'บีทีเอส' ถก 'กรุงเทพธนาคม' เสนอลดเที่ยววิ่ง - เก็บค่าโดยสาร รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย แก้ปมจ่ายหนี้ล่าช้า
“บีทีเอส” หารือ “กรุงเทพธนาคม” แนวทางแก้ปัญหาการจ่ายหนี้ กทม.ล่าช้า เล็งลดจำนวนเที่ยววิ่ง – ขอเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยาย นัดหารืออีกรอบ 2 สัปดาห์ข้างหน้า “สุรพงษ์” ย้ำบีทีเอสไม่ได้ทำเพื่อต้องการสัมปทาน แต่เป็นห่วงเรื่องจำนวนหนี้ที่เพิ่มขึ้น
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ “บีทีเอส” เปิดเผยภายหลังหารือกับบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ว่าได้มีการหารือกันถึงปัญหาหนี้ 30,370 ล้านบาท จากค่าระบบและค่าจ้างเดินรถสายสีเขียวส่วนต่อขยายหมอชิต – สะพานใหม่ –คูคต และแบริ่ง – สมุทรปราการ ซึ่งบีเอสเดินรถในส่วนนี้มา 4 ปีแล้ว แต่ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ยังไม่ได้ชำระให้กับบีทีเอสว่าในเบื้องต้นระหว่างรอความชัดเจนเรื่องการชำระเงินที่ติดค้างบีทีเอสในการเดินรถอยู่ อย่างไรก็ตามได้มีการหารือว่าจะลดค่าใช้จ่าย และทำให้การเดินรถในส่วนต่อขยายให้บริการประชาชนต่อไปให้นานที่สุด
โดยขณะนี้มีการหารือว่าอาจปรับลดจำนวนเที่ยวรถที่วิ่งลงในช่วงเวลาที่ไม่ใช่ช่วงเร่งด่วน และอีกแนวทางคือให้กรุงเทพธนาคม และ กทม.สามารถที่จะเก็บค่าโดยสารส่วนนี้ได้บ้างหลังจากที่ให้บริการมา 4 ปียังไม่มีการเก็บค่าโดยสารเลย โดยทั้งสองฝ่ายนัดหมายกันว่าอีก 2 สัปดาห์จะนำรายละเอียดต่างๆมาหารือกันว่าจะดำเนินการอย่างไรได้บ้าง
นายสุรพงษ์กล่าวว่าในส่วนของภาระหนี้ที่ กทม.ติดค้างบีทีเอสอยู่กว่า 3 หมื่นล้านบาทนั้นเป็นจำนวนหนี้ที่สูง ซึ่งบีทีเอสเป็นบริษัทมหาชนจะต้องมีคำตอบให้กับผู้ถือหุ้น ส่วนจะดำเนินการทางด้านกฎหมายหรือไม่ ก็มีการเตรียมการไว้แต่ยังไม่ได้ดำเนินการในขณะนี้
“ในการดำเนินการในเรื่องนี้บีทีเอสไม่ได้ทำเพื่อต้องการเรื่องสัมปทาน ในส่วนนั้นเป็นเรื่องนโยบายของรัฐบาล และ กทม.ไป แต่เราเป็นห่วงในส่วนของหนี้ที่เกิดขึ้นเนื่องจากมีจำนวนที่สูงมาก ในฐานะที่บีทีเอสเป็นบริษัทจำกัด มหาชน ต้องมีคำตอบให้กับผู้ถือหุ้นซึ่งขณะนี้มีผู้ถือหุ้นอยู่มากกว่าแสนราย”
ก่อนหน้านี้บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า BTS ระบุว่า เมื่อวันที่ 20 พ.ค.2564 BTS ได้เผยแพร่ข้อความผ่านทางสื่อโฆษณาบนรถไฟฟ้า และสถานีรถไฟฟ้า รวม 98 ขบวน 60 สถานี โดยมีข้อความระบุว่า ตามที่กรุงเทพมหานคร และ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ค้างชำระค่าจ้างเดินรถกว่า 10,000 ล้านบาท ค่าติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกลอีก 20,000 ล้านบาท สำหรับการให้บริการเดินรถในส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียวของกรุงเทพมหานคร
“บริษัทฯ ได้พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้สามารถบริการเดินรถให้กับประชาชนได้ แม้จะไม่ได้รับชำระค่าจ้าง ทั้งยังจะมีค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต พวกเราขอกราบวิงวอน ฯพณฯ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้โปรดแก้ไขปัญหานี้ด้วย”