SCBS เปิดเทรดหุ้นต่างประเทศมิ.ย.นี้ หนุนรายได้ปี 64 โตเท่าตัว
แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะส่งผลกระทบเชิงลบต่อภาวะเศรษฐกิจในและต่างประเทศ แต่ในส่วนของตลาดหุ้นไทยกลับสวนทางเศรษฐกิจ สะท้อนผ่านมูลค่าการซื้อขาย (วอลุ่ม) เพิ่มขึ้นทะลุ 1 แสนล้านบาทต่อวัน
โดย “กัมพล จันทวิบูลย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ “หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ” มองว่า วอลุ่มการซื้อขายที่ปรับตัวขึ้น ส่งผลบวกต่อรายได้ของธุรกิจโบรกเกอร์ในปี 2564 ซึ่ง บล.ไทยพาณิชย์ ประเมินรายได้เติบโต “เท่าตัว” มาอยู่ที่ 3 พันล้านบาท จากปี 2563 ที่มีรายได้ 1.6 พันล้านบาท
บ่งชี้ผ่านการเติบโตของรายได้บนช่องทางดิจิทัล (Digital Business) ได้แก่ การซื้อขายหุ้นและกองทุนในประเทศ การซื้อขายหุ้นและกองทุนต่างประเทศ และการซื้อขายหุ้นกู้ในประเทศ ฯลฯ ผ่านช่องทางแอพพลิเคชั่น “Easy Invest” สอดคล้องกับแผนการดำเนินงานของบริษัทที่จะเน้นการเติบโตผ่านลูกค้ารายย่อยเป็นหลัก แตกต่างจากโบรกเกอร์อื่นๆ ที่มุ่งขยายการเติบโตผ่านการให้บริการธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง (Wealth Management)
อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงเป้าลดสัดส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมซื้อขายหลักทรัพย์ (ค่าคอมมิชชั่น) ให้ลดลงเหลือ 40% จากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 55% ขณะที่รายได้ประจำ เช่น รายได้จากการเสนอขายกองทุนรวม และรายได้ที่เกี่ยวข้องกับ Easy Invest ตั้งเป้าให้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 60% จากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 45% ทั้งนี้ เพราะรายได้ค่าคอมฯ ต้องพึ่งพาการซื้อขายของลูกค้าเป็นหลัก ขณะที่รายได้ประจำเป็นการเติบโตที่ยั่งยืนมากกว่า
สำหรับแผนการลงทุนในปี 2564 บล.ไทยพาณิชย์ ยังเน้นลงทุนในเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ ภายใต้งบลงทุน 100 ล้านบาท ตามที่ได้ประกาศไปในปี 2563 ส่งผลให้ปัจจุบันบริษัทเป็นโบรกเกอร์ที่มีหน่วยงานด้านเทคโนโลยีสูงสุดถึง 25% ของพนักงานทั้งหมด มากกว่า 100 ราย โดยปีนี้จะเริ่มจัดส่งบทวิเคราะห์ให้แก่ลูกค้าแบบเฉพาะเจาะจง (Personalized Research) รวมถึงเพิ่มการแจ้งเตือนแบบเฉพาะบุคคล (Personalized Notification) เพื่อให้ตอบโจทย์การลงทุนของลูกค้าแต่ละรายมากขึ้น
ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทมีฐานลูกค้าประมาณ 600,000 บัญชี เติบโต 33% จาก ณ สิ้นปี 2563 ที่มีจำนวนบัญชีลูกค้าประมาณ 450,000 บัญชี โดยบัญชีที่มีการเคลื่อนไหว (Active User) อยู่ที่ประมาณ 240,000-300,000 บัญชี หรือ 40-50% ของจำนวนบัญชีทั้งหมด ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปี 2561 ที่มีฐานลูกค้าเพียง 70,000 บัญชี โดยตั้งเป้าหมายสิ้นปี 2564 จำนวนบัญชีลูกค้าเพิ่มขึ้นแตะ 800,000 บัญชี และคาดว่าแตะ 2 ล้านบัญชีในสิ้นปี 2565
“เราตั้งเป้าหมายจำนวนบัญชีลูกค้าเติบโตมากกว่าเท่าตัว โดยได้ปัจจัยหนุนจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้คนหันมาเปิดบัญชีลงทุนหุ้นมากขึ้น รวมถึงกระแสขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ที่ส่งผลให้ยอดเปิดบัญชีใหม่ต่อเดือนเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 40,000 บัญชี จากเดิมอยู่ที่ 30,000 บัญชี โดยเฉพาะ 2 เดือนแรกของปี 2564 ช่วงที่หุ้น ปตท.น้ำมันและค้าปลีก หรือ OR เข้าซื้อขายในตลาดหุ้น บริษัทมียอดเปิดบัญชีใหม่เพิ่มขึ้นเดือนละ 4.2 หมื่นบัญชี”
ขณะที่จำนวนลูกค้าที่ซื้อขายผ่านแอพพลิเคชั่น Easy Invest เป็นยอด Active User ประมาณ 180,000 บัญชี หรือ 30% ของฐานลูกค้าทั้งหมด ซึ่งบริษัทตั้งเป้าหมายระยะยาวเพิ่มสัดส่วนลูกค้าใช้บริการแอพมาอยู่ที่ 70-80% โดยมีปัจจัยหนุนจากการเสนอขายทุกผลิตภัณฑ์ลงทุนภายในแอพพลิเคชั่นเดียว เพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้าสามารถจัดการสินทรัพย์ลงทุนได้ทุกประเภท รวมไปถึงการซื้อขายหุ้นไทยที่ปัจจุบันนักลงทุนยังใช้แอพพลิเคชั่นตัวกลางเป็นหลัก
ล่าสุด Easy Invest เตรียมเปิดตัวบริการซื้อขายหุ้นต่างประเทศในเดือน มิ.ย.นี้ โดยมีจุดเด่นที่ไม่กำหนดเงินลงทุนขั้นต่ำ ซึ่งนักลงทุนรายย่อยที่มีเงินต้นไม่มากก็สามารถลงทุนได้ เบื้องต้นจะเปิดให้บริการซื้อขายหุ้นต่างประเทศด้วยสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐและดอลลาร์ฮ่องกงเป็น 2 สกุลแรก และจะขยายไปยังอีก 10 สกุลเงินยุโรปในเดือน ก.ค. โดยนักลงทุนสามารถแลกเงินเก็บไว้ลงทุนได้ ซึ่งช่วยบริการความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน
ขณะที่ในอนาคตบริษัทอยู่ระหว่างพัฒนาบริการซื้อขายเศษส่วนของหุ้น (Fractionalized) เพื่อให้นักลงทุนสามารถซื้อขายหุ้นต่างประเทศด้วยต้นทุนที่ถูกลง จากปัจจัยที่หุ้นของบริษัทที่มีชื่อเสียงซื้อขายด้วยราคาที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกลับมาเป็นสกุลเงินบาท เช่น หุ้นอเมซอน (Amazon) ราคา 3,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อหุ้น หรือราว 90,000 บาทต่อหุ้น
ทั้งนี้ ปัจจุบันนักลงทุนสนใจลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศสูงขึ้น โดยยอดลงทุนในกองทุนรวมหุ้นต่างประเทศผ่าน Easy Invest เติบโตกว่า 133% จากยอดลงทุนเมื่อต้นปี 2564 สูงที่สุดในตลาด รวมถึงจำนวนลูกค้าที่ถือครองกองทุนรวมหุ้นต่างประเทศเติบโตเกือบ 150% ในช่วงเวลาเดียวกัน สำหรับบริการซื้อขายหุ้นต่างประเทศที่เป็นฟังก์ชันใหม่ ตั้งเป้าว่าจะมีผู้ใช้บริการหุ้นต่างประเทศเพิ่มขึ้น 10 เท่าภายในปี 2564