ไขข้อสงสัย ทำไมต้อง 'ฉีดวัคซีนโควิด 19' แม้(อาจ)มีผลข้างเคียง

ไขข้อสงสัย ทำไมต้อง 'ฉีดวัคซีนโควิด 19' แม้(อาจ)มีผลข้างเคียง

ปัจจุบัน ยอดการ "ฉีดวัคซีนโควิด 19" อยู่ที่ 2.3 ล้านคน และมีการลงทะเบียนจองผ่านระบบหมอพร้อม 7.3 ล้านคน แม้ประชาชนส่วนหนึ่งยังมีความกังวลเรื่องผลข้างเคียงโดยเฉพาะทางระบบประสาท แต่หากชั่งน้ำหนักดูแล้วจะพบว่าวัคซีนมี "ประโยชน์" ที่มากกว่าผลข้างเคียง

สำหรับ "วัคซีนโควิด 19" ที่ประเทศไทยใช้ในขณะนี้ คือ ซิโนแวค และ แอสตร้าเซนเนก้า โดยล่าสุด โมเดอร์นา และ จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ได้ผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อเป็นวัคซีนทางเลือกในภาคเอกชน ซึ่งหมายความว่าเร็วๆ นี้ประเทศไทยจะมีวัคซีนโควิด 19 ถึง 4 ตัว

จำนวนผู้ป่วยโควิด 19 รายใหม่ เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 64 นับว่าทำลายสถิติมากที่สุดที่เคยเป็นมา เพราะมีมากถึง 9,635 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 111,082 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 25 ราย เสียชีวิตสะสม 614 ราย หากย้อนกลับไปดูสถิติวันนี้เมื่อปีที่ผ่านมา (17 พ.ค. 63) พบผู้ป่วยสะสม 3,028 ราย เสียชีวิตรวม 56 ราย และเมื่อขยับมาดูเมื่อ 6 เดือนที่ผ่านมา (17 พ.ย. 63) พบว่า ยังคงมีผู้ป่วยยืนยันสะสม 3,878 ราย เสียชีวิตสะสม 60 ราย

“นพ.ชลภิวัฒน์ ตรีพงษ์” นายแพทย์ชำนาญการ สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กล่าวผ่าน Facebook Live ใน รายการ Healthy ที่กรมการแพทย์” โดยระบุว่า ผู้ป่วยสะสมในประเทศไทยซึ่งเกินหลักแสน หากดูเฉพาะตัวเลขรายใหม่จะเห็นว่าเยอะกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา แต่สิ่งที่อยากให้ข้อมูลเพิ่มเติม คือ ไม่ใช่เฉพาะจำนวนเท่านั้น เพราะแต่เดิมจะเห็นว่ากลุ่มอาการรุนแรงจะอยู่แค่ในผู้สูงอายุ หรือมีโรคประจำตัว แต่ตอนนี้ สายพันธุ์อังกฤษ มีความรุนแรงสูงมาก พบอาการรุนแรงในกลุ่มคนอายุน้อยมากขึ้น จำนวนยอดผู้ติดเชื้อสูง ความรุนแรงสูง และเสียชีวิตสูงขึ้นด้วย

  • เสริมอาวุธ ด้วยวัคซีน

นพ.ชลภิวัฒน์  กล่าวต่อไปว่า ทุกวันนี้เวลาออกไปข้างนอก จะได้รับคำแนะนำว่าใส่หน้ากากอนามัย หรือหลายคนพกเจลแอลกอฮอลล์ เพื่อทำความสะอาด แต่จะดีกว่าหรือไม่ หากเรามีอีกหนึ่งสิ่งในการป้องกันจากโควิด 19 ป้องกันอาการรุนแรง และป้องกันการเสียชีวิต

“เพราะไม่มีวัคซีนตัวไหนป้องกันโรคนั้นได้ 100% แต่ป้องกันความรุนแรงจากการติดเชื้อ ถือเป็นพกอาวุธเพิ่มขึ้น หากติดแล้วความรุนแรงน้อยลง โอกาสเสียชีวิตก็จะน้อยลง ขอยืนยันว่า ผมก็ฉีดแล้วครบสองเข็มดังนั้นวัคซีนปลอดภัย มีประโยชน์”

  • ทำไมบางประเทศ ฉีดแล้ว ยังติดเชื้อ  

ขณะที่ กรณีการรายงานผลการฉีดวัคซีนโควิด 19 ในแต่ละประเทศ ซึ่งพบว่าบางประเทศฉีดในปริมาณที่ใกล้เคียงกัน แต่อีกประเทศกลับยังพบผู้ป่วยใหม่เพิ่มขึ้น นพ.ชลภิวัฒน์  อธิบาย กรณีดังกล่าวอาจจะไม่สามารถเปรียบเทียบกันได้โดยตรง ตัววัคซีนไม่ได้สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ทั้งหมด 100% ดังนั้น ผู้ติดเชื้อหลังฉีดอาจจะมีสูงขึ้น แต่ต้องดูว่าความรุนแรงลดลงหรือไม่ ตายลดลงหรือไม่

แต่การฉีดวัคซีน อย่างน้อยไม่ฉีด ความรุนแรงอาจจะสูงกว่า และในบางครั้งเราอาจจะเห็นตัวเลขประสิทธิภาพวัคซีนแต่ละชนิดว่าป้องกันการติดเชื้อไม่เท่ากัน ต้องเรียนว่าเป็นข้อมูลการศึกษาเฉพาะกลุ่มในพื้นที่นั้นๆ ดังนั้น ตัวเลขที่รายงานอาจจะไม่สามารถแทนความสามารถวัคซีนทั้งหมด แต่ทุกตัวป้องกันได้ หน้าที่ของวัคซีนจะค่อยๆ กระตุ้นภูมิฯ ร่างกายให้ป้องกัน ยิ่งนานยิ่งสูง แต่วัคซีนแล้วแต่ชนิด บางชนิดอาจต้องมีการกระตุ้นทุกปี คาดว่า วัคซีนโควิด 19 ก็อาจจะเป็นอย่างนั้น เพราะอยู่ในกลุ่มคล้ายๆ ไข้หวัดใหญ่

 

  • อาการทางระบบประสาท หลังฉีดวัคซีน

ทั้งนี้ ความกังวลของประชาชนจากอาการข้างเคียงหลังฉีดวัคซีน ซึ่งเป็นอาการทางระบบประสาท นพ.ชลภิวัฒน์ อธิบายว่า อาการข้างเคียงทางระบบประสาทพบได้ พูดตรงๆ เพื่อเป็นข้อมูล หากจะบอกว่าไม่มีอาจจะว่าหมอหลอกเพราะอยากให้ทุกคนฉีด ความจริงแพทย์ก็ไม่อยากจะเพิ่มหรือสร้างงานให้ตัวเอง หากทุกคนฉีดแล้วเจ็บป่วยเพิ่มขึ้นเราคงไม่อยากทำ เพราะสุดท้าย ทุกคนก็ต้องกลับมาที่ รพ. เหมือนเดิม แต่ในฐานะแพทย์มองว่า การฉีดวัคซีน จะช่วยลดภาระงาน

ยกตัวอย่าง สถาบันประสาทวิทยา เป็นรพ.เฉพาะทางโรคสมอง และระบบประสาทไขสันหลัง แต่ ณ ปัจจุบัน เราต้องดูแลผู้ป่วยที่เป็นโควิด 19 ด้วย รวมถึงผู้ป่วยระบบประสาท ซึ่งบางคนอยู่ต่างจังหวัดเดินทางมาไม่ได้ ไม่กล้ามา เพราะฉะนั้น ผู้ป่วยที่เป็นเป้าหมายหลักของเราอาจจะเสียโอกาสเข้าถึงการรักษาในระหว่างการระบาด แต่หากสามารถควบคุมการระบาดของโควิด 19 หรือลดความรุนแรง จากเจ้าหน้าที่ที่จะไปดูแลตึกโควิด 80 เตียง เจ้าหน้าที่กลุ่มนี้ก็จะสามารถกลับมาดูแลผู้ป่วยโรคระบบประสาทเหมือนเดิมได้

และผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องนอน รพ. ต้องผ่าตัด ต้องตรวจพิเศษก็จะสามารถทำได้เหมือนเดิม เพราะฉะนั้น วัคซีนนอกจากจะทำให้ช่วยป้องกันโควิด ก็ยังทำให้เราสามารถกลับไปใช้ชีวิตปกติได้เร็ว ผู้ป่วยที่เป็นโรคหลายโรค ที่ยังกล้าๆ กลัวๆ ว่าจะไป รพ. ดีหรือไม่ ก็จะได้รับการดูแลในโรคนั้นๆ ได้เพิ่มมากขึ้น

การฉีดวัคซีนฟังดูว่ามีผลข้างเคียง แต่จริงๆ แล้ว วัคซีนทุกชนิดมีผลข้างเคียง เพียงแต่ว่าเมื่อก่อนเวลาฉีดวัคซีนแต่ละอย่างเราไม่ได้ฉีดวัคซีนพร้อมกันทีละแสน หรือ ล้านคนทั่วโลก โอกาสที่จะเจอผลข้างเคียงและรายงานออกมา อาจจะไม่เยอะเท่าปัจจุบัน แต่สิ่งที่มีแน่ๆ เลย คือ หลังฉีดจะมีอาการปวด หนาวๆ ร้อนๆ เมื่อยแขน มีไข้ ซึ่งอาจจะเจอได้กับทุกวัคซีน เป็นสิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นได้

แต่สิ่งที่ทุกคนกลัว คือ ฉีดแล้วชา อ่อนแรง ข้อมูลที่จะสามารถอธิบายพยาธิสภาพตรงนี้ ปัจจุบัน อาจจะยังไม่ชัดเจนมากนัก แต่สามารถยืนยันได้ชัดเจนว่า “อาการนี้ไม่ใช่อาการหลอดเลือดสมอง” อ้างอิงจาก ประกาศของสมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย ซึ่งรวบรวมอาจารย์แพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านระบบประสาทโดยตรง และสมาคมโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับโรคสโตรกโดยตรง มีการเก็บข้อมูลในกลุ่มที่มีการรายงานมา และเข้าไปดูผลตรวจร่างกาย ประวัติ ดูภาพเอกซเรย์ในหลายๆ ที่ ทั้งหมด ค่อนข้างเชื่อมั่นได้ว่าอาการทั้งหมด “ไม่ใช่อาการสโตรก” แต่เป็นอาการที่เจอได้และสัมพันธ์จากการฉีดวัคซีน

เพราะหลายคนมองว่าอาการคล้ายสโตรกก็จะรู้สึกกลัว แต่เชื่อมั่นได้ว่า อาการที่เกิดขึ้น หายเองได้ โดยเฉลี่ย ใช้เวลา 24 – 72 ชั่วโมง หรือราว 1 -3 วัน เกิดได้แต่อาการค่อนข้างน้อยและหายเองได้ หากหลายคนเคยเห็นประกาศจากสมาคมประสาทวิทยาฯ ว่ามีกลุ่มที่มีอาการรุนแรงด้วย แต่อาการรุนแรงนั้นเกิดขึ้น 1 ในล้านคน และไม่ได้หมายความว่าฉีด 1 ล้านคนแล้วจะมี 1 คนที่เป็น แต่หมายความถึง “โอกาส” ซึ่งเกิดก็ได้ หรืออาจจะไม่เกิดเลยก็ได้ อยากให้มั่นใจและไม่กลัว

 

  • ชั่งน้ำหนัก “ประโยชน์” และ “ผลข้างเคียง”

นพ.ชลภิวัฒน์ กล่าวต่อไปว่า เวลาที่เราจะให้ยาหรืออะไรก็ตามกับผู้ป่วยที่มีผลข้างเคียง ก็จะพยายามบอกว่า หากมีทั้งผลข้างเคียงและประโยชน์ อยากให้เอาสองอย่างมาชั่งน้ำหนักกัน อย่างที่กล่าวมาข้างต้นว่า หากติดเชื้อโควิด 19 เชื้อตอนนี้ติดง่าย ยอดพุ่งทุกวัน ความรุนแรงสูง คนหนุ่มสาวแข็งแรง คนที่ไม่มีโรคประจำตัวความรุนแรงก็สูง เอกซเรย์มาปอดขาวเป็นฝ้าไปเลย ออกซิเจนเริ่มต่ำ เหนื่อยง่าย ยอดเสียชีวิตเพิ่มสูง 20-30 รายทุกวัน

เพราะฉะนั้น ความรุนแรงที่จะแย่จากการติดเชื้อ มันสูงกว่าผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นจากวัคซีนด้วยซ้ำ เมื่อชั่งน้ำหนักกันแล้ว อย่างไรวัคซีนก็ยังได้ประโยชน์มากกว่า การฉีดวัคซีนขอบอกว่าให้ทำเพื่อตัวเองก่อน หากดูแลตัวเองให้ปลอดภัยจากโควิด โดยการฉีดวัคซีนให้ครบ เพื่อลดโอกาสที่เราจะเป็นคนพาเชื้อไปถึงคนที่เรารัก จะเกิดประโยชน์ขั้นที่สองแก่คนในสังคมและคนที่เรารักจะตามมาเอง อันดับแรกทำเพื่อตัวเราเองก่อน

  • ความดันสูง “ฉีดวัคซีนโควิด 19” ได้หรือไม่

สำหรับ ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง นพ.ชลภิวัฒน์  อธิบายว่า โรคความดันโลหิตสูง เป็นหนึ่งใน 7 กลุ่มเสี่ยง “ผู้ป่วยที่รับการรักษาอยู่แล้วสามารถ ฉีดวัคซีนได้” โดยก่อนฉีดมีการคัดกรอง ประเมินโดยบุคลากรทางการแพทย์แบบสหสาขาวิชา ทั้งแพทย์และพยาบาลดูแล แต่หากในวันนั้นความดันหากสูงเกินกว่าปกติ แพทย์จะประเมินว่าต้องทำการรักษาเพื่อคุมความดันลงก่อนหรือไม่ และค่อยไปฉีดใหม่

“เพราะความดันสูงอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้หลังจากฉีด อาจจะมีเลือดซึมนานขึ้น หรือภาวะแทรกซ้อนจากความดันเอง ที่อาจจะไม่เกี่ยวกับวัคซีน แต่บังเอิญเกิดวันนั้นเลยก็ได้ เพราะฉะนั้น แนะนำให้รับการรักษา ทานยาให้ครบถ้วน เมื่อไปฉีดวัคซีน ไม่จำเป็นต้องงดยา”

อย่างไรก็ตาม ความจำเป็นในการรักษา “โรคความดันสูง” ไม่ใช่เฉพาะแค่เพื่อฉีดวัคซีนอย่างเดียว เพราะความดันโลหิตสูง เป็นปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง ตีบ แตก อุดตัน และโรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคอื่นๆ เพราะฉะนั้น เมื่อรู้ว่าตัวเองเป็นโรคความดันสูง ต้องรีบรับการรักษา

  • ภูมิแพ้ฉีด “วัคซีนโควิด 19” ได้หรือไม่

นพ.ชลภิวัฒน์  อธิบายว่า ภูมิแพ้ฉีดได้ แต่ในบางคนที่แพ้ทุกอย่าง โอกาสแพ้วัคซีนจะมีสูงขึ้น แต่ไม่ได้เป็นข้อห้าม เราอาจจะไม่รู้ว่า เราจะแพ้ในสิ่งที่เป็นสิ่งใหม่หรือไม่ จนกว่าจะได้ลอง เพราะฉะนั้น ในกลุ่มที่มีอาการแพ้เยอะอาจจะต้องปรึกษาแพทย์ก่อน เพื่อจะเลือกชนิดของวัคซีน ในกรณีที่มีหลายยี่ห้อแล้ว เพื่อเลือกชนิดที่มีโอกาสแพ้ต่ำที่สุด แต่ถึงอย่างไร ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ หรืออาจจะไม่เกิดขึ้นก็ยังได้

  • 10 ข้อต้องรู้ ก่อนไป “ฉีดวัคซีนโควิด 19”

1 ) นอนหลับให้เพียงพอ

2) เลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ ก่อนวันฉีดวัคซีน

3) ดื่มน้ำให้เพียงพอ 1-2 ลิตร ก่อนฉีดวัคซีน

4) ไม่ควรกินยาลดไข้หรือยาแก้ปวดก่อนฉีดวัคซีน

5) งดออกกำลังกายหนัก 2 วันก่อนฉีดวัคซีน

6) ถ้ามีโรคประจำตัว ตั้งครรภ์ มีประวัติแพ้ยาหรือวัคซีน ให้แจ้งเจ้าหน้าก่อนฉีดวัคซีน

7) ต้องไม่มีไข้หรือเจ็บป่วยขณะกำลังจะฉีดวัคซีน

8) หากมีไข้ ควรรอ 3 วัน ให้หายจากไข้ก่อน

9) หากฉีดวัคซีนป้องกันโรคอื่นมา ควรเว้นระยะห่าง 2 สัปดาห์ค่อยฉีดวัคซีน COVID-19

10) ผู้ป่วยที่มีค่าความดันโลหิตสูงกว่า 160 mmHg ควรรักษาความดันโลหิตให้ต่ำกว่า 140 mmHg ก่อนค่อยฉีดวัคซีน COVID-19

ที่มา : กรมอนามัย