ตลท.ยันฐานะบจ.ไทยแข็งแกร่ง ปรับกลยุทธ์สู้โควิด-19
“ตลท.” เผยฐานะการเงินบจ.ยังแข็งแกร่ง ดี/อีต่ำ แม้รับผลกระทบโควิด หลังปรับตัวลดต้นทุน-เพิ่มช่องทางขายผ่านดิจิทัล “แมนพงศ์” ประเมิน หากโควิดลากยาวบจ.อ่วม เหตุการลดค่าใช้จ่ายมีขีดจำกัด
นายแมนพงศ์ เสนาณรงค์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบที่ 3 พบว่าบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง สะท้อนจากอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E Ratio) ของ บจ. SET และ mai อยู่ที่ 1.58 เท่า แต่ยอมรับว่าความสามารถในการทำกำไรและยอดขายมีแนวโน้มปรับตัวลดลงต่อเนื่องประมาณ 3-4 ไตรมาส ตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 ในไตรมาส 2 ปี 2563
อย่างไรก็ดี ในไตรมาส 1 ปี 2564 ที่ผ่านมา บจ.กลับมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญถึง 229.8% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มาอยู่ที่ 257,266 ล้านบาท โดยหลักมาจากปัจจัยหนุนที่ราคาน้ำมันดิบโลกปรับตัวขึ้นสูง ส่งผลให้กลุ่มพลังงานมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจากกำไรสต็อกน้ำมัน (Stock Gain) แต่หากไม่รวมผลการดำเนินงานของกลุ่มพลังงาน พบว่ายอดขายและกำไรสุทธิอยู่ในเกณฑ์ทรงตัว หรือปรับตัวลงไม่ถึง 1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ยังไม่มีการระบาดของโควิด-19 ถือว่าผลงานยังแข็งแกร่ง
นอกจากนี้ ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ บจ.ยังมีความสามารถทำกำไรในไตรมาส1ที่ผ่านมา เพราะบจ.มีการปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดจากสถานการณ์โควิด-19 ผ่านการลดค่าใช้จ่าย หรือการลดต้นทุนการดำเนินงาน โดยไตรมาส 1 ปี 2564 พบว่าค่าใช้จ่ายของ บจ.ลดลงอย่างมีนัยประมาณ 7% อีกทั้งยังมีการปรับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจผ่านการเพิ่มช่องทางการขายทั้งในและต่างประเทศ และการขยายตลาดผ่านช่องทางดิจิทัล เพื่อให้ได้ต้นทุนที่ลดลงกว่าเดิม
“อย่างไรก็ดี สถานการณ์โควิด-19 ยังเป็นความเสี่ยงหลักต่อความสามารถในการทำกำไรของ บจ. เพราะการปรับตัว เช่น การลดค่าใช้จ่าย คงมีขีดจำกัด แต่หากสามารถควบคุมการระบาดได้ดีก็จะเป็นผลบวกให้ยอดขาย บจ.ปรับตัวเพิ่มขึ้น อย่างการระบาดรอบแรกที่สามารถคุมสถานการณ์ได้ อาจส่งผลบวกให้กำไร บจ.ปรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่มีการระบาด”
ส่วนโครงการช่วยเหลือ บจ.ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ผ่านการลดค่าธรรมเนียมตามที่ได้ประกาศไปตั้งแต่ปี 2563 และประกาศขยายระยะเวลาให้ความช่วยเหลือในต้นปีที่ผ่านมา เช่นการลดค่าธรรมเนียมนายทะเบียน (TSD Annual Registrar Fee) 10% สำหรับหลักทรัพย์จดทะเบียนใน SET และ mai หรือการลดค่าธรรมเนียม บจ.รายปีสูงสุด 20% ไม่เกิน 200,000 บาท แก่ บจ.ที่ให้ข้อมูลแก่ผู้ลงทุนผ่านกิจกรรมให้ข้อมูลนักลงทุน (Opportunity Day) เป็นต้น ยังให้ความช่วยเหลือต่อเนื่องจนถึงสิ้นปีนี้
ขณะที่ความช่วยเหลือด้านอื่นๆ จะเน้นอำนวยความสะดวกผ่านการให้บริการบนช่องทางออนไลน์ (e-Service) ที่จำเป็นแก่ บจ. เช่น การประชุมผู้ถือหุ้นผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-AGM) เพื่อลดการเดินทางของผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังไม่มีแผนออกมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมจากที่ได้ประกาศไปแล้ว เพราะมองว่า บจ.ในตลาดหุ้น SET และ mai ยังมีเครื่องมือระดมทุนหลากหลายช่องทาง เช่น เงินกู้จากสถาบันการเงิน การระดมทุนผ่านหุ้นกู้ หรือการเพิ่มทุน เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ตลท.จะหันมาช่วยเหลือธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และมีช่องทางการระดมทุนที่จำกัด ผ่านการช่วยเหลือบนแพลตฟอร์มระดมทุน “LiVE Platform” ได้แก่ การให้ความรู้ผู้ประกอบการ (Education) และการเสริมสร้างการเติบโตแก่ธุรกิจ (Scaling Up) รวมถึงมีเงินทุนสำหรับผู้ประกอบการที่มีศักยภาพเพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจผ่านช่วงโควิด-19 ไปได้ ขณะที่การระดมทุนผ่านกระดานหุ้น SME ตามที่เป็นข่าวไปก่อนหน้า นี้คาดว่าจะทำได้ภายในไตรมาส 4 ปี 2564