‘ทวินทาวเวอร์’ แปลงห้องพักสู่ ‘ฮอสพิเทล’ ทุ่มงบรีโนเวต 300 ล้านรอต่างชาติรีเทิร์น!
โรงแรม “เดอะ ทวิน ทาวเวอร์” ถนนรองเมือง เป็นหนึ่งในโรงแรมที่กระทรวงแรงงานเปิดตัวเป็น “ฮอสพิเทล” (Hospitel) หรือ หอผู้ป่วยติดโรคโควิด-19 เฉพาะกิจ ของประกันสังคมเมื่อต้นเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา
เพื่อเป็นสถานที่รองรับผู้ประกันตนที่ป่วยด้วยโรคนี้แต่ไม่แสดงอาการให้ได้เข้ารับการรักษาตามขั้นตอน
ศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ โรงแรมเดอะ ทวิน ทาวเวอร์ กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นโรงแรมขนาดใหญ่ มีห้องพักมากถึง 660 ห้อง กล่าวว่า ขณะนี้โรงแรมฯมีห้องพักเข้าร่วมเป็นฮอสพิเทลของประกันสังคมจำนวน 80 ห้อง จากจำนวนห้องพักที่มีความพร้อมเป็นฮอสพิเทลประมาณ 300-400 ห้อง โดยรองรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 จากโรงพยาบาลตำรวจเข้ามาด้วย
“เดิมโรงแรมเดอะ ทวิน ทาวเวอร์ตั้งใจจะปิดโรงแรมเพื่อปรับปรุง (รีโนเวต) แต่เนื่องจากการออกแบบเพื่อรีโนเวตยังไม่ลงตัว จึงยังไม่ได้เริ่มดำเนินการ ประกอบกับทางกระทรวงแรงงานและโรงพยาบาลตำรวจได้ติดต่อเข้ามาเพื่อขอใช้ห้องพักโรงแรมฯเป็นฮอสพิเทล ทางโรงแรมฯจึงตัดสินใจเข้าร่วมเพราะต้องการช่วยเหลือสังคม หลังสถานการณ์โรคโควิด-19 ระลอก 3 ระบาดเป็นวงกว้างและรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ยังขาดห้องพักแบบฮอสพิเทล โดยคาดว่าน่าจะมีการใช้โรงแรมฯเป็นฮอสพิเทลราว 1-2 เดือนนับจากนี้ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดด้วย”
ทั้งนี้ทางโรงแรมฯมีแผนใช้เงินลงทุนราว 200-300 ล้านบาทสำหรับรีโนเวตโรงแรม ขณะนี้อยู่ระหว่างรอแบบลงตัว น่าจะเริ่มดำเนินการได้หลังกลางปีนี้ เพราะเมื่อประเมินสถานการณ์โควิด-19 ระลอก 3 แล้วน่าจะยืดเยื้อ ยังไม่มั่นใจด้วยซ้ำว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้หรือไม่ภายในเดือน ก.ค.-ส.ค.นี้ โดยคาดการณ์ว่ากว่าตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเริ่มกลับมาเดินทางกันอย่างจริงจังน่าจะเป็นปี 2565 มากกว่า!
แม้ตามไทม์ไลน์ของรัฐบาลจะเตรียม “เปิดประเทศ” รับนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มฉีดวัคซีนครบแล้ว ให้เดินทางเข้ามาเที่ยวในพื้นที่นำร่อง 10 พื้นที่ตั้งแต่ไตรมาส 4 หนึ่งในนั้นมี “กรุงเทพฯ” ด้วย เริ่มวันที่ 1 ต.ค.นี้ แต่ก็ยังประเมินว่านักท่องเที่ยวต่างชาติอาจจะยังเดินทางเข้ามาไม่มากเหมือนเมื่อก่อน
“อย่างช่วงโกลเด้นวีคหยุดยาววันชาติจีน (1 ต.ค.) ทางการจีนน่าจะยังไม่อนุญาตให้ชาวจีนออกท่องเที่ยวนอกประเทศ เพราะในภูมิภาคเอเชียด้วยกันเอง หลายๆ ประเทศยังพบยอดผู้ติดเชื้อใหม่รายวันต่อเนื่อง ทำให้ในสายตาคนอื่นๆ อาจจะมองว่าเอเชียยังไม่ปลอดภัย 100% ส่วนตลาดยุโรปซึ่งได้รับการฉีดวัคซีนจำนวนมากแล้ว น่าจะเริ่มมั่นใจท่องเที่ยวภายในยุโรปกันเองก่อน”
ศุภวรรณ เล่าเพิ่มเติมว่า ย้อนไปเมื่อการระบาดของโควิด-19 ระลอกแรกปี 2563 เราจำเป็นต้องปิดโรงแรมฯรอบแรก แล้วกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งเมื่อเดือน ก.ค.-ธ.ค.ปีที่แล้ว พอเข้าสู่เดือน ม.ค.2564 เพิ่งให้บริการได้เพียง 7-8 วัน ก็เจอกับการระบาดของโควิด-19 ระลอก 2 จึงตัดสินใจปิดโรงแรมฯอีกครั้ง และตั้งใจจะกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งหลังหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ เพราะยังรับลูกค้าตลาดจัดเลี้ยงและประชุมสัมมนาได้ แต่ก็ดันมาเจอการระบาดระลอก 3 อีก!
“ทางเจ้าของโรงแรมฯจึงมองว่าควรปิดเพื่อเตรียมรีโนเวตดีกว่า คาดว่าน่าจะแล้วเสร็จในปี 2565 พร้อมรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพราะช่วงนี้ไม่น่าจะมีรายได้จากทั้งส่วนห้องพักซึ่งปัจจุบันไม่มีการเดินทางข้ามจังหวัด และยังมีข้อจำกัดเรื่องการจัดงานเลี้ยงและประชุมสัมมนา ก็เท่ากับว่าแทบจะต้องปิดโรงแรมโดยปริยายอยู่แล้ว”
โดยก่อนหน้าที่จะเจอวิกฤติโควิด-19 โรงแรมฯมีรายได้หลัก 70% จากกลุ่มนักท่องเที่ยวทั่วไป (Leisure Market) หลักๆ เป็นเอเชีย นักท่องเที่ยวจีน 40-45% นักท่องเที่ยวญี่ปุ่น 40% ส่วนที่เหลือเป็นนักท่องเที่ยวไทยและยุโรป ขณะที่รายได้จากกลุ่มจัดประชุมสัมมนาจากภาครัฐมีสัดส่วนอยู่ที่ 20% ส่วนอีก 10% เป็นรายได้อื่นๆ
และเมื่อโรงแรมฯกลับมาเปิดให้บริการรับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง ก็ยังคาดการณ์ได้ยากว่าโครงสร้างตลาดจะเปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหน เพราะตอนนี้ไม่มีใครพยากรณ์ตลาดล่วงหน้าได้ แต่ที่มองตรงกันคือไม่น่าจะได้ตลาดกรุ๊ปทัวร์ใหญ่ๆ เหมือนเดิม คงต้องรออีกสักพักใหญ่ว่าตลาดกรุ๊ปทัวร์ขนาดใหญ่จะกลับมา!