คนไทยไม่รู้ตัวว่าเป็น ‘โรคร้าย’ หรือเข้าไม่ถึงระบบสุขภาพ?

คนไทยไม่รู้ตัวว่าเป็น ‘โรคร้าย’ หรือเข้าไม่ถึงระบบสุขภาพ?

สำรวจสถานการณ์ "สุขภาพ" คนไทย จากสถานการณ์โควิด-19 ที่เชื่อมโยงกับกรณีไม่รู้ตัวว่าเป็น “โรคร้าย” กลายเป็นภัยเงียบที่คร่าชีวิตผู้คนมากที่สุด และชวนเช็คว่าระบบสุขภาพถ้วนหน้า คนไทยเข้าถึงแค่ไหน?

การระบาดของโควิดระลอก 3 มีอัตราการติดเชื้อและเสียชีวิตสูงกว่าระลอกที่ผ่านมา นอกจากนี้ความกังวลใจของประชาชนยังรวมไปถึงการฉีดวัคซีนโควิด-19 การตอบคำถามว่า คุณเป็น "โรคร้าย" อะไรอยู่ไหม? จึงสำคัญมาก เพราะเชื่อมโยงกับการสืบสวนโรค และประเมินผู้ติดเชื้อ คำถามต่อมาคือ คนไทยรู้ตัวแค่ไหนว่าเป็นโรคร้ายแรงอยู่? 

  • สำรวจปัญหา "โรคร้าย" ของคนไทย ผ่านสถิติโควิด-19

จากการสำรวจข้อมูลผู้เสียชีวิตในสถานการณ์โควิด-19 ระบาดในประเทศไทย ระลอก 3 (สำรวจเฉพาะช่วงวันที่ 1 เมษายน - 17 พฤษภาคม 2564) พบว่ามี 7 โรคร้ายยอดฮิต ที่มักพบในผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด นั่นคือ 

อันดับ 1 ความดันโลหิตสูง

อันดับ 2 โรคเบาหวาน

อันดับ 3 ไขมันในเลือดสูง

อันดับ 4 โรคไตเรื้อรัง

อันดับ 5 ปฏิเสธโรคประจำตัว 

อันดับ 6 โรคหัวใจ

อันดับ 7 โรคอ้วน

กลุ่มโรคเหล่านี้ ส่วนใหญ่เราคุ้นเคยและพบได้อย่างแพร่หลายในประเทศไทย ทางการแพทย์จัดกลุ่มโรคเหล่านี้ เรียกว่า กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs  (non-communicable diseases)

แต่นอกเหนือจากโรคที่เรารู้จักกันดี คงมีคำถามคาใจใครหลายคนเกี่ยวกับโรคอันดับ 5 ที่ระบุว่า ปฏิเสธโรคประจำตัว นั้นหมายความว่าอย่างไร? คำนี้ถูกใช้สำหรับการวินิจฉัยทางการแพทย์ โดยมีความหมายว่าผู้ป่วย หรือผู้เสียชีวิตไม่รู้ตัวว่าตนเองป่วยเป็นโรคต่างๆ ในขั้นตอนการสอบสวนโรคแก่แพทย์ 

ใครๆ ก็ชอบเรื่องเซอร์ไพรส์ในวันเกิด วันครบรอบ แต่อาจจะไม่ใช่กับเรื่อง "สุขภาพ" เพราะภัยเงียบที่เรียกว่า การไม่รู้ตัวว่าเป็นโรคต่างๆ  ได้ส่งผลร้าย จนถึงการคร่าชีวิตผู้คนมานักต่อนัก ดูได้ชัดจากการติดสถิติ 5 อันดับแรกในผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 เพราะถ้าหากรู้ตัว และแจ้งแพทย์ตั้งแต่เนิ่นๆ การรักษาอาจจะดำเนินการเร็วขึ้น 

  • คนไทยไม่รู้ว่าตนเองมี "โรคประจำตัว" จริงหรือ? 

การที่เราไม่รู้ว่ามีโรคประจำตัวนั้น หากมองแบบผิวเผินอาจจะคิดว่าคงมีแค่ไม่กี่คนที่ไม่รู้ตัว แต่ในความเป็นจริง ประชาชนกลุ่มนี้ใหญ่มากขึ้นในทุกๆ ปี 

เมืองไทยประกันชีวิต เผยข้อมูลโรคร้ายที่คนไทยมักเป็นกันแบบไม่รู้ตัว ได้ทั้งหมด 4 กลุ่มโรคคือ 

  • โรคมะเร็ง
  • โรคความดันโลหิตสูง 
  • โรคเบาหวาน 
  • โรคหัวใจ 

โดยกรมควบคุมโรคเปิดเผยว่า ในปี 2558 คนไทย 13 ล้านคนเป็นโรคความดันโลหิตสูง แต่เกือบครึ่ง คือร้อยละ 56% ไม่รู้ตัวว่าตนเองเป็นโรคดังกล่าว 

ซึ่งการรู้ตัวว่าตนเองเป็นโรคร้าย นอกจากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินเช่น แสดงอาการชัดเจนจนต้องหามเข้าโรงพยาบาล หนทางง่ายๆ และชัดเจนที่สุดคือการตรวจสุขภาพประจำปี 

“การตรวจสุขภาพ” คือ พื้นฐานการดูแลคุณภาพชีวิตให้ดำรงอยู่ได้นานๆ แต่หลายคนกลับยังไม่เข้าใจว่า เราต้องตรวจอะไร ตรวจเมื่อไหร่ ตรวจแล้วดีอย่างไร เพราะถ้าเปรียบร่างกายเป็นรถยนต์ การตรวจสุขภาพก็เสมือนการตรวจสภาพเครื่องยนต์ทุกปี แต่การเข้าอู่ซ่อมรถนั้น ถ้าเราไม่ทราบว่าตรงไหนที่เริ่มใช้การไม่ได้ เพื่อจะได้ซ่อมตรงจุด  เราก็เหมือนคนขับรถที่ดีแต่ขับอย่างเดียว

แต่จากสถิติการตรวจสุขภาพประจำปีของคนไทยปี 2561 กรมสนับสนุนบริการสุขภาพรายงานว่า คนไทยทั้งประเทศที่เข้ารับการตรวจสุขภาพในแต่ละปี มีเพียงแค่ 2% เท่านั้น ย้อนกลับไปปี พ.ศ.2559 พบว่าร้อยละ 59 เข้าใจผิดคิดว่าคนที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ไม่จำเป็นต้องตรวจสุขภาพประจำปี

  • คนไทยเข้าถึงการ "ตรวจสุขภาพ" แค่ไหน? 

ปัจจุบันการตรวจสุขภาพของคนไทย ครอบคลุมไปด้วยสิทธิการรักษา 4 ลักษณะ คือ 

1. สิทธิการตรวจสุขภาพของข้าราชการ สำหรับข้าราชการ ลูกจ้างประจำ หรือผู้ได้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ไม่รวมถึงบุคคลในครอบครัว) สามารถเบิกค่าตรวจสุขภาพประจำปีในสถานพยาบาลของทางราชการได้ปีละ 1 ครั้ง 

2. สิทธิการตรวจสุขภาพของผู้ประกันตน สำนักงานประกันสังคมได้มอบสิทธิการตรวจสุขภาพให้กับผู้ประกันตนเพื่อเข้ารับการตรวจสุขภาพได้ปีละ 1 ครั้งโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งสามารถรับบริการได้ โรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ

3. บัตรทองหรือบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า ปัจจุบันยังไม่มีการมอบสิทธิการตรวจสุขภาพให้กับผู้มีสิทธิ์ทั่วไปโดยตรง แต่จะเป็นในลักษณะของการเข้าพบแพทย์เพื่อคัดกรองความเสี่ยงและซักถามประวัติหรือพฤติกรรมสุขภาพเพื่อตรวจสุขภาพทั่วไปตามความจำเป็น จากนั้นจึงเป็นการส่งตรวจตามดุลยพินิจและข้อบ่งชี้ทางการแพทย์เท่านั้น

4. เข้ารับบริการตรวจสุขภาพแบบเสียเงินเอง โดยราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 900 บาทขึ้นไป 

ถึงแม้สิทธิการตรวจสุขภาพจะดูหลากหลาย แต่ปัจจุบันไทยมีประชากรทั้งประเทศ 66.56 ล้านคน ในจำนวนนี้ 5.2 แสนคน เป็นผู้มีปัญหาสถานะทางทะเบียน ทำให้เป็นคนไทยที่ไม่มีบัตรประชาชนอีก 5.2 แสนคน ไม่สามารถเข้าถึงและใช้สิทธิขั้นพื้นฐาน ทั้งการรักษาพยาบาล หรือสวัสดิการอื่นๆ ของรัฐได้

นอกจากนี้ เมื่อสำรวจค่าแรงขั้นต่ำคนไทยปี 2563 เฉลี่ยเริ่มต้นที่ 313 บาทต่อวัน ตกชั่วโมงละ 40 บาท นับว่ายังคงมีระยะห่างทางราคาที่เอื้อมถึงยากอยู่เช่นกัน 

----------------------------

ที่มา : 

สำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย 

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ 

4 กลุ่มโรคร้ายสุดฮิตที่พบในคนไทยบ่อยๆ

บริษัท เมดิคอลไลน์ แล็บ 

กรมควบคุมโรค

สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ)

สถิติรายได้และรายจ่ายของครัวเรือน