“หุ้นขนส่งสินค้า” ร้อนแรงนิวไฮยกกลุ่ม วิกฤติตู้คอนเทนเนอร์รีเทินร์
สถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 เห็นการลุกลามในเอเชียมากขึ้นในหลายประเทศ จนส่งผลทำให้เริ่มกลับมาใช้มาตรการเข้มงวด เช่น “ล็อกดาวน์ ” และ “จำกัดพื้นที่เสี่ยง “ จนทำให้เกิดผลกระทบเป็นห่วงโซ่ตามมาด้านการขนส่งสินค้า
โดยอ้างอิงจากดัชนีค่าระวางเรือ (BDI) ยังทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่อง ตัวเลขทำสถิติสูงสุดในรอบ 10 ปี อยู่ที่ 2,319 จุด (24 มี.ค.64) ส่งผลต่อค่าระวางเรือจากไทยไปยุโรปเดิมเก็บ 700-900 เหรียญต่อตู้ ส่วนค่าระวางเรือจากไทยไปสหรัฐ เดิมเก็บ 1,000-1,500 เหรียญต่อตู้ ปรับเพิ่มเป็น 3,200 เหรียญต่อตู้ช่วงเดือน ม.ค. 2564
ถัดมาคือ ดัชนีค่าระวางเรือคอนเทนเนอร์ (Shanghai Containerized Freight index: SCFI) ที่เป็นตัวชี้วัดกิจกรรมการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ล่าสุดทำจุดสูงสุดใหม่อยู่ที่ 3,495.76 จุด (28 พ.ค. 64) เปลี่ยนแปลงมากถึง 289 % จากช่วงเดียวกันปีก่อน
โดยเป็นการทำสถิติใหม่ต่อเนื่องแทบรายไตรมาส จากไตรมาส 1 ปี 2563 อยู่ที่ 931 จุด และไตรมมาส 2 ปี 2563 อยู่ที่ 897 จุด และกระโดดระดับ 2,780 จุด ในช่วงไตรมาส 1 ปี 2564 มีสาเหตุสำคัญมาจาก รัฐบาลจีนสั่งปิดท่าเรือขนสินค้าที่มีการใช้ขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์มากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เพื่อตรวจหาเชื้อโรคที่เข้ามาจากสายเรือขนส่งต่างประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นประเทศที่มีการขนส่งสินค้าจำนวนมาก
ตามมาด้วยประเทศมาเลเซีย ที่เผชิญกับความยากลำบากในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 จนต้องประกาศล็อกดาวน์ทั่วประเทศระหว่างวันที่ 1-14 มิ.ย.2564 โดยจะมีเพียงภาคเศรษฐกิจและบริการที่มีความจำเป็นเท่านั้นที่จะสามารถดำเนินการต่อไปได้หลังผู้เสียชีวิตจากโควิดมากเป็นประวัติการณ์ที่ 1,144 รายในเดือนพ.ค. ผู้ติดเชื้อใหม่ในพึ่งทำตัวเลขสถิติใหม่กว่า 9,000 ราย ทำให้ระบบสาธารณสุขของมาเลเซียใกล้ถึงจุดล้มเหลว
กระทบการขนส่งสินค้าและห่วงโซ่การผลิตหรือ “ซัพพลายเชน” ทันที โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ที่จีนมีการผลิตจำนวนมาก ซึ่งเดิมมีปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน เนื่องจากการส่งสินค้าไปสหรัฐและสหภาพยุโรปจำนวนมาก แต่ส่งสินค้ากลับมาน้อย จากตู้ที่ตกค้างอยู่ที่สหรัฐและสหภาพยุโรป
สำหรับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการขยส่งสินค้า และตู้ขนเทนเนอร์โดยตรง บริษัท อาร์ ซี แอล จำกัด (มหาชน) หรือ RCL ซึ่งให้บริการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ทางทะเล ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นมาตั้งแต่ต้นปี 283 % ราคาหุ้นทำจุดสูงสุดที่ 55.00 บาท (31 พ.ค.64) ตามคาดการณ์ดัชนีระวางจะดีตลอดทั้งปี
บริษัท ไวส์ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ WICE ดำเนินธุรกิจโลจิสติกส์ระหว่างประเทศทางทะเล-อากาศ ซึ่งบริษัทรายงานกำไรทำสถิติสูงสุด 5 ไตรมาสติดต่อกัน ส่งผลทำให้ราคาหุ้นทำสถิติสูงสุดเช่นเดียวกัน 9.55 (31 พ.ค. 64) ราคาหุ้นเพิ่มขึ้น 91.83 % ตั้งแต่ต้นปี
บริษัท ทรัพเพิล ไอ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ III ธุรกิจโลจิสติกส์ระหว่างประเทศและในประเทศ อากาศ –ทะเล-บก บริษัทมีจุดเด่นนอกเหนือจากอุตสาหกรรม คือ การเข้าลงทุนบริษัทขนสงผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์รวมทั้งวัคซีนที่สิงคโปร์ ราคาหุ้นใกล้ทดสอบไฮเดิมที่ 12.50 บาท ราคามาปิดที่ 12.20 บาท เพิ่มขึ้นจากต้นปี 84.14%
บริษัท โซนิค อินเตอร์เฟรท จำกัด (มหาชน) หรือ SONIC โลจิสติกส์ระหว่างประเทศทางทะเล-อากาศ ที่เพิ่มรายได้เปิดพื้นที่ให้บริการรับฝากตู้คอนเทนเนอร์ บริเวณแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี และปล่อยสินเชื่อให้กับพันธมิตรที่เป็นซับคอนแทรคของบริษัท มูลค่า 200 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้ซื้อรถบรรทุกเข้ามารับงานขนส่งให้กับบริษัท ราคาหุ้นเพิ่มขึ้น 150 % มาปิดที่ 3.80 บาท ใกล้ทำราคานิวไฮเดิมที่ 3.94 บาท
และ บริษัท ลีโอ โกลบอล โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LEO โลจิสติกส์อย่างครบวงจรที่ครอบคลุมทั่วโลก ราคาหุ้นทำนิวไฮเช่นกันที่ 9.95 บาท (31 พ.ค.) มาปิดที่ 9.80 บาท เพิ่มขึ้น 67.52% จากต้นปี
บริษัทหลักทรัพย์ (บล.)เอเชีย พลัส ประเมินการกลับมาระบาดโควิด-19 ในเอเซีย จนทำให้รัฐบาลมาเลเซียประกาศล็อกดาวน์ ทั้งประเทศ ในช่วง 1- 14 มิ.ย. และก่อนหน้านี้รัฐบาลจีนปิดท่าเรือ จะส่งผลกระทบทำให้ค่า Freight ระวางสินค้าปรับตัวขึ้น จากความไม่สมดุลของตู้คอนเทนเนอร์ในจีน บวกกับทิศทางราคาน้ำมันฟื้นตัวจากความต้องการใช้ทำให้น้ำมันโลกสูงขึ้น
โดยฝ่ายวิจัยแนะนำเก็งกำไรหุ้นกลุ่มที่จะได้รับประโยชน์โดยตรง คือ กลุ่มเรือขนส่งตู้คอนเทนเนอร์อย่างหุ้น RCL รวมถึงหุ้นขนส่งต่างประเทศที่มีบริการ SEA Freight คือ WICE, III, SONIC, และ LEO