‘เงินบาท’วันนี้เปิด ‘แข็งค่า’ที่31.43บาทต่อดอลลาร์
เงินบาทแข็งค่าจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ รวมถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังการแจกจ่ายวัคซีนที่อาจหนุนให้นักลงทุนต่างชาติกลับเข้าตลาดทุนไทย แต่ระยะสั้นยังเห็นการอ่อนค่าได้ วันนี้คาดเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 31.40- 31.50บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงินธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 31.43 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 31.45 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 31.40-31.50 บาทต่อดอลลาร์
ในส่วนแนวโน้มเงินบาท เราคงมองว่า แรงกดดันฝั่งเงินบาทอ่อนค่ายังคงมีอยู่ในระยะสั้น ทั้งจากภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดโดยรวมที่คงหนุนให้ เงินดอลลาร์แข็งค่า ขณะเดียวกัน นักลงทุนต่างชาติก็ยังคงทยอยขายสุทธิสินทรัพย์ไทยอย่างต่อเนื่อง จากความกังวลปัญหาการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19
ทั้งนี้ เรามองว่า การอ่อนค่าของเงินบาทอาจเจอแนวต้านใกล้ระดับ 31.50-31.60 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากระดับดังกล่าว เป็นช่วงที่ผู้ส่งออกจำนวนมากต่างรอขายเงินดอลลาร์ ขณะที่แนวรับของเงินบาทจะอยู่ในช่วง 31.30 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากเป็นช่วงที่ผู้นำเข้าก็รอทยอยเข้ามาซื้อเงินดอลลาร์ เช่นเดียวกับฝั่งของบริษัทจดทะเบียนที่จำเป็นต้องแลกซื้อสกุลเงินต่างประเทศเพื่อจ่ายปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติ
อย่างไรก็ดี แม้ว่าในระยะสั้น เงินบาทยังมีโอกาสอ่อนค่าอยู่ แต่ในระยะยาว เราคงมองแนวโน้มเงินบาทแข็งค่า จากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ รวมถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังการแจกจ่ายวัคซีนที่อาจหนุนให้นักลงทุนต่างชาติกลับเข้าตลาดทุนไทย ดังนั้นเราจึงมองว่า ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ส่งออกควรทยอยปิดความเสี่ยงค่าเงินบาท หากเงินบาทอ่อนค่าลง
ผู้เล่นในตลาดยังคงไม่กล้ากลับมาเปิดรับความเสี่ยง ท่ามกลางปัจจัยลบ อาทิ ความกังวลแนวโน้มการเร่งตัวของเงินเฟ้อ และปัญหาการระบาดของ โควิด-19 ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นในฝั่งเอเชีย นอกจากนี้ ตลาดก็เริ่มกังวลมากขึ้นว่าเฟดอาจปรับลดการอัดฉีดสภาพคล่องหรือคิวอี (QE Tapering) ในปีนี้
หลังจากที่ รายงานผลการประชุมเฟดล่าสุด ระบุว่า คณะกรรมการ FOMC บางส่วนพร้อมที่จะพิจารณาลดคิวอี หากเศรษฐกิจฟื้นตัวแข็งแกร่ง ซึ่งความกังวลดังกล่าวส่งผลให้ ผู้เล่นในตลาดเดินหน้าลดสถานะถือครองสินทรัพย์เสี่ยง กดดันให้ ดัชนี S&P500 ย่อตัวลง -0.29%
ส่วน ดัชนี Downjones ย่อตัวลง -0.48% ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการปรับตัวลงของราคาหุ้นกลุ่มพลังงาน หลังจากที่ราคาน้ำมันดิบดิ่งลงกว่า -3% จากความกังวลว่าอิหร่านอาจกลับมาผลิตและส่งออกน้ำมันเพิ่มขึ้น หลังสหรัฐฯและอิหร่านอาจบรรลุข้อตกลงนิวเคลียร์ใหม่ ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ปรับตัวลงกว่า -1.71% ตามแรงเทขายสินทรัพย์เสี่ยงและการปรับตัวลงของหุ้นในกลุ่มพลังงาน
อย่างไรก็ดี ในฝั่งตลาดบอนด์ ความกังวลแนวโน้มเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นและโอกาสที่เฟดจะปรับลดคิวอี ยังคงกดดันให้บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นราว 3bps สู่ระดับ 1.67% แม้ว่าตลาดจะยังอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง
ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์ไทย บอนด์ยีลด์ระยะยาวตั้งแต่ 5ปี ขึ้นไปต่างก็ปรับตัวขึ้น 3-7bps หลังรัฐบาลเตรียมกู้เงินเพิ่มเติม 7 แสนล้านบาท ซึ่งตลาดกังวลว่าการกู้เงินจำนวนมากดังกล่าว อาจทำให้ปริมาณการออกบอนด์ของรัฐบาลเพิ่มสูงขึ้นอย่างไรก็ดี เรามองว่า รัฐบาลอาจกู้เงินผ่านทั้ง การออกบอนด์ และการกู้ยืมเงินผ่านสถาบันการเงิน ทำให้ปริมาณการออกบอนด์มีไม่มากเท่าที่ตลาดกังวล ซึ่งจะช่วยลดแรงกดดันต่อบอนด์ยีลด์ได้
สำหรับตลาดค่าเงิน ความผันผวนที่กลับเข้ามาในตลาดการเงิน ได้หนุนให้ตลาดเลือกที่หลบความผันผวนด้วยการถือเงินดอลลาร์ หนุนให้ เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 90.22 จุด กดดันให้เงินยูโรอ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.217 ดอลลาร์ต่อยูโร เช่นเดียวกับ เงินเยน (JPY) ที่อ่อนค่าลงสู่ระดับ 109.3 เยนต่อดอลลาร์
ในวันนี้ ตลาดจะติดตามแนวโน้มการฟื้นตัวของตลาดแรงงานสหรัฐฯ ผ่านยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) ซึ่งตลาดคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 4.5 แสนล้าน สะท้อนว่า ตลาดแรงงานสหรัฐฯ เดินหน้าฟื้นตัวต่อเนื่อง ทั้งนี้ ตลาดจะรอติดตามยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) เพื่อยืนยันแนวโน้มการฟื้นตัวของตลาดแรงงาน ซึ่งอาจมีนัยยะสำคัญต่อการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินของเฟด หากการจ้างงานแข็งแกร่งต่อเนื่อง