อมบริการจัดพอร์ตตามความเสี่ยงได้อย่างครบวงจร
4. การคุ้มครอง มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันที่ตอบโจทย์ ทั้งมอบความคุ้มครอง และดูแลความมั่งคั่ง ส่งต่อให้ทายาทได้อย่างสบายใจ
ในด้านสินทรัพย์ จากการรวมกิจการ ซึ่งทำให้แบงก์มีขนาดใหญ่ขึ้น มีสินทรัพย์สู่ระดับ 2 ล้านล้านบาท มีฐานะทางการเงินเข้มแข็งขึ้น ดูได้จากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ หรือ NIM ในปี 2563 ที่เพิ่มขึ้นแม้ว่าจะอยู่ในภาวะดอกเบี้ยระดับต่ำ
โดย NIM เพิ่มขึ้นมาเป็น 3% จากระดับ 2.8% ในปีก่อนหน้า เป็นผลจากการทยอยรับรู้ผลประโยชน์ด้านงบดุลจากการปรับโครงสร้างเงินฝากและสินเชื่อหลังการรวมกิจการให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น
ขณะที่อัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้ลดลงมาที่ 46% เพราะสามารถเอาต้นทุนที่ทับซ้อนออกไปได้ หนุนให้กำไรก่อนหักสำรองปี 2563 เติบโตขึ้น 90% เหล่านี้ทำให้ ฐานะทางการเงินดีขึ้น รวมไปถึงเงินกองทุนรวมต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่สูงถึง 19.6% หากเทียบกับมาตรฐาน ธปท.ที่วางไว้ที่ 11%
“เอกนิติ” กล่าวเพิ่มเติมว่า อีกประโยชน์ของการรวมกิจการ คือทำให้แบงก์มีฐานะเข้มแข็งขึ้น ในการเข้าไปช่วยลูกค้า ช่วยประเทศ ลดผลกระทบจากโควิด-19
ในปีที่ผ่านมาคือ โครงการตั้งหลัก ออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าตามนโยบายของภาครัฐ เข้าไปช่วยดูแลเป็นที่ปรึกษาลูกค้าแต่ละรายตอบโจทย์ตามความต้องการ มีลูกค้าที่เข้าโครงการตั้งแต่เจอโควิด-19 ระลอกแรกประมาณ 750,000 ราย และสามารถช่วยให้ลูกค้าผ่านพ้นวิกฤติไปได้ ซึ่ง ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 64 ที่ผ่านมา มีลูกค้าเหลือในโครงการประมาณ 14%
ต่อเนื่องมาถึงปีนี้ ttb ยังมีมาตรการต่าง ๆ ออกมาสนับสนุนนโยบายของภาครัฐ เช่น โครงการพักทรัพย์ พักหนี้ (Asset warehousing) ถือเป็นกลไกสำคัญในการช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบของกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นแผนระยะสั้นที่ธนาคารมุ่งมั่นช่วยให้คนไทยมีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้น
ขณะที่สินเชื่อหลังรวมกิจการมีคุณภาพมากขึ้น จากการที่มีสินเชื่อรายย่อยที่มีหลักประกันเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ราว 90% ของพอร์ตสินเชื่อรายย่อยรวม อีกทั้งการปรับโครงสร้างเงินฝากและสินเชื่อหลังการรวมกิจการ ก็จะเป็นโอกาสในการสร้าง รายได้ดอกเบี้ย “ขารับ” สูงขึ้น
ด้านดอกเบี้ยจ่าย ก็สามารถควบคุมต้นทุนให้ลดลงได้ นอกจากนี้ การลดค่าใช้จ่ายทับซ้อนระหว่าง 2 ธนาคารก็จะส่งผลให้ต้นทุนการดำเนินงานธนาคารลดลงสู่ระดับ 40 ต้นๆ ตามแผนระยะยาวของธนาคารได้
สุดท้าย สิ่งที่ต้องทำเพิ่มเติมในการรวมกิจการ คือการเชื่อมระบบสองธนาคารให้เป็นหนึ่งเดียว ทั้งสาขา ผลิตภัณฑ์ โดยที่ลูกค้าไม่ได้รับผลกระทบ
ปัจจุบันเรากำลังอยู่ระหว่างการทยอยเปลี่ยนสาขาที่มีกว่า 600 สาขา ให้เป็น ttb เช่นเดียวกับการรวมพนักงานเกือบ 1.6 หมื่นคน ให้เป็น One Team ซึ่งสิ่งสำคัญหลังจากนี้คือการอัพสกิลและรีสกิลพนักงานให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ในการตอบโจทย์ลูกค้ามากขึ้น
รวมถึงตอบรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นรวดเร็วมาก แต่ไม่ว่าพนักงานจะอายุมากหรือน้อยก็จะได้รับโอกาสในการเพิ่มทักษะอย่างเท่าเทียมกัน เพราะเชื่อว่าทุกคนสามารถปรับหรือเพิ่มทักษะได้หากมีความมุ่งมั่น เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก
“เรามีไซส์ที่ใหญ่ขึ้นเป็นอันดับ 6 แต่เราไม่ได้ตั้งเป้าว่าเราจะเติบโตไปเป็นอันดับ 2 หรือ 3 แต่เราจะเน้นการเติบโตแบบมีโฟกัส สิ่งที่ตั้งใจปีนี้ จนไปถึงระยะยาว คือการโฟกัส ทำในแต่ละเรื่องที่ตอบโจทย์ลูกค้าคนไทยและชื่นชอบจนต้องนำไปบอกต่อ เช่น สินเชื่อรถยนต์ที่เราเป็นอันดับต้น ๆ ของตลาด ทำอย่างไรให้พอร์ตเราโตขึ้น จากลูกค้าที่ไม่เคยใช้ผลิตภัณฑ์ของเรา มาใช้ เราต้องทำทุกอย่างให้เป็นรูปธรรม ให้เกิดขึ้นในช่วง 3 ปี ข้างหน้า"