พาณิชย์ถกจีน เร่งลดอุปสรรคทางการค้า
ไทยขอจีนขยายเวลาตรวจสินค้าเข้า-ออก ด่านโหย่วอี้กวน เพิ่มช่องทางส่งออกท่าเรือกวนเหล่ยริมแม่น้ำโขง เร่งขึ้นทะเบียนโรงงานแปรรูปข้าว-ไก่-รังนกของไทยขณะที่จีนขอปรับใช้ใบแหล่งกำเนิดสินค้าเป็นแบบอิเล็กทรอนิกส์พร้อมชวนร่วมงานแสดงสินค้า
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมได้ประชุมร่วมกับนายหลี่ ซิงเฉียน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์จีน ในการประชุมคณะทำงานเพื่อส่งเสริมการค้าอย่างไร้อุปสรรคไทย-จีน (Working Group on Promoting Unimpeded Trade) ครั้งที่ 2 ผ่านระบบการประชุมทางไกล เพื่อหารือการแก้ปัญหาทางการค้าและร่วมมือขยายมูลค่าการค้าระหว่างกัน ซึ่งฝ่ายไทยได้ขอให้จีนช่วยแก้ปัญหามาตรการที่เป็นอุปสรรคทางการค้า และเพิ่มการอำนวยความสะดวกทางการค้าให้กับสินค้าของไทย เพื่อเพิ่มมูลค่าทางการค้าระหว่างกัน
โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติโควิด-19 ที่มีข้อจำกัดในการเดินทาง และความเข้มงวดที่ด่านพรมแดน อาทิ การขยายเวลาการให้บริการตรวจสินค้าเข้า-ออก ที่ด่านโหย่วอี้กวน เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการขนส่งสินค้า ในช่วงที่ผลไม้ไทยออกสู่ตลาดจำนวนมาก พร้อมทั้งเปิดด่านท่าเรือกวนเหล่ยริมแม่น้ำโขงให้กลับมาขนส่งสินค้าได้โดยเร็ว และอนุญาตให้นำเข้าผลไม้ไทยผ่านด่านดังกล่าวได้ เพื่อเพิ่มช่องทางการส่งออกผลไม้จากไทยเข้าทางมณฑลยูนนาน รวมทั้งให้เร่งขึ้นทะเบียนโรงงานแปรรูปข้าว ไก่ และรังนกของไทย ที่ยื่นคำขอค้างไว้ เพื่อเพิ่มจำนวนโรงงานที่ผ่านเกณฑ์การส่งออกไปจีน และเร่งตรวจประเมินความปลอดภัยทางอาหารของเนื้อสุกร โคมีชีวิต และผลิตภัณฑ์รังนกแดง ที่ไทยยื่นขอเปิดตลาดส่งออกไปจีนไว้ ซึ่งจะให้มีการหารือในระดับเทคนิคต่อไปโดยเร็ว
นอกจากนี้ ฝ่ายไทยยังได้หารือเรื่องการเชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจพิเศษเชียงของ จังหวัดเชียงราย กับเขตเศรษฐกิจพิเศษร่วมบ่อเต็น (สปป.ลาว) กับบ่อหาน (จีน) ซึ่งไทยอยู่ระหว่างพัฒนาพื้นที่เชียงของให้มีความพร้อมเป็นศูนย์กระจายสินค้าและโลจิสติกส์สำหรับการค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยได้รับสิทธิประโยชน์จากนโยบายพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน (CBEC) ของจีนด้วย เช่น สิทธิประโยชน์ด้านภาษี จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีศุลกากร และเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและสรรพสามิตร้อยละ 70 ของอัตราภาษีปกติในสินค้า อาทิ ผลไม้อบแห้ง ชา กาแฟ และเครื่องสำอาง
นางอรมน กล่าวว่า ส่วนฝ่ายจีนขอให้ไทยปรับระบบการใช้หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (CO) ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) เป็นแบบลายมือชื่อและตราประทับแบบอิเล็กทรอนิกส์แทนแบบกระดาษ เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับภาคเอกชนทั้งสองฝ่าย จีนยังต้องการส่งเสริมความร่วมมือทางการค้ากับไทยในสาขาสุขภาพและเครื่องมือแพทย์ ตลอดจนเชิญชวนให้ไทยนำผู้ประกอบการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าจีน-อาเซียน (CAEXPO) ณ นครหนานหนิง ในเดือนก.ย. และงานมหกรรมสินค้านำเข้านานาชาติจีน (CIIE) 2021 ณ นครเซี่ยงไฮ้ ในเดือนพ.ย.นี้
ทั้งนี้ จีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย โดยในปี 2563 การค้าสองฝ่ายมีมูลค่า 79,607 ล้านดอลลาร์ สำหรับช่วงไตรมาสแรกของปี 2564 การค้าสองฝ่ายมีมูลค่า 22,803 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 26% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยไทยส่งออกไปจีนมูลค่า 8,015 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 20.6% สินค้าส่งออกสำคัญของไทย เช่น ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง และยางพารา เป็นต้น สินค้านำเข้าสำคัญจากจีน เช่น เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น