background-default

วันเสาร์ ที่ 23 พฤศจิกายน 2567

ส่องกรณีศึกษา โควิด 19 'กลุ่มแรงงาน' จากสิงคโปร์ สู่ สมุทรสาคร

ส่องกรณีศึกษา โควิด 19 'กลุ่มแรงงาน' จากสิงคโปร์ สู่ สมุทรสาคร

โควิด 19 ระลอกใหม่ พบว่า กทม. มีการระบาดกว่า 39 คลัสเตอร์ ใน 29 เขตโดยกลุ่มแคมป์คนงานถือเป็นกลุ่มที่น่ากังวล หากย้อนกลับไปในปีที่ผ่านมา สิงคโปร์ เคยเจอวิกฤติการระบาดในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ รวมถึง สมุทรสาคร ซึ่งทั้งสองกรณีสามารถยับยั้งการระบาดสำเร็จ

ข้อมูล เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 64 ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานว่า พื้นที่กทม.มี 29 คลัสเตอร์ ใน 19 เขตที่ต้องเฝ้าระวัง โดยในจำนวนนี้แยกเป็น 16 คลัสเตอร์เฝ้าระวังสูงสุด ได้แก่ ตลาดห้วยขวาง/แฟลตดินแดง เขตดินแดง ประตูน้ำ /ชุมชนริมคลองสามเสน /แฟลตรถไฟมักกะสัน เขตราชเทวี แคมป์ก่อสร้าง เขตหลักสี่ สี่แยกมหานาค/ สะพานขาวตลาดผลไม้ เขตดุสิต คลองถมเซ็นเตอร์ /เสือป่า/ วงเวียน 22 /วรจักร/ โบ๊เบ๊ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ที่พักคนงานก่อสร้าง/ชุมชนแออัดคลองเตย เขตคลองเตย สีลม เขตบางรัก ชาวกินี เขตสาทร ปากคลองตลาด เขตพระนครตลาดบุญเรือง เขตประเวศ ตลาดศาลาน้ำร้อน เขตบางกอกน้อย และชุมชนโรงปูน เขตห้วยขวาง ซึ่งเป็นสิ่งที่ภาครัฐ เอกชนและประชาชนในพื้นที่ต้องร่วมมือช่วยกัน

โดยเฉพาะ กรณีแคมป์นงานหลักสี่ พบว่า จากการคัดกรองเชิงรุก 1,667 ราย พบติดเชื้อ 1,107 ราย คิดเป็น 66.41% และมีผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่ต้องติดตามอีก 586 ราย นอกจากนี้ยังมี บริษัทที่เรียกว่าเป็น subcontract หรือมีบริษัทรับเหมาช่วงต่อไปอีก 11 บริษัท และยังมีบริษัทรับเหมาอื่น ๆ อีก ทำให้ต้องมีการติดตามในแคมป์อื่นๆ 

นอกจากแคมป์คนงานแล้ว ยังมีชุมชนรอบข้างที่มีประชากรอยู่จำนวนมาก ได้แก่ 1.ชุมชนแฟลตตำรวจอิสระ (214 คน) 2.ชุมชนอยู่แล้วรวย 560 คน 3.ชุมชนแฟลตตำรวจกลางฯ 3,300 คน 4.ชุมชนกองบัญชาการศึกษา 750 คน 5.ชุมชนคนรักถิ่น 490 คน และ 6.ชุมชนเปรมสุขสันต์ 804 คน รวมทั้งหมด 6,118 คน 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยระบุว่า ได้สั่งการให้ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เร่งออกตรวจพื้นที่ที่มีโอกาสเสี่ยง แคมป์คนงานก่อสร้าง โรงงาน และสถานที่อื่น ๆ ในกรุงเทพฯ ทั้งหมด ซึ่งสถานที่ที่เกิดการระบาด รวมทั้งในเรือนจำ จะใช้แนวทาง Bubble and Seal คือการปิดกั้นการเดินทางเข้า-ออก ของคนในสถานที่นั้น ๆ เพื่อไม่ให้เชื้อแพร่กระจายออกไปสู่ภายนอก ซึ่งการที่สถานที่ที่มีการแพร่กระจายส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ปิด ทำให้ทีมแพทย์เชื่อว่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้โดยเร็ว โดยมีการประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดวันต่อวัน

  • จาก 29 คลัสเตอร์ สู่ 34 คลัสเตอร์ 

ขณะที่ วันนี้ (19 พ.ค. 64) พื้นที่กรุงเทพฯ มีการเฝ้าระวังเพิ่มขึ้นเป็น 34 คลัสเตอร์ใน 29 เขต ในจำนวนนี้มี 5 คลัสเตอร์ใหม่ คือ ตลาดบางกะปิ แคมป์คนงานบางคอแหลม โรงงงานน้ำแข็งเขตจตุจักร แคมป์คนงานเขตดอนเมือง และโกดังสินค้าให้เช่า เขตบางซื่อ ซึ่ง 50 เขตในกทม.นั้น มีอัตราการติดเชื้อไม่เท่ากัน มีบางพื้นที่เป็นไข่แดง ติดเชื้อมาก โดย ศบค. มีความเป็นห่วงแคมป์คนงานก่อสร้าง ซึ่งมีเขตที่มีแคมป์คนงานมากกว่า 20 แห่ง เช่น บางกะปิ บางเขน ลาดพร้าว และห้วยขวาง และบางแคมป์มีคนงานมากกว่า 1,000 คน

  • มาตรการดูแลแคมป์คนงาน

จากากระบาดในแคมป์คนงาน ศบค. ได้เปิดเผยมาตรการดูแลแคมป์คนงาน ดังนี้ 

1) แคมป์ที่สุ่มตรวจแล้วยังไม่มีผู้ติดเชื้อ

จะต้องมีการเฝ้าระวังและป้องกัน เพื่อไม่ให้มีการติดเชื้อ ต้องเข้มมาตรการป้องกันโรคส่วนบุคคล รวมถึง สิ่งแวดล้อม เช่น การดื่มน้ำที่พบว่าดื่มนากกระติกและแก้วใบเดียวกัน ซึ่งไม่ควรทำ และงดการเคลื่อนย้ายแรงงานไปแคมป์อื่น

2) แคมป์ที่มีผู้ติดเชื้อ

ซึ่งบางแคมป์ตั้งในไซส์งาน ดังนั้นระหว่างที่พักและที่ทำงานต้องมีการซีล(seal)ไม่ให้เดินทางออกนอกพื้นที่ และทำมาตรการบับเบิล(bubble) กรณีไซส์งานและที่พักอยู่คนละพื้นที่ โดยบริษัทต้องจัดรถรับส่งคนงานให้อยู่ในเส้นทางและไม่อนุญาตให้แวะพัก และถ้าจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายแรงงานจะต้องขออนุญาตไปยังสำนักงานเขต

  • ส่อง สิงคโปร์โมเดล คุมโควิดแรงงาน 

สำหรับ เมื่อปีที่ผ่านมา ประเทศสิงคโปร์ พบว่า มีแรงงานต่างชาติติดเชื้อไปมากกว่าแสนราย หรือคิดเป็น 47% ของแรงงานต่างชาติทั้งหมด ในช่วงที่มีการระบาดสูงสุดในเดือน เม.ย. 63 มีการติดเชื้อในหมู่แรงงานต่างชาติในสิงคโปร์มากกว่า 1,000 คนต่อวัน การต่อสู้กับการระบาดยาวนานถึง 4 เดือน ซึ่งหากมองสัดส่วนการติดเชื้อของแรงงานข้ามชาติในสิงคโปร์แล้ว เรียกว่ามีสัดส่วนมากถึง 90% ของผู้ติดเชื้อทั้งหมดในสิงคโปร์ นำมาสู่การล็อคดาวน์แรงงาน เพื่อลดการระบาด 

ทั้งนี้ "สิงคโปร์โมเดล" โดยสรุปพบว่ามี 3 แนวทางหลัก ได้แก่ 


1.เก็บข้อมูลแรงงานข้ามชาติอย่างเป็นระบบ เพื่อประโยชน์ในการติดตามตัว


2.สำรวจพฤติกรรมของแรงงานข้ามชาติ เช่น ไปที่ไหน ไปกับใคร และมีปฏิสัมพันธ์กับใครบ้าง ซึ่งข้อมูลนี้จะประโยชน์ในการติดตามและสืบสวนโรค


3.จำกัดพื้นที่การระบาด พร้อมดูแลแรงงานข้ามชาติหาสิ่งอำนวยความสะดวก และตรวจหาเชื้อเป็นประจำ

โดยทางรัฐบาลสิงคโปร์ มีการควบคุมแรงงานที่ติดเชื้อ COVID-19 ไว้ในเขตหอพัก เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่กระจายเป็นวงกว้าง และคัดแยกแรงงานที่ร่างกายแข็งแรง ออกจากหอพักไปอาศัยในจุดที่รัฐบาลจัดไว้ให้ เพื่อหยุดวงจรการแพร่ระบาด การยับยั้งการระบาดในระลอกนี้ของสิงคโปร์ สิ้นสุดเบ็ดเสร็จในเดือนธันวาคม 2563

  • จาก "สิงคโปร์โมเดล" สู่สมุทรสาคร   

กลับมาดูที่ประเทศไทยในช่วงใกล้เคียงกัน ธ.ค. 63 การระบาดระลอก 2 ของประเทศไทย ซึ่งจุดเริ่มต้นจากตลาดกลางกุ้ง จ.สมุทรสาคร พบการติดเชื้อ ของแรงงานต่างชาติจำนวนมาก ความพยายามในการสกัดแรงงานต่าชาติผิดกฏหมาย และจำกัดพื้นที่เพื่อป้องกันการระบาด กระทั่งมีการนำ "สิงคโปร์โมเดล" มาใช้ในกรณีการระบาดในระลอก 2 จ.สมุทรสาคร แบบง่ายๆ ตามสิงคโปร์ที่ประกาศชัยชนะแก้ปัญหาการระบาดได้ ดังนี้ 

1) คนในพื้นที่ ห้ามเดินทางออก หากป่วยมีโรงพยาบาลสนาม 100 เตียง

2) คนนอกพื้นที่ ห้ามเดินทางเข้า ยกเว้นเจ้าหน้าที่ซึ่งสวมชุดป้องกันอย่างถูกต้อง

พร้อมย้ำชาวเมียนมาที่สมุทรสาคร ไม่ต้องกลัว ยังไม่มีการดำเนินคดี ดังนั้น อย่าเพิ่งเคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่ กระทรวงสาธารณสุขไทยช่วยดูเเลรักษา ให้ยาเมื่อป่วย มีอาหาร น้ำ ให้ระหว่างกักตัว 14 วัน

  • ชายแดนธรรมชาติ ความท้าทายประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างระหว่างการจัดการแรงงานของไทยและสิงคโปร์ ค่อนข้างมีความท้าทายที่แตกต่างกัน เนื่องจากสิงคโปร์ แรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่เป็นแรงงานถูกต้องตามกฏหมาย แต่ในประเทศไทยนั้น กลับมีปัญหาแรงงานผิดกฏหมาย ที่มีการลักลอบเข้ามาเป็นจำนวนมาก สร้างความกังวลใจให้กับหลายฝ่ายถึงการนำเชื้อข้ามแดน แม้จะมีการเฝ้าระวัง แต่ชายแดนที่ยาวมากกว่า 5,000 กิโลเมตร จึงเป็นเรื่องที่ควบคุมได้ยาก

ข้อมูล จากกรมสนธิสัญญาและกฏหมาย กระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่า เขตแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านมีความยาวประมาณ  5,656 กิโลเมตร แยกเป็น

เขตแดนไทย-กัมพูชาประมาณ 798 กิโลเมตร (ติดกับจังหวัดตราด จันทบุรี สระแก้ว บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ของไทย)

เขตแดนไทย-ลาวประมาณ 1,810 กิโลเมตร (ติดกับจังหวัดเชียงราย พะเยา น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ของไทย) 

เขตแดนไทย-เมียนมาประมาณ 2,401 กิโลเมตร (ติดกับจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และระนอง ของไทย)

เขตแดนไทย-มาเลเซียประมาณ 647 กิโลเมตร (ติดกับจังหวัดสตูล สงขลา ยะลา และนราธิวาส ของไทย)

 

  • แก้ปัญหาแรงงานเถื่อน

ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงาน ได้เสนอแนวทาง เรื่อง การผ่อนผันให้คนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) ให้อยู่ในราชอาณาจักรและทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายเป็นกรณีพิเศษ เพื่อชะลอการนำเข้าแรงงานต่างด้าว และบรรเทาปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 จากภายนอกประเทศ

โดยเปิดให้คนต่างด้าวที่มีนายจ้างและไม่มีนายจ้าง รวมถึงผู้ติดตามซึ่งเป็นบุตรของคนต่างด้าวดังกล่าวที่มีอายุไม่เกิน 18 ปี ยื่นเรื่องขึ้นทะเบียนระหว่างวันที่ 15 ม.ค. - 13 ก.พ. 64 พร้อมให้นายจ้าง พาคนต่างด้าวเข้ารับการตรวจคัดกรองโควิด – 19 และตรวจสุขภาพโรคต้องห้าม กับ รพ.ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด และซื้อประกันสุขภาพเป็นระยะเวลา 2 ปี โดยต้องดำเนินการภายในวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2564

อย่างไรก็ตาม จากมาตรการดังกล่าวยังพบการลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฏหมาย ข้อมูลจากกระทรวงแรงงาน พบว่าตั้งแต่ 1 ต.ค. 2563 – 11 พ.ค. 2564 มีการตรวจสอบและดำเนินคดี นายจ้าง/สถานประกอบการและคนต่างด้าวทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยตรวจสอบนายจ้าง/สถานประกอบการ จำนวน 24,306 ราย/แห่ง ดำเนินคดี จำนวน 698 ราย/แห่ง และตรวจสอบการทำงานของคนต่างด้าว จำนวน 346,449 คน ดำเนินคดี จำนวน 559 คน

“สุชาติ ชมกลิ่น” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ห่วงใยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 จากกรณีที่พบกลุ่มผู้ฉวยโอกาสลักลอบนำแรงงานต่างด้าวเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายจากประเทศเพื่อนบ้าน และเดินทางต่อไปยังจังหวัดต่าง ๆ เพื่อลักลอบทำงานผิดกฎหมาย อาจนำเชื้อโควิด – 19 ไปแพร่กระจายในชุมชนได้

ซึ่งกระทรวงแรงงานไม่ได้นิ่งนอนใจ ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบ จับกุม และดำเนินคดีนายจ้าง/สถานประกอบการ และแรงงานต่างด้าวที่ทำงานผิดกฎหมาย ได้สั่งการให้สำนักงานจัดหางานจังหวัดทั่วประเทศ จัดเตรียมข้อมูลสถานประกอบการที่จ้างแรงงานต่างด้าวในพื้นที่รับผิดชอบ พร้อมร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสอบการทำงานของแรงงานต่างด้าวในสถานประกอบการ โดยให้ปฏิบัติงานภายใต้มาตรการของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดอย่างเคร่งครัด

ด้าน ไพโรจน์ โชติกเสถียร รองปลัดกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า ได้กำชับให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของกรมการจัดหางาน ดำเนินการตรวจสอบ ปราบปราม จับกุม และดำเนินคดีแรงงานต่างด้าวที่ทำงานผิดกฎหมาย โดยให้ปฏิบัติงานเชิงรุก และรายงานผลการดำเนินการให้กรมทราบ เพื่อให้สามารถติดตามสถานการณ์ และบังคับใช้กฎหมายอย่างทันท่วงที

ทั้งขอฝากถึงนายจ้าง/สถานประกอบการว่า หากรับคนต่างด้าวเข้าทำงานโดยที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน หรือให้คนต่างด้าวทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิที่จะทำได้ มีโทษปรับตั้งแต่ 10,000 – 100,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน หากกระทำผิดซ้ำมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 – 200,000 บาทต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน หรือทั้งจำทั้งปรับ และห้ามจ้างคนต่างด้าวเป็นเวลา 3 ปี ส่วนคนต่างด้าวที่ทำงานโดยที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน หรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิที่จะทำได้ จะมีโทษปรับตั้งแต่ 5,000 – 50,000 บาท และจะต้องถูกส่งกลับประเทศต้นทาง

ผู้ใดพบเห็นหรือสงสัยว่ามีคนต่างด้าวลักลอบทำงานผิดกฎหมาย สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือ สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน สายด่วนกรมการจัดหางาน โทร.1694

162126285675

พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กล่าวขณะเดินทางตรวจแนวชายแดนทั้งทางบกและทางทะเลภาคตะวันออก ยอมรับว่าการป้องกันแนวชายแดนที่ยาวกว่า 5,000 กิโลเมตรป้องกันยาก แต่ ผบ.ตร. ได้กำชับให้ตำรวจทุกหน่วยเมื่อจับกุมแรงงานหลบหนีเข้าเมือง จะต้องขยายผลการจับกุมไปถึงคนนำพา และนายทุน รวมทั้งดำเนินคดีฐานฟอกเงินพร้อมกับยึดทรัพย์อย่างเด็ดขาด มาตรการต้องจริงจัง ดำเนินการตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำให้เด็ดขาด

อย่างไรก็ตาม ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ได้แสดงถึงความเป็นห่วงประเด็นเรื่องแรงงานต่างด้าวแม้จะเข้าประเทศโดยผิดกฎหมาย แต่เมื่อมาอยู่กับนายจ้างแล้วป่วย ก็ต้องให้การดูแล โดยให้มีการตรวจหาเชื้อ ถ้าพบเป็นผู้ติดเชื้อจะต้องจัดสถานที่ให้ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม แต่การกระทำความผิดจะต้องได้รับการทบทวนและแก้ไขปัญหาควบคู่กันไปด้วย และเมื่อหายป่วยแล้วต้องกลับเข้าสู่ระบบการจ้างงาน

  

  • สมุทรสาคร ต้นแบบจัดการแรงงานผิดกฏหมาย

ขณะที่ จ.สมุทรสาคร ซึ่งถือเป็นพื้นที่ระบาดในระลอกที่ 2 ได้จัดทำต้นแบบในการจัดการปัญหาแรงงานผิดกฎหมาย รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครรายงานต่อ ศบค. โดยระบุ ว่า จ.สมุทรสาคร ได้หารือกับบริษัทจัดหาแรงงาน 20 กว่าแห่งของจังหวัด ร่วมกับสภาอุตสาหกรรม หอการค้า ได้มีการประกาศนโยบายไม่ยอมรับแรงงานผิดกฎหมาย เพราะ จ.สมุทรสาครเป็นแหล่งใหญ่ที่แรงงานเพื่อนบ้านเข้ามาทำงาน แต่ทำให้เกิดการลักลอบ นำแรงงานผิดกฎหมายเข้าประเทศตามแนวใช้แดน

โดยได้เน้นย้ำ ไม่ว่าจะเป็นนายจ้างที่รับแรงงานผิดกฎหมาย ผู้จัดหา เอเยนต์ หรือคนที่นำพา คนขับรถรับแรงงาน ให้ที่พัก ให้การช่วยเหลือเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย จ.สมุทรสาครจะประกาศแบนทั้งหมด ถ้าบริษัทเหล่านี้ยังกระทำความผิดเหล่านี้จะไม่ได้รับการสนับสนุนจากทางจังหวัด ซึ่ง จ.สมุทรสาครได้ทำเป็นต้นแบบแล้ว กรุงเทพมหานครจะได้นำนโยบายเหล่านี้มาทบทวนและหวังว่าเราจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในส่วนของการจัดการแรงงานผิดกฎหมายด้วย

“วีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี” ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก แสดงความกังวลเนื่องจากเมื่อวันที่ 7 พ.ค. ที่ผ่านมา ได้ตรวจพบเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มแรงงานต่างชาติของโรงงานแห่งหนึ่งในสมุทรสาคร จึงได้ปิดโรงงาน 14 วัน กักตัวผู้มีความเสี่ยงสูง และเร่งตรวจเชิงรุกทันที

พร้อมกันนี้ ยังระบุด้วยว่า ช่วงนี้ยังได้รับข้อมูลทั้งจากประชาชนและภาคเอกชนว่ามีแรงงานต่างชาติหลบหนีเข้าเมืองจำนวนมาก โดยจากการเข้าจับกุมแรงงานต่างชาติในจังหวัดหนึ่ง สมุทรสาครและกรุงเทพมหานครเป็นหนึ่งในจุดหมายสำคัญของกลุ่มนี้ ซึ่งนั่นก็อาจทำให้เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดอีกครั้ง สำหรับประเด็นนี้ เจ้าหน้าที่ได้เร่งตรวจค้นตามเบาะแสที่แจ้งมาทันที และหลังจากนี้จะตรวจค้นเชิงรุกกันอีกอย่างต่อเนื่อง โดยจะมีการประชุมหารือกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางทำงานร่วมกันให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูงสุด

“แต่สิ่งหนึ่งที่ผมไม่สบายใจเลย ท่ามกลางวิกฤตเช่นนี้ คนไทยด้วยกันเองกลับ “เปิดประตูบ้าน” ลักลอบทำเรื่องผิดกฎหมายเพราะหวังผลประโยชน์ตอบแทนเป็นตัวเงิน โดยไม่คิดเลยว่ามันจะกระทบกลายเป็นปัญหาใหญ่ ทำลายสวัสดิภาพและสร้างปัญหาปากท้องของ “คนบ้านเดียวกัน” ทั้งที่รู้ว่าทุกคนกำลังย่ำแย่เต็มที” ผู้ว่าฯ สมุทรสาคร ระบุ

ทั้งนี้ เมื่อเดือน ก.พ. 64 สวนดุสิตโพล สำรวจความคิดเห็นของประชาชน 1,295 คน วันที่ 6- 12 ก.พ. 64 เกี่ยวกับ “ปัญหาแรงงานเถื่อนลักลอบเข้าไทยเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่” โดยส่วนใหญ่มองว่า สาเหตุของปัญหาแรงงานเถื่อนลักลอบเข้าประเทศ จนทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้แก่ อันดับ 1 เจ้าหน้าที่บกพร่องในการดูแลป้องกันการเข้าเมืองผิดกฎหมาย 72.14% ถัดมา อันดับ 2 กฎหมายหละหลวม ไม่เอาผิดจริงจัง บทลงโทษไม่รุนแรง 71.21% อันดับ 3 การรับสินบนของเจ้าหน้าที่รัฐ 65.63% อันดับ 4 ผู้ประกอบการไทยต้องการแรงงานจำนวนมาก 44.04% อันดับ 5 การขาดแคลนแรงงานในประเทศ 43.27%