เบียร์ช้างไตรมาส 2 โต 4.4% ไทยเบฟโกยกำไรครึ่งปี 16,076 ล้านบาท เพิ่ม 7.6%
“เจ้าสัวเจริญ” มั่งคั่งเพิ่ม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์” ฟอร์มไม่ตก เหล้ากำไร 12,866 ล้านบาท โต 3.6% เบียร์ครึ่งปีแรกทำกำไรพุ่ง 84.2% ยอดการบริโภคไตรมาส 2 ขยายตัว 4.4% อยู่ที่ 498 ล้านลิตร ส่วนอาหารแบกขาดทุน หลังแบรนด์หัวหอก “โออิชิ-เคเอฟซี” กระทบ
ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา โรคโควิด-19 ระบาดเป็นระลอกๆ และรัฐบาลต้องใช้ไม้แข็งไม้อ่อนกำราบไวรัส แต่บางมาตรการย่อมส่งผลกระทบต่อธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หนึ่งในนั้นคือ “ผับ บาร์ สถานบันเทิง” ที่เป็นแหล่งแฮงก์เอาท์ของผู้คน ปลดปล่อยไลฟ์สไตล์ความสุข ระบายความเครียด ความทุกข์
ทว่า ทันทีที่โรคระบาด รัฐจะมีประกาศ “ปิดให้บริการ” สถานที่ดังกล่าว ทำให้การค้าขายเสียหายหนัก ผับ บาร์ ร้านอาหาร สถานบันเทิง ยังเป็นช่องทางจำหน่ายแบบ On-Primise ของสินค้า “เครื่องดื่มแอลกอฮอล์” ในสัดส่วนที่สูงด้วย เมื่อหน้าร้านขายไม่ได้ จึงมีผลต่อยอดขายโดยตรง
ทั้งนี้ ผลประกอบการของยักษ์ใหญ่อาหารและเครื่องดื่ม โดยเฉพาะ “น้ำเมา” อย่างบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด(มหาชน) ของ “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” โดยมีทายาท “ฐาปน สิริวัฒนภักดี” นำทัพธุรกิจ ยังทำผลงานในช่วงไตรมาส 2 และครึ่งปีของปีงบประมาณบริษัท( ต.ค.63-ก.ย.64) ได้ดีเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพราะแม้ยอดขายจะหดตัวลงไป แต่ “กำไร” ยังคงโดดเด่น
ไทยเบฟฯ รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ รายได้จากการขายไตรมาส 2 จำนวน 59,463 ล้านบาท หดตัว 3.2% มีกำไรสุทธิ 6,535 ล้านบาท เติบดต 17.2% ส่งผลให้ครึ่งปีแรกมีรายได้จากการขายรวม 137,092 ล้านบาท หดตัว 4.3% และกำไรสุทธิ 16,076 ล้านบาท เติบโต 7.6% โดยสัดส่วนยอดขายมาจากสินค้ากลุ่มสุรา 48.7% เบียร์ 41.1% เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์(นอนแอลกอฮอล์) 5.8% อาหาร 4.5% ส่วนการทำกำไรสุรายังมีสัดส่วนสูงสุด 84% ตามด้วยเบียร์ 14.5% เครื่องดื่มนอนแอลกอฮอล์ 2.2% ส่วนธุรกิจอาหารกลับมาฉุดกำไรอีกครั้ง หลังจากต้องปิดร้านตามมาตรการรัฐ ด้านผู้บริโภคอยู่บ้าน ทำงานที่บ้านมากขึ้น ออกไปทานอาหารนอกบ้านลดลง
นอกจากนี้ หากแบ่งยอดขายตามหมวดหมู่สินค้า ไตรมาส 2 สุราอยู่ที่ 29,105 ล้านบาท หดตัว 2.5% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ทำกำไรสุทธิได้ 5,639 ล้านบาท เติบโต 4.3% เบียร์ยอดขาย 23,757 ล้านบาท เติบโต 0.4% กำไรสุทธิ 482 ล้านบาท เติบโต 68.5% เครื่องดื่มนอนแอลกอฮอล์ 3,885 ล้านบาท หดตัว 13.2% กำไรสุทธิ 198 ล้านบาท ลดลง 43.3% ธุรกิจอาหาร 2,757 ล้านบาท ลดลง 20.7% ขาดทุน 118 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้นถึง 247.1% หลักๆมาจากร้านอาหารแบรนด์โออิชิ และเดอะ คิวเอสอาร์ ออฟ เอเชีย จำกัด หรือQSA ที่มีแบรนด์ เคเอฟซี เป็นเรือธง
ส่วนภาพรวมครึ่งปีแรกธุรกิจสุราสร้างยอดขาย 63,876 ล้านบาท หดตัวเล็กน้อย 0.6% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน แต่ยังทำกำไรได้ดี 12,866 ล้านบาท เติบโต 3.6% เบียร์ 53,978 ล้านบาท ลดลง 5.1% กำไรสุทธิ 2,214 ล้านบาท เติบโตสูงถึง 84.2% เนื่องจากบริษัทระมัดระวังในการบริหารต้นทุนเพื่อให้มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะต้นทุนด้านการกระจายสินค้าที่ปรับตัวลดลงจึงส่งผลให้ความสามารถในการทำกำไรขั้นต้นดี
สำหรับเครื่องดื่มนอนแอลกอฮอล์ยอดขาย 7,592 ล้านบาท ลดลง 12.6% กำไรสุทธิ 333 ล้านบาท ลดลง 27.8% ส่วนธุรกิจอาหารยอดขาย 5,885 ล้านบาท ลดลง 19.9% ขาดทุน 104 ล้านบาท หดตัวแรงถึง 186% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อนมีกำไรสุทธิ 121 ล้านบาท
ทั้งนี้ ไทยเบฟให้เหตุผลของธุรกิจอาหารหดตัว เพราะโรคระบาดทำให้รัฐประกาศใช้มาตรการเพื่อจำกัดกิจกรรมที่สาธารณะ กิจกรรมทางสังคมและธุรกิจอื่นๆ โดยธุรกิจอาหารเป็นส่วนเล็กๆของรายได้ไทยเบฟ
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ได้รับผลกระทบรอบด้านจากมาตรการรัฐเพื่อสกัดไวรัส โดยเฉพาะการห้ามนั่งรับประทานในร้าน ผับบาร์ สถานบันเทิงปิดให้บริการ จึงส่งผลต่อการบริโภคโดยตรง ซึ่งจำนวนยอดขายเชิงปริมาณสะท้อนสถานการณ์กินดื่มอย่างดี ในไตรมาส 2 สุรามียอดขาย 165 ล้านลิตร ลดลง 2.9% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน โซดา 10 ล้านลิตร ลดลง 6.7%
เครื่องดื่มนอนแอลกอฮอล์ 363 ล้านลิตร ลดลง 15.9% และยังเป็นการลดลงยกแผง ไม่ว่าจะเป็นชาเขียวพร้อมดื่มโออิชิ เครื่องดื่มจับใจยอดขาย 61 ล้านลิตร ลดลง 10.4% น้ำดื่ม 241 ล้านลิตร ลดลง 17.2% เครื่องดื่มอัดลม เอส และซาสี่ 60 ล้านลิตร ลดลง 16.6% และอื่นๆ เช่น เครื่องดื่มชูกำลัง เครื่องดื่มเกลือแร่ยอดขายราว 1 ล้านลิตร เพิ่มขึ้น 12.3% ส่วนโซดาและน้ำดื่มช้าง 15 ล้านลิตร ลดลง 40.3% แต่ที่น่าสนใจคือเบียร์กลับสร้างยอดขายเชิงปริมาณ 498 ล้านลิตร เติบโต 4.4% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน
ส่วนครึ่งปีแรก ยอดขายเชิงปริมาณสุราจำนวน 355 ล้านลิตร ลดลง 1.2% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน โซดา 22 ล้านลิตร ลดล 6.8% เบียร์ 1,145 ล้านลิตร ลดลง 5.3% น้ำดื่มและโซดาช้าง 28 ล้านลิตร ลดลง 37.5% เครื่องดื่มนอนแอลกอฮอล์ 710 ล้านลิตร ลดลง 14.6%
ขณะที่ธุรกิจต่างประเทศ ครึ่งปีแรกสร้างรายได้จากการขาย 29,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% โดยยอดขายสุราในต่างแดนเพิ่มขึ้น 2% ส่วนเบียร์ยอดขายลดลง 4% หลักๆมาจากไซ่ง่อน เบียร์ แอลกอฮอล์ เบฟเวอเรจ คอร์เปอเรชั่น หรือ ซาเบโก้ และการส่งออกไปยังตลาดอาเซียน
ทั้งนี้ หากย้อนไปดูผลประกอบการของไทยเบฟในปี 2563 บริษัทมียอดขายรวม 253,481 ล้านบาท หดตัวลง 5.2% ส่วน “กำไรสุทธิ” อยู่ที่ 26,065 ล้านบาท ลดลง 0.1% เทียบช่สวงเดียวกันปีก่อน 26,083 ล้านบาท หรือหายไปเพียง 18 ล้านบาท โดยตัวเลขผลการดำเนินงานครึ่งปีนี้กลับปรับตัวในทิศทางที่ดี โดยเฉพาะ “กำไร” ซึ่งปีที่แล้วบริษัทเผชิญผลกระทบจากโรคโควิด-19 ระบาดไม่ต่างจากธุรกิจอื่น
อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ปกติไทยเบฟสามารถสร้าง “ยอดขาย” และ “กำไร” เติบโตอย่างต่อเนื่อง เช่น ปี 2562 สร้างยอดขายกว่า 260,000 ล้านบาท เติบโตถึง 16.4% กวาดกำไรไปกว่า 26,000 ล้านบาท โตสูงถึง 30% เป็นต้น
สำหรับภาพรวมตลาดเครื่องดื่มทั้งโดยเฉพาะ “เบียร์” มีมูลค่าหลัก “แสนล้านบาท” มีผู้เล่นรายใหญ่ทั้งสิงห์ ช้าง และไฮเนเก้น, ส่วนธุรกิจเครื่องดื่มนอนแอลกอฮอล์มีมูลค่าหลัก “แสนล้านบาท” เช่นกัน โดยภาพรวมปีที่แล้วทั้ง 2 กลุ่ม ยังคงหดตัว แต่หากแยกตามหมวดสินค้ายังมีการเติบโตได้บ้าง เช่น เครื่องดื่มน้ำอัดลม เครื่องดื่มวิตามินซี น้ำผสมวิตามิน เป็นต้น