กก.นโยบายประมงฯเห็นชอบแผนระดับชาติIUU ขยายเวลาต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักร
"ประวิตร" นั่งหัวโต๊ะ ถก คกก.นโยบายประมงแห่งชาติ ติดตามความคืบหน้าแก้ประมงผิดกม. มาตรการ MMPA เผย เยียวยา ผู้ทำประมงกว่า 2.8 พันล้าน ขยายเวลาต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักร เห็นชอบแผนระดับชาติ IUU ฉบับ2 เร่งดำเนินคดีรวดเร็ว เป็นธรรม
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2564 ที่ห้องประชุมวิจิตรวาทการ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ทำเนียบรัฐบาล โดยที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้า การแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย อาทิ การจดทะเบียนเรือประมงพื้นบ้าน จากการสำรวจเมื่อ 20 พ.ค.64 มีจำนวน 56,087 ลำ ซึ่งกรมเจ้าท่า เป็นหน่วยงานหลักจะดำเนินการตรวจวัด และจัดทำอัตลักษณ์เรือประมงพื้นบ้านให้แล้วเสร็จใน 31 พ.ค.64 รวมทั้งรับทราบความคืบหน้าแนวทางตามมาตรการ MMPA (Marine Mammal Protection Act) ซึ่งเป็นการควบคุมสินค้าประมง ที่ไม่มีแหล่งมาจากการทำประมง ที่มีผลกระทบต่อการคร่าชีวิต หรือทำให้บาดเจ็บอย่างรุนแรง แก่สัตว์ทะเลที่เลี้ยงลูกด้วยนม และจะส่งสินค้าเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ ตั้งแต่ 1 ม.ค.66 พร้อมทั้งได้รับทราบผลการช่วยเหลือเยียวยาผู้ทำการประมง จำนวน 188,134 ราย เป็นเงิน 2,822,010,000 บาท และขยายเวลาชั่วคราว แรงงานต่างด้าวภาคประมง ให้อยู่ในราชอาณาจักร สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก โควิด-19 อย่างทั่วถึงเป็นธรรม
นอกจากนั้น คณะกรรมการฯ ได้ร่วมกันพิจารณาเห็นชอบแผนการบริหารจัดการประมงทะเลของประเทศไทย พ.ศ.2563-2565 โดยมุ่งจัดการประมงให้ยั่งยืนภายใต้ความเป็นอยู่ และสิ่งแวดล้อมที่ดี รวมถึงเห็นชอบแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วย การป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำประมง IUU (NPOA-IUU) ฉบับที่ 2 เพื่อปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสม และครอบคลุมกิจกรรมการทำประมงทะเล ทุกมิติ พร้อมทั้งเห็นชอบมาตรการ เร่งรัดดำเนินคดีตามกฎหมายว่าด้วยการทำประมงและแรงงานในภาคประมง เพื่อให้ได้ผลทางคดี ที่มีความรวดเร็ว และเป็นธรรม
พล.อ.ประวิตร ได้ย้ำว่ารัฐบาล ยืนยัน ความมุ่งมั่นที่จะต่อต้าน IUU Fishing มาอย่างต่อเนื่องภายใต้กรอบ EU และสหรัฐฯ เพื่อยกระดับการทำประมงของไทยสู่มาตรฐานสากล โดยมุ่งแก้ปัญหาให้ได้อย่างยั่งยืน และได้กำชับ กรมประมง,กรมเจ้าท่า,ศรชล.,สตช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้บูรณาการทำงานอย่างแน่นแฟ้น ขับเคลื่อนนโยบายตามมติที่ประชุม และแผนงานที่กำหนดไว้ให้บรรลุผลสำเร็จ พร้อมขอให้สร้างการรับรู้ให้ทุกภาคส่วน ได้รับทราบ ซึ่งจะส่งผลดี ต่อภาพลักษณ์ของไทย และส่งเสริมภาคการส่งออก รองรับการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป