‘แอตต้า’ ชงรัฐแบ่งเงินกู้ 7 แสนล้านอุ้ม ‘ท่องเที่ยว’ หวังฟื้นฟู-เยียวยาธุรกิจหลังทัวริสต์หายไป 1 ปีครึ่ง
“แอตต้า” ชงรัฐแบ่งเงินกู้ 7 แสนล้านบาทอุ้มภาคธุรกิจท่องเที่ยว หวังช่วยฟื้นฟูเยียวยา หลังตลาดต่างชาติเที่ยวไทยหายไปนานกว่า 1 ปี
จากกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เงินกู้เพิ่มเติมวงเงิน 700,000 ล้านบาท เพื่อรับมือกับโควิด-19 ระลอกใหม่ แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 30,000 ล้านบาท ใช้สำหรับแก้ปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม, การจัดหาอุปกรณ์การแพทย์ ส่วน 400,000 ล้านบาท เพื่อเตรียมชดเชยเยียวยาเพิ่มเติม และอีก 270,000 ล้านบาท เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ
นายศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) กล่าวว่า แอตต้ามองว่าในก้อน 270,000 ล้านบาทที่จะใช้ฟื้นฟูเศรษฐกิจนั้น หากรัฐบาลจัดทำแผนโครงการหรือมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ชัดเจนออกมา พบว่ามีเงินส่วนที่เหลือจากการใช้ดำเนินโครงการต่างๆ ก็อยากให้แบ่งมาเป็นงบประมาณช่วยเหลือฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยว เพราะท่องเที่ยวถือเป็นเครื่องยนต์ในการสร้างรายได้หลักเข้าประเทศไทย ทั้งยังเป็นภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการจ้างงานและการหมุนเวียนรายได้ในหลายส่วน
ถ้ารัฐบาลสามารถแบ่งงบประมาณมาฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยว จะสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจในภาพรวมได้ด้วย โดยอาจแบ่งเป็นงบประมาณเพื่อใช้ในการเยียวยาผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว สำหรับสิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือมากที่สุด ก็เป็นเรื่องเดิมๆ ที่เคยเสนอขอไปแล้ว อาทิ แหล่งสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือ ซอฟท์โลน ที่จะช่วยต่อลมหายใจให้ธุรกิจท่องเที่ยวพยุงตัวเองต่อไปได้
“หากรัฐบาลมองว่าภาคการท่องเที่ยวเป็นส่วนสำคัญในการฟื้นและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รัฐบาลจะต้องเข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการมากกว่านี้ เพราะที่ผ่านมาภาคท่องเที่ยวยังไม่ได้รับการช่วยเหลือที่ออกมาเป็นมาตรการโดยเฉพาะเลย แม้จะมีบางมาตรการที่สามารถช่วยได้ แต่มักเป็นการหว่านความช่วยเหลือแบบรวมๆ มากกว่า จึงอยากให้รัฐบาลพิจารณาตรงส่วนนี้ด้วย”
เพราะนับตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 ระลอก 1 จนถึงปัจจุบัน ผ่านมามากกว่า 1 ปีแล้วที่นักท่องเที่ยวต่างชาติหายไป 100% แม้ระยะหลังจะมีเดินทางเข้ามาบ้าง แต่จำนวนยังน้อยมาก ทำให้ขณะนี้ธุรกิจท่องเที่ยว เช่น บริษัทนำเที่ยว รถขนส่งท่องเที่ยว ที่รองรับตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติขาเข้า (อินบาวด์) เป็นหลัก ผู้ประกอบการต่างตัดสินใจปิดกิจการชั่วคราวแล้วเกือบ 100% เพื่อรอดูทิศทางในการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่วนที่ปิดกิจการถาวรและเปลี่ยนอาชีพไปแล้วคาดมีมากกว่า 10%
“หากยังไม่มีความชัดเจนในการเปิดประเทศได้จริง คาดมีผู้ประกอบการที่ปิดกิจการชั่วคราวต้องปิดตัวลงอย่างถาวรและเปลี่ยนอาชีพไปทำอย่างอื่นอีกจำนวนมาก เพราะธุรกิจได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 มานานกว่า 1 ปี แต่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังไม่สามารถเข้าถึงมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐได้ โดยเฉพาะซอฟท์โลน แม้จะมีบางส่วนที่เข้าถึงได้ แต่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีส่วนน้อยมากที่เข้าถึงซอฟท์โลนได้จริง”
นายศิษฎิวัชร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับภาพรวมภาคท่องเที่ยวไทยก่อนเผชิญวิกฤติโควิด-19 อาศัยรายได้จากตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก พอเกิดการระบาดระลอก 3 ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้รัฐยังไม่สามารถควบคุมการระบาดได้ สิ่งที่รัฐต้องเร่งดำเนินการคือการนำเข้าและกระจายวัคซีนต้านโควิด-19 ให้ทั่วถึงในกลุ่มเป้าหมายหลักทั้งประเทศ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยปลอดภัยจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ที่อาจเกิดซ้ำได้
หากรัฐบาลสามารถทำได้ จะมีโอกาสในการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติชัดเจนมากขึ้น หลังรัฐบาลวางโรดแมพเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มฉีดวัคซีนครบแล้ว นำร่องผ่านโครงการ “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” เริ่มวันที่ 1 ก.ค.นี้ ซึ่งจะเป็นตัวชูโรงให้กับประเทศไทย ว่ามีพื้นที่สะอาดและปลอดเชื้อโควิดอย่างแท้จริง
“แต่เนื่องจากปัจจุบันยังไม่สามารถควบคุมการระบาดได้ และยังไม่เห็นแนวโน้มว่าจะคุมได้ในช่วงใด หากใช้เวลาในการควบคุมการระบาดตั้งแต่เดือน พ.ค.-มิ.ย.นี้ เท่ากับว่าโอกาสในการเปิดประเทศตามไทม์ไลน์ นำร่องผ่านโครงการภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ ซึ่งจะดีเดย์วันที่ 1 ก.ค.นี้ อาจมีโอกาสเป็นไปได้น้อยลง” นายกแอตต้ากล่าว