'คำนูณ' แนะ 'รัฐบาล' คิดให้ดีก่อนเพิ่มสัดส่วน 'หนี้สาธารณะ' ต่อจีพีดี ชี้มีผลทางการเมือง

'คำนูณ' แนะ 'รัฐบาล' คิดให้ดีก่อนเพิ่มสัดส่วน 'หนี้สาธารณะ' ต่อจีพีดี ชี้มีผลทางการเมือง

ส.ว.คำนูณ ให้ความเห็นตัวเลขการกู้เงินของรัฐบาล ปี 2563- 2565 รวมกว่า 2.4 ล้านล้านบาท เกือบเท่า1 ปีงบประมาณ เชื่อเกินกรอบหนี้สาธารณะตามกฎหมายปี66

        นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. ให้ความเห็นต่อกฎหมายการเงินของรัฐบาล ว่า พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้ยืมเงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ.2564 ซึ่งสภาผู้แทนราษฎร นัดพิจารณา ในวันที่ 9 มิถุนายน  หากสภาฯ จะพิจารณาอนุมัติวันที่ 9 มิถุนายน จากนั้นจะเข้าสู่วาระรของวุฒิสภา วันที่ 14 มิถุนายน  และ เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน สภาฯ ลงมติรับหลักการร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ซึ่งมีรายละเอียดกำหนดว่าเป็นงบประมาณขาดดุล รายจ่ายมากกว่ารายได้ ต้องกู้เงินเพิ่มอีก 7 แสนล้านบาท เพื่อชดเชย ซึ่งยอดกู้ จำนวน 7 แสนล้านบาท ถือว่าสูงสุดเต็มวงเงิน ที่พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 มาตรา 21 กำหนด
        "ตั้งแต่บัดนี้ไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2565 จะมียอดกู้เงิน 2 ยอดทั้งนอกและในงบประมาณเท่ากับ 5 แสนล้านบาท บวกกับ  7 แสนล้านบาท รวมเป็นเงินกู้ 1.2 ล้านล้านบาท ขณะเดียวกันในปี 2563 - 2564 รัฐบาลเคยออกกฎหมายกู้เงิน โดยเป็นเงินนอกงบประมาณ 1 ล้านล้านบาท และกู้เงินในพ.ร.บ.งบฯ ประมาณ 6.08 แสนล้านบาท รวมเป็นเงินกู้ ทั้งสิ้น  1.6 ล้านล้านบาท ทำให้ยอดกู้เงินของรัฐบาล ตั้งแต่ปี 2563 - 2565 รวมกันทั้งสิ้น 2.8 ล้านล้านบาท ซึ่งเกือบเท่างบประมาณรายจ่าย 1 ปีงบประมาณ หรือมากกว่างบลงทุน รวมกันถึง 4 ปีงบประมาณ” นายคำนูณ ระบุ

        นายคำนูณ กล่าวด้วยโดยเชื่อว่าสถานการณ์งบปี 2566 จากการระบาดของโควิด-19 ที่กระทบต่อการหารายได้ จะทำให้ต้องกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลเต็มวงเงินที่พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 มาตรา 20 (1) กำหนดไว้ และจะทำให้รัฐบาลต้องปิดหีบงบประมาณ ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลังระบุว่าไม่ต้องห่วงว่าจะไม่มีเงินใช้ในโครงการอื่น ๆ เพราะสามารถกู้เงินเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมตามพ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 มาตรา 22 ที่ตนเชื่อว่าจะทำให้ประเทศมียอดหนี้สาธารณะ เกินกว่ากรอบกฎหมายกำหนดที่ ไม่เกิน 60 % ของจีดีพี  ดังนั้นความเป็นไปได้ เชื่อว่า คณะกรรมการวินัยการเงินการคลังของรัฐที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธาน จะมีมติขยายสัดส่วนหนี้ โดยใช้มติของคณะกรรมการ ไม่ผ่านสภาฯ และไม่ต้องแก้กฎหมาย
 
 
        "ประกาศคณะกรรมการวินัยการเงินการคลังของรัฐ เรื่อง กำหนดกรอบในการบริหารหนี้สาธารณะ ลงวันที่ 7 มิถุนายน 2561 ตีพิมพ์ลงราชกิจจานุเบกษาวันที่ 22 มิถุนายน 2561 ระบุให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2561  ต้องมีการทบทวนอย่างน้อยทุก 3 ปี   ซึ่งครบกำหนดภายในปี 2564   ซึ่งรัฐบาลต้องคิดให้หนัก เพราะการปรับสัดส่วนดังกล่าว เสมือนตัวเลขทางจิตวิทยา และตัวเลขทางการเมือง” นายคำนูณ ระบุ.