‘สุพัฒนพงษ์’ ยันเกาะติดราคาน้ำมันพร้อมใช้กลไกกองทุนฯพยุงหากราคาพุ่ง
"สุพัฒนพงษ์” แจงสภาฯ ยันเดินหน้าส่งเสริมเอกชน-ประชาชน ผลิตและใช้พลังงานทดแทน เข้าเป้า 18.5% ในปี 2565 หนุนเป็นผู้นำในอาเซียน แม้ถูกลดงบประมาณ พร้อมใช้กลไกกองทุนน้ำมันฯ บรรเทาความเดือดร้อนประชาชน หากราคาตลาดโลกพุ่ง
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวชี้แจงในการประชุมสภาฯ ร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายปี พ.ศ. 2565 วันนี้( 2 มิ.ย. 64) โดยระบุว่า เมื่อช่วงเช้าสมาชิกฯได้แสดงความห่วงใยเรื่องของงบประมาณกระทรวงพลังงานในส่วนที่จะดูแลพลังงานทดแทน หลังจากที่เห็นว่าได้มีการลดลงไป ทางกระทรวงพลังงาน ยืนยัน ถึงแม้ว่างบในส่วนนี้จะลดลงไปแต่ยังคงเดินหน้าขับเคลื่อนผลักดันนโยบายส่งเสริมการลงทุนเพื่อสนับสนุนให้เอกชน ประชาชนได้ผลิตและใช้พลังงานทดแทนให้เป็นไปตามเป้าหมายที่จะเพิ่มจาก 15.54% เป็น 18.5% ในปี 2565 ซึ่งก็ยังดำรงความเป็นผู้นำทางด้านการผลิตและใช้พลังงานทดแทน หรือ พลังงานหมุนเวียนของประเทศภายในภูมิภาคอาเซียนต่อไปได้
ส่วนข้อเสนอแนะการสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้า(EV) รัฐบาลมีการตั้งเป้าอย่างไร ตรงนี้เองได้เรียนท่านประธานสภาฯผ่านไปยังสมาชิกผู้ทรงเกียรติ กระทรวงพลังงานร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมได้ทำงานในเรื่องนี้โดยนำข้อคิดเห็นของคณะกรรมาธิการต่างๆเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้าเข้ามาพิจารณาในคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2564 และกำหนดเป้าหมาย นโยบาย 30/30 ซึ่งจะมีการผลิตรถยนต์ในประเทศที่เป็นรถที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะจากการใช้งาน หรือ Zero Emission Vehicle (ZEV) ที่จะไม่ปล่อยสารคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่บรรยากาศ โดยจะเป็นยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์นั่งและรถกระบะทั้งสิ้น 725,000 คัน ประเภทรถจักรยานยนต์จะมีการผลิตทั้งสิ้น 675,000 คัน และประเภทรถบัส/รถบรรทุก ร่วมอยู่ด้วย ซึ่งนี้ก็คือนโยบายในเรื่องของนโยบาย 30/30 โดย 30% ของรถยนต์ที่ผลิตในประเทศจะเป็น ZEV หรือ รถยนต์ไฟฟ้า ในปี 2573 หรือ ปี(ค.ศ.2030)
นอกจากนี้ ยังกำหนดเป้าหมาย Ecosystem พอมีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าตามเป้าหมายดังกล่าวแล้ว และมีการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในจำนวนดังกล่าว คณะกรรมการฯ ยังได้กำหนดเป้าหมายการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าสาธารณะกระจายทั่วประเทศภายในปี 2573 สำหรับรถยนต์นั่งและรถกระบะในลักษณะ Fast Change หรือ ชาร์จเร็ว จะมีจำนวนทั้งสิ้น 12,000 หัวจ่าย และสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ (Battery Swap) ให้กับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้ารับจ้างและส่งสินค้า Delivery จำนวนทั้งสิ้น 1,450 แห่ง
รวมถึงยังดูเรื่องมาตรการฐานความปลอดภัยและระบบไฟฟ้าทั้งระบบเพื่อให้รองรับการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้นในอนาคตของประเทศ รวมถึงความคาดหวังที่จะมีการผลิตแบตเตอรี่ในเมืองไทยที่จะเป็นกิกกะแพลนเพื่อสนองความต้องการหรือการใช้รถยนต์ไฟฟ้าตามที่กล่าวไว้ในข้างต้น
นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวอีกว่า ยังมีสมาชิกฯได้มีข้อซักถามในเรื่องของภาระผูกพันของกระทรวงพลังงานในส่วนของค่าเช่าสำนักงาน ซึ่งก็เป็นค่าเช่าที่ได้ลงนามในสัญญาระยะยาว อันนี้ก็เป็นการใช้พื้นที่เดิมในปัจจุบัน ของกระทรวงพลังงาน ค่าใช้จ่ายก็ไม่ได้เพิ่มขึ้น เป็นค่าใช้จ่ายคงที่ และก็เป็นพื้นที่ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันไม่ใช่เป็นรายการเพิ่มเติมอะไรขึ้นมา
สำหรับเมื่อวานนี้(1มิ.ย.2564) ก็มีสมาชิกฯ มีความห่วงใยในเรื่องของราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มขึ้นสูงตามราคาตลาดโลก ก็มีความเป็นห่วงเป็นใยว่า จะมีความเดือดร้อนกับประชาชน กระทรวงพลังงานเองได้ติดตามดูแลต้นทุนราคาพลังงาน โดยเฉพาะน้ำมันที่เพิ่มขึ้นอยู่ทุกวัน ได้เตรียมพร้อมมาตรการรองรับบรรเทาความเดือดร้อนประชาชนในสถานการณ์ที่ราคาพลังงานมีความผันผวน ทางการกลไกกองทุนน้ำมันฯที่มีคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นผู้พิจารณากำหนดอัตราเงินเข้ากองทุนฯหรือออกกองทุนฯเพื่อพยุงราคาให้อยู่ในระดับที่บรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน อันนี้ก็พยายามจะทำเต็มที่ตามข้อเสนอแนะของสมาชิกสภาผู้ทรงเกียรติที่ได้กล่าวมาเมื่อวานนี้