การทูตวัคซีน และ ส้วม
ตั้งแต่เกิดมาก็โดนฉีด "วัคซีนโควิด" ไปไม่รู้กี่ร้อยครั้งแล้ว แต่ละครั้งไม่เคยรู้จักชื่อบริษัทผลิตวัคซีน และไม่รู้ว่ามีกี่ตัวให้เลือก แต่มาครั้งโควิดนี้โลกเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง
อิทธิฤทธิ์ของ "วัคซีนโควิด" แต่ละตัวถูกนำมาประกวดกันราวเลือกนางสาวจักรวาลและถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศครั้งใหญ่ ที่น่าตื่นเต้นก็คือญี่ปุ่นกำลังคิดจะใช้ ส้วม เป็น เครื่องมือทางการทูต (Toilet Diplomacy) อีกทางหนึ่งด้วย
แต่ละวันเราได้รับข้อมูลด้านบวกและลบของ วัคซีนโควิด-19 แต่ละตัวอย่างไม่รู้จะเชื่อใครดี และก็ไม่ควรจะเชื่อง่าย ๆ ด้วยเพราะมันได้กลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองทั้งระหว่างประเทศและในประเทศไปแล้ว ข้อมูลมีทั้งของจริง ตั้งใจลวง เกินเลยความจริง บิดเบือน เท็จล้วนๆ ฯลฯ ของวัคซีนเต็มไปหมดในโลกไซเบอร์อย่างมีวัตถุประสงค์ดีและชั่วร้ายแอบแฝงอยู่
สหรัฐ ที่ขัดแย้งกับจีนและรัสเซียไม่พูดถึงและไม่ยอมรับ Sinovac (เอกชนจีนเป็นเจ้าของ) Sinopharm (เอกชนจีนกับรัฐวิสาหกิจร่วมงานกัน) และ Gamaleya (สถาบันวิจัยของรัฐของรัสเซียผลิตวัคซีน ชื่อ Suptnik V)
แต่สหรัฐเชียร์ Pfizer (เอกชนสหรัฐร่วมมือกับเอกชนเยอรมัน) Johnson and Johnson ซึ่งเป็นของบริษัทเอกชนสหรัฐ และ Moderna (บริษัทเอกชนสหรัฐร่วมกับสถาบันของรัฐสองแห่ง)
ส่วน อังกฤษ ก็เชียร์ Astra Zeneca (เอกชนอังกฤษร่วมมือกับมหาวิทยาลัย Oxford) ยุโรปก็เฉย ๆ กับวัคซีนจีน และจีนก็เช่นเดียวกันกับวัคซีนตัวอื่น ๆ ด้วย
จีน เป็นผู้ใช้ Vaccine Diplomacy (การทูตวัคซีน) เพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่งประเทศที่แข็งขันที่สุด ทำก่อนใครเพื่อนและกว้างขวางด้วย จีนช่วย 97 ประเทศทั่วโลก (ทั้งโลกมี 195 ประเทศ ปัจจุบันเริ่มมีการฉีดวัคซีนแล้วใน 181 ประเทศ) โดยมอบให้ฟรี 69 ประเทศ และขายในราคามิตรภาพ 28 ประเทศ นับถึงปลายมีนาคม 2021 จีนส่งออกนอกประเทศไปแล้วกว่า 100 ล้านโดส และมีแผนอีกนับพันล้านโดส
ถึงแม้ในปัจจุบันจีนจะมีปัญหาบ้างในการผลิต แต่เชื่อว่าในเวลาไม่นานก็คงแก้ไขได้ เพราะเพียง Sinovac ก็สามารถผลิตได้ 2 พันล้านโดสต่อปี
อินเดีย ก็มีแผนการเดียวกัน ก่อนหน้าระบาดรอบสองที่รุนแรง อินเดียส่งออกให้ 84 ประเทศไปแล้วกว่า 55 ล้านโดส รัสเซีย ก็มีแผนส่งให้ 20 ประเทศ
สหรัฐ หลังจากหลงใหลคำขวัญ "America First" อยู่พักใหญ่ ก็เริ่มขยับให้การสนับสนุน WHO มากขึ้น และมีแผนการมอบ 2 พันล้านโดสให้ประเทศกำลังพัฒนา
กลุ่มใหม่ที่เรียกว่า QUAD คือ อินเดีย ญี่ปุ่น สหรัฐ และออสเตรเลียนั้นมีแผนการจะมอบ 1 พันล้านโดสให้กลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในเวลาต่อไป (ขณะนี้จีนได้มอบให้กลุ่มประเทศเหล่านี้ไปแล้วไม่ต่ำกว่า 3 ล้านโดส)
คราวนี้กลับมาเรื่อง Toilet Diplomacy (การทูตส้วม) ถึงแม้คำว่าส้วมจะฟังแล้วสะดุดหู แต่ดีกว่าใช้ “ห้องน้ำ” เพราะอาจเข้าใจผิดได้เรื่องมีการอาบน้ำด้วย ว่ากันตรง ๆ เป็น “ส้วม” สำหรับถ่ายเบาและหนักให้เห็นภาพชัด ๆ เลย เรื่องนี้เริ่มจาก Nippon Foundation ร่วมมือกับเขต Shibuya ในโตเกียว สร้างโครงการ “The Tokyo Toilet” กล่าวคือสร้างส้วมสาธารณะใหม่ 17 ห้องที่พิเศษล้ำสมัยเพื่อแก้ปัญหาของการใช้ส้วมสาธารณะคือความสะอาดและการรู้ว่าห้องว่างหรือไม่
ส้วมอัศจรรย์นี้ ยามที่คนผ่านไปมาจะเห็นไฟสว่างชัดเจนเข้าไปถึงในห้องส้วมว่า มีว่างกี่ห้อง ห้องไม่ว่างก็จะทึบแสงมองเข้าไปและมองออกมาไม่เห็น (เมื่อมีผู้ใช้ห้องน้ำ ทันทีที่ปิดประตู กระจกที่เห็นโปร่งใสนั้นก็จะทึบแสงขึ้นทันที)
โตเกียวโอลิมปิก 2021 จะเป็นโอกาสของการส่งออกวัฒนธรรมความสะอาดของญี่ปุ่นที่ถูกจุดประกายขึ้นโดยโครงการนี้เพื่อเป็นเครื่องมือทางการทูตแนวใหม่ที่น่าสนใจ
การออกแบบทำกันละเอียดละออมากเพราะต้องการแสดงให้เห็นความล้ำหน้าของเทคโนโลยีญี่ปุ่นและค่านิยมความสะอาดของคนญี่ปุ่นแก่ชาวโลก ปัจจุบันทำเสร็จไปแล้ว 7 ห้อง ที่เหลืออยู่จะเสร็จในต้นปี 2022 ในปลายเดือนกรกฎาคม 2021 โตเกียวโอลิมปิก 2021 (เลื่อนมาหนึ่งปีและจะจัดแปลกที่สุดในโลกคือวางแผนว่าไม่ให้มีคนดู) จะเป็นโอกาสของการส่งออกวัฒนธรรมความสะอาดของญี่ปุ่นที่ถูกจุดประกายขึ้นโดยโครงการนี้เพื่อเป็นเครื่องมือทางการทูตแนวใหม่ที่น่าสนใจ
เรื่องการมีส้วมและมีระบบสนับสนุนความสะอาดไม่ว่าจะเป็นการมีน้ำ การรักษาความสะอาด สบู่ล้างมือ กระดาษชำระ ฯลฯ เป็นเรื่องสำคัญทางสุขาภิบาล(sanitation)อย่างยิ่ง การไม่มีหรือไม่อยากใช้ส้วมเพราะสกปรกจนไปถ่ายในที่โล่งแจ้งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคได้สารพัด เช่น โรคอหิวาต์ โรคไทฟอยด์ โปลิโอ โรคพยาธิ ไวรัสตับอักเสบ ฯลฯ เพราะเมื่ออุจจาระแห้งก็จะกลายเป็นผงฝุ่นฟุ้งกระจายไปในอากาศ
ในประชากรโลก 7 พันล้านกว่าคน มีส้วมเป็นเรื่องเป็นราวแบบขั้นพื้นฐานประมาณ 3 พันล้านคน มีแต่ขาดมาตรฐาน 3 พันล้านเศษ และ ถ่ายในที่โล่งแจ้งประมาณเกือบหนึ่งพันล้านคน ในภาพรวมก็คือผู้คน 4.6 พันล้านคนทั่วโลกหรือกว่าครึ่งของโลก ไม่สามารถเข้าถึงระบบสุขาภิบาลที่มีมาตรฐานซึ่งการมีห้องส้วมที่มีมาตรฐานเป็นหัวใจสำคัญได้
ในจำนวนหนึ่งพันล้านคนที่ถ่ายกลางทุ่งนั้น 3 ใน 4 อยู่ในประเทศเอเชียกลางและเอเชียใต้ ในปีจจุบันอินเดียมีประชากรประมาณ 50 ล้านคนที่ไม่มีส้วมใช้เลย ตัวเลขนี้ลดลงมากใน 5-6 ปีที่ผ่านมาเมื่อมีการแก้ไขอย่างจริงจังเนื่องจากพบว่าเป็นสาเหตุของอัตราการตายที่สูงของทารก
ปากีสถานซึ่งมีประชากร 216 ล้านคนดูจะหนักสุดเพราะ 42% ของประชากรไม่มีส้วมใช้ และขาดระบบสุขาภิบาลพื้นฐาน
ความสะอาดของบ้านเรือนและของสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยอยู่ในวัฒนธรรมญี่ปุ่นมายาวนาน (ถึงแม้จะมีส้วมสมัยใหม่ใช้กันจริงจังทุกบ้านเมื่อไม่เกิน 40 ปีมานี้ก็ตาม) ส้วมสาธารณะในญี่ปุ่นสะอาดอย่างประทับใจผู้ไปเยือน ญี่ปุ่นเป็นชาติแรกที่คิด shower toilet คือเมื่อเสร็จกิจก็กดปุ่มข้าง ๆ ก็จะมีน้ำอุ่นฉีดขึ้นมาชำระล้างอย่างแม่นยำจนไม่เกิดปัญหาสุขาภิบาลจากการใช้มือสัมผัส
ชื่อเสียงของส้วมญี่ปุ่นจึงเป็นพื้นฐานที่ช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ “การทูตส้วม” ได้เป็นอย่างดี บางคนอาจรู้สึกขำ แต่ถ้ามองลึก ๆ แล้วจะเห็นว่ามันเป็นเรื่องลึกซึ้งกว่าแค่ส้วม
ชื่อเสียงของส้วมญี่ปุ่นจึงเป็นพื้นฐานที่ช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ “การทูตส้วม” ได้เป็นอย่างดี บางคนอาจรู้สึกขำ แต่ถ้ามองลึก ๆ แล้วจะเห็นว่ามันเป็นเรื่องลึกซึ้งกว่าแค่ส้วม การมีสุขาภิบาลที่ดีเป็นรากฐานของการสาธารณสุขและการมีสุขภาวะที่ดีของมนุษย์ (ครอบคลุมทั้งสุขภาพกายและใจด้วย) การริเริ่มประเด็นและให้ความช่วยเหลือระหว่างประเทศในการมีคุณภาพชีวิตที่ดีผ่านการมีส้วมที่มีมาตรฐานจึงไม่ใช่เรื่องธรรมดาหรือหยาบคายหากเป็นเรื่องที่แยบยลเสียด้วยซ้ำ
ผู้เขียนจำได้ว่าเมื่อหลายปีก่อนเด็กตอบคำถามในวันเด็กว่าสิ่งที่อยากได้มากที่สุดคือส้วมโรงเรียนที่สะอาด จึงมีคนกลุ่มหนึ่งที่นำโดยคุณหญิงชัชนี จาติกวณิช ระดมทุนและสร้างส้วมให้เด็กหลายโรงเรียนในหลายจังหวัด ผู้เขียนสนใจและได้มีโอกาสติดตามก็พบว่าระบบสนับสนุนการมีส้วมที่สะอาดนั้นมีปัญหาในเกือบทุกแห่ง พอสร้างแล้วก็ขาดคนดูแลสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง
อีกชื่อของห้องส้วมคือห้องสุขา เพราะมันช่วยปลดทุกข์ประจำวันให้บรรลุความสุขส่วนตัวเราควรมาช่วยกันผลักดันให้ชาวโลกมี “ความสุขา” อย่างแท้จริงและไม่เป็นภัยแก่คนอื่นด้วยครับ.