สยามคานาเดี่ยนแตกไลน์‘ฟู้ดดีฮับ’ ลุยตลาด‘อาหารแช่แข็ง-ออนไลน์’
“ฟู้ดดีฮับ” หมากรบใหม่ “สยาม คานาเดี่ยน” ระดมสินค้าอาหารแช่แข็ง เจาะออนไลน์ ตอบไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคอยู่บ้าน ชอปปิงผ่านปลายนิ้ว แก้โจทย์โควิดฉุดยอดขายลูกค้าฟู้ดเซอร์วิสหาย 40-45%
นายชัยพัฒน์ คุณาภิวัฒน์กุล ผู้อำนวยการฝ่ายขายประจำประเทศไทย ฟู้ดดีฮับ (FoodDeeHub) ภายใต้กลุ่มบริษัท สยาม คานาเดี่ยน กรุ๊ป จำกัด เปิดเผยว่า ภาพรวมธุรกิจนำเข้าและส่งออกอาหารแช่แข็งระดับพรีเมียมของบริษัทในปีที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากโรคโควิดระบาดเล็กน้อย โดยตลาดส่งออกกว่า 70 ประเทศทั่วโลก มีการหดตัวและเติบโตแตกต่างกันไป ช่องทางที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจร้านอาหารหรือฟู้ดเซอร์วิส เนื่องจากหลายประเทศมีมาตรการล็อกดาวน์ ส่วนช่องทางค้าปลีกยังขยายตัว เมื่อประชาชนต้องกักตัว อยู่บ้าน ทำงานที่บ้าน ทำให้ความต้องการซื้ออาหารไปบริโภคที่บ้านมากขึ้น
ส่วนตลาดในประเทศไทย ช่องทางฟู้ดเซอร์วิส ได้รับผลกระทบหนักเช่นกัน มีอัตราการหดตัวลงประมาณ 40-45% เพราะร้านอาหารต่างมีข้อจำกัดในการเปิดให้บริการ รวมถึงกลุ่มโรงแรม ซึ่งเป็นลูกค้าหลัก ภาพรวมปีนี้จึงค่อนข้างเหนื่อย การฟื้นตัวกลับมาค่อนข้างยาก ส่วนกลุ่มลูกค้าผู้ผลิตอาหารยังต้องการวัตถุดิบไปผลิตสินค้า ทำให้ยังมีโอกาสขยายตัว
ทั้งนี้ จากผลกระทบของโรคโควิด-19 ประกอบกับบริษัทวางแผนธุรกิจในการรุกตลาดออนไลน์มาระยะแต่ยังไม่ได้ดำเนินการ จึงใช้จังหวะนี้ปั้น “ฟู้ดดีฮับ”เพื่อจำหน่ายอาหารแช่แข็งผ่านออนไลน์เต็มรูปแบบ และมุ่งเจาะผู้บริโภคทั่วไปหรือบีทูซี จากที่ผ่านมาธุรกิจหลักของบริษัทเน้นเจาะลูกค้าภาคธุรกิจหรือบีทูบี โดยความเชี่ยวชาญในธุรกิจ 34ปี จะสร้างแต้มต่อธุรกิจใหม่อย่างดี
“ปีก่อนโรคโควิดระบาดส่งผลกระทบต่อลูกค้าฟู้ดเซอร์วิส หรือร้านอาหารต่างๆ โรงแรม บริษัทจึงมองหาโอกาสใหม่ โดยใช้โมเดลธุรกิจอีคอมเมิร์ซ เพื่อหารายได้ชดเชยส่วนที่หายไปจากวิกฤติ และเป้าหมายสูงสุด ฟู้ดดีฮับต้องการเป็นฮับออนไลน์อาหารพรีเมียมทั้งหมวดอาหารพร้อมทานและพร้อมปรุง”
สำหรับสินค้าที่จำหน่ายบนแพลตฟอร์มฟู้ดดีฮับ มี 5 กลุ่ม ได้แก่ 1.อาหารทะเลสดแช่แข็งแบรนด์ เนเชอรัล โคสต์ 2.เบเกอรี่แช่แข็งแบรนด์คลับ กูร์เมต์ 3.อาหารทะเลและเนื้อสัตว์ทำจากพืชหรือแพลนท์เบส 4.อาหารทานเล่น และ5.เนื้อสัตว์ เช่น เนื้อวัว เนื้อแกะนำเข้าฯ เบื้องต้นมีสินค้า 50 รายการ(เอสเคยู) และใน 1 ปีครึ่งจะเพิ่มเป็น 100-120 เอสเคยู
ขณะที่การเลือกทำตลาดอาหารแช่แข็งเพราะถือเป็นตลาดใหญ่ โดยระดับโลกตลาดมีมูลค่า 306,000 ล้านดอลลาร์ เติบโตเฉลี่ย 4.1% ส่วนในไทยเติบโตสูงกว่าตลาด เฉลี่ยที่ 5.9% ต่อเนื่องถึงปี 2566 ด้านตลาดเแพลนท์เบสถือเป็นเมกะเทรนด์ และมูลค่าตลาดอยู่ที่ 20,000-40,000 ล้านดอลลาร์ เติบโตเฉลี่ย 13.1% ส่วนในไทยคาดการณ์ปี 2567 มูลค่าจะแตะ 45,000 ล้านบาท จากปี 2563 อยู่ที่ 28,000 ล้านบาท รวมถึงกลุ่มอาหารพร้อมทาน อาหารพร้อมปรุงในไทยมีมูลค่าตลาด 20,200-20,500 ล้านบาท เติบโต 3-5%
“ตลาดอาหารแช่แข็งในประเทศไทยยังมีความน่าสนใจ มีศักยภาพในการเติบโต ขณะที่พฤติกรรมการอยู่บ้านมากขึ้น คาดว่าจะเป็นปัจจัยผลักดันให้ผู้บริโภคซื้ออาหารพร้อมทาน อาหารพร้อมปรุง ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น”
อย่างไรก็ตาม ฟู้ดดีฮับลองทำตลาดมา 6 เดือน สามารถขยายสู่ 36 จังหวัดแล้ว ส่วนเป้าหมายรายได้ปีแรกตั้งไว้ 3 ล้านบาท และเพิ่มเป็น 10-12 ล้านบาท ภายในปี 2566 ช่วยผลักดันรายได้ของสยาม คานาเดี่ยนฯ เติบโตต่อเนื่อง โดยปี 2564 คาดว่ารายได้ในไทยจะอยู่ที่ 380 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยจากปีก่อน 420 ล้านบาท ขณะที่ภาพรวมทั้งกลุ่มมีรายได้รวมราว 300 ล้านดอลลาร์ ค่อนข้างทรงตัว บางปียอดขายดีจะแตะ 310 ล้านดอลลาร์ บางปีหดตัวมียอดขาย 270 ล้านดอลลาร์