ส.อ.ท.ห่วงปัญหาชิพขาดแคลน หยุดผลิตรถยนต์บางรุ่น 1 เดือน
ส.อ.ท.เผยยอดผลิตรถ 4 เดือน พุ่ง 19% มั่นใจถึงเป้า 1.5 ล้านคัน ห่วงปัญหาขาดแคลนชิปรุนแรง กระทบผลิตรถทั่วโลก 1 ล้านคัน/ไตรมาส ชี้โควิดรอบ 3 ฉุดกำลังซื้อ ธนาคารลดปล่อยสินเชื่อ
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ยอดผลิตรถยนต์เดือน เม.ย.2564 ผลิตได้ 104,355 คัน เพิ่มขึ้น 322.30% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ฐานต่ำ เพราะมีล็อกดาวน์ประเทศจากโควิด-19 ระลอกแรกช่วงต้นปี 2563 และขอให้ประชาชนอยู่บ้านเพื่อหยุดการระบาด ดังนั้นจึงเทียบเดือน เม.ย.2562 ที่เป็นภาวะปกติก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 พบว่ายอดผลิตลดลง 30.44%
ส่วนยอดผลิตรถยนต์ 4 เดือนของปีนี้ (ม.ค.-เม.ย.2564) อยู่ที่ 570,188 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 19.19% โดย ส.อ.ท.คงเป้าหมายการผลิตปี 2564 ไว้ที่ 1.5 ล้านคัน ซึ่งเป็นเป้าต่ำสุดในรอบหลายปี โดยมีโอกาสที่ยอดผลิตจะถึง 1.7 ล้านคัน หากไทยคุมสถานการณ์การระบาดได้ และการระบาดในต่างประเทศลดลง รวมทั้งปัญหาขาดแคลนชิพไม่รุนแรงมากไปกว่านี้ ซึ่ง ส.อ.ท.ขอดูสถานการณ์อีก 2 เดือน ว่าจะปรับเป้าหมายเพิ่มขึ้นหรือไม่
ด้านรถยนต์ไฟฟ้า (BEV) ขยายตัวสูงมาก โดยยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าใหม่ตั้งแต่ ม.ค.-31 มี.ค.2564 มี 459 คัน คาดว่าปี 2564 หากมีรถยนต์ไฟฟ้าราคาถูกเข้าตลาดตามแผนจะมียอดจดทะเบียนใหม่ 4 พันคัน สูงกว่าปี 2563 ที่มี 1,261 คัน ถือว่าขยายตัวสูงมาก
สำหรับปัญหาการขาดแคลนชิพรุนแรงขึ้นส่งผลให้โรงงานผลิตรถยนต์ในไทยบางแห่งต้องหยุดผลิตรถบางรุ่นตั้งแต่ 1 สัปดาห์ถึง 1 เดือน โดยนำชิพไปผลิตรถยนต์รุ่นยอดนิยมที่ยอดขายสูง ซึ่งคาดว่าปัญหาขาดแคลนชิพอาจยืดเยื้อ 2 ปี ในขณะนี้จากการประเมินการผลิตรถยนต์ทั่วโลก จะมียอดการผลิตรถยนต์ที่หายไป 1 ล้านคันต่อไตรมาส จากยอดการผลิตทั่วโลก 20 ล้านคันต่อไตรมาสหรือหายไป 1%
ส่วนผลกระทบที่เกิดจากการระบาดของโควิด-19 รอบที่ 3 ทำให้ตั้งแต่เดือน เม.ย.เป็นต้นมา มีลูกค้าเข้ามาโชว์รูมรถยนต์ลดลง 50% เพราะหลีกเลี่ยงการออกนอกบ้าน และบางส่วนไม่มั่นใจภาวะเศรษฐกิจ เพราะโควิด-19 ครั้งนี้มียอดการติดเชื้อ และอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าในรอบแรกมาก คนไม่กล้าใช้จ่ายเงินทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจำนวนมากได้รับผลกระทบจนส่งผลให้ชะลอการซื้อรถยนต์ออกไป ส่วนตลาดรถยนต์ราคาสูงยังไม่ได้รับผลกระทบ
นอกจากนี้ ยังกระทบกับยอดการจองรถยนต์ในงานมอเตอร์โชว์ที่ผ่านมา ที่มีจำนวนยอดจองกว่า 2.78 หมื่นคัน ในจำนวนนี้มีสัดส่วนสูงถึง 30% ที่ขอชะลอการรับรถยนต์ออกไปหรือยกเลิกการจอง จากภาวะปกติที่ชะลอการรับรถยนต์เพียง 5-6% เพราะไม่มันใจเรื่องการเงินในอนาคต รวมทั้งธนาคารก็ปฏิเสธให้สินเชื่อรถยนต์มากขึ้นมีลูกค้าที่ไม่ผ่านการอนุมัติ 20-30% จากปกติที่จะปล่อยสินเชื่อให้เกือบหมด ซึ่งหากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง ธนาคารก็จะกล้าปล่อยสินเชื่อได้ตามปกติ
“ยังโชคดีที่รถยนต์ที่จองในงานมอเตอร์โชว์ทยอยส่งมอบรถเป็นส่วนใหญ่ตั้งแต่เดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ทำให้ยอดจำหน่ายรถยนต์สูงถึง 1.04 แสนคัน แต่จากยอดขายที่ชะลอลงมากตั้งแต่เดือน เม.ย.ที่ระบาดโควิดรอบ 3 ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์เป็นห่วงยอดขายมากขึ้น”