'กรมสมเด็จพระเทพฯ' ทรงติดตามความก้าวหน้าโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เพชรบุรี
“กรมสมเด็จพระเทพฯ” ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ติดตามความก้าวหน้าโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี
วันนี้ (4 มิ.ย.64) เพจ สำนักงานกปร. เผยแพร่พระบรมฉายาลักษณ์และข้อความว่า สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ติดตามความก้าวหน้าโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี
เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2564 เวลา 12.30 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี โดยนายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พร้อมด้วยพลอากาศเอกชลิต พุกผาสุข องคมนตรี และนายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี ในฐานะรองประธาน ฯ นายดนุชา สินธวานนท์ เลขาธิการ กปร. ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเฝ้าฯ รับเสด็จ
โอกาสนี้ ได้รับฟังการรายงานการดำเนินงานสนองพระราชดำริ ผลการดำเนินงาน และผลสัมฤทธิ์ของโครงการ รวมถึงแนวทางในการดำเนินงานต่อไป เพื่อสืบสาน รักษา และต่อยอดการพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลจากการพัฒนาดิน น้ำ ป่าไม้ และการเกษตร เพื่อประโยชน์สูงสุดอันจะสร้างความมั่นคงในการดำรงชีวิตให้แก่ประชาชน ชุมชน และสังคมตลอดไป จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรแปลงศึกษาทดลองศักยภาพของหญ้าแฝกในการพัฒนาดินที่แข็งเป็นดาน ให้สามารถปลูกพืชไม้ยืนต้นและไม้ผลให้เจริญเติบโตเป็นป่าที่สร้างความสมดุลคืนสู่ธรรมชาติอีกครั้ง
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานพระราชดำริ ตั้งแต่ ปี 2526 ความว่า
“...ให้พัฒนาพื้นที่เป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนาด้านการเกษตรกรรม โดยเน้นการปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูสภาพป่าไม้ให้กลับอุดมสมบูรณ์ดังเดิม สามารถทำการปลูกพืชชนิดต่าง ๆ ควบคู่ไปกับการปลูกป่า จัดหาแหล่งน้ำสนับสนุนการปลูกป่า และการเพาะปลูกพืช จัดระเบียบให้ราษฎรในพื้นที่โครงการให้เข้าอยู่อาศัย และทำกินอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการและสอดคล้องกับธรรมชาติ ให้ราษฎรเข้าร่วมดูแลรักษา ตลอดจนได้อาศัยผลผลิตจากป่าและเพาะปลูกพืชต่าง ๆ โดยไม่ต้องเข้าไปบุกรุกทำลายป่าไม้อีกต่อไป...”
นอกจากนี้ยังได้พระราชทานพระราชดำริในการพัฒนาด้านต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่องและได้เสด็จพระราชดำเนินมายังพื้นที่แห่งนี้ มากถึง 11 ครั้ง ปัจจุบัน ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ มีผลการศึกษา ทดลอง วิจัย ในด้านต่าง ๆ ถึง 91 เรื่อง โดยจัดทำเป็นหลักสูตรการฝึกอบรม จำนวน 8 หลักสูตร และจัดทำเป็นเอกสารเผยแพร่ จำนวน 48 เรื่อง ผลงานล่าสุด คือจัดทำคู่มือการจัดการพื้นที่ 5 ไร่ ให้อยู่อย่างยั่งยืนได้อย่างไร ด้านการพัฒนาฟื้นฟูสภาพดินและหญ้าแฝกโดยต่อยอดองค์ความรู้จากการศึกษา ทดลอง วิจัยในการปรับปรุงบำรุงดิน โดยใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ปุ๋ยพืชสดและน้ำหมักชีวภาพจากผลิตภัณฑ์สารเร่ง พด.
นอกจากนี้ ในด้านการพัฒนาที่ดิน ได้จัดทำแปลงเรียนรู้เรื่องหญ้าแฝก 28 สายพันธุ์ และการใช้หญ้าแฝกร่วมกับการปลูกพืชในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ การปลูกหญ้าแฝกแบบวงกลม ครึ่งวงกลม และ V คว่ำ เพื่อการจัดการดินและน้ำตามแนวพระราชดำริ ด้านการพัฒนาแหล่งน้ำ ได้ดำเนินการในลักษณะเครือข่ายอ่างเก็บน้ำ หรืออ่างพวง เพื่อการบริหารจัดการน้ำอย่างเหมาะสมและพอเพียงตลอดทั้งปี
ด้านการฟื้นฟูสภาพป่าไม้ ดำเนินการปลูกป่าด้วยวิธี ป่าเปียกหรือภูเขาป่า โดยจัดสร้างสถานีสูบน้ำในระดับที่สูงสุดเท่าที่จะส่งน้ำขึ้นไปได้และสร้างบ่อพักน้ำเพื่อกระจายน้ำลงด้านล่างเพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้แก่ผืนป่า รวมทั้งการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง จากการพัฒนาที่ผ่านมาตลอด 38 ปี พบว่า สังคมป่าไม้ สังคมพืช เปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นสภาพป่าฟื้นตัวกลับคืนมา โดยป่าเต็งรังเพิ่มขึ้นร้อยละ 35.84 ป่าเบญจพรรณเพิ่มขึ้นร้อยละ 46.10 และสังคมพืชริมน้ำเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.02
นอกจากนี้ยังพบว่ามีนกและสัตว์ป่ามีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นดัชนีชี้วัดถึงความสมบูรณ์ของผืนป่า ปริมาณน้ำใต้ดินมีมากขึ้น สำหรับการพัฒนาด้านการเกษตร ได้จัดทำแปลงสาธิตการทำเกษตรผสมผสาน ไร่นาสวนผสม แปลงรวบรวมพันธุ์ไม้ผล และแปลงเกษตรทฤษฎีใหม่ในพื้นที่ 5 ไร่ เพื่อเป็นตัวอย่างการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง นอกจากพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนแล้ว ยังสามารถรวมกลุ่มและบริหารจัดการด้านการตลาด อันเป็นการทำการเกษตรตามแนวพระราชดำริทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 2 เป็นขั้นก้าวหน้าที่จะสร้างความมั่นคงยิ่งขึ้น
ด้านการขยายผลการพัฒนาถ่ายทอดองค์ความรู้ ได้ขยายผลการศึกษาทดลองไปสู่หมู่บ้านรอบศูนย์ฯ จำนวน 29 หมู่บ้าน รวม 4,719 ครัวเรือน อีกทั้งมีศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริในพื้นที่หมู่บ้านรอบศูนย์ จำนวน 8 แห่ง โดยศูนย์ฯ จะเป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำในเรื่องต่าง ๆ ให้กับประชาชนที่สนใจ โดยในปี 2563 ศูนย์ฯ ได้มีการฝึกอบรมหลักสูตรต่าง ๆ เช่น การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร การทำเกษตรผสมผสาน การเลี้ยงสัตว์ปีก ให้แก่ประชาชนที่สนใจ รวมทั้งสิ้น จำนวน 801 คน
นอกจากนี้ยังได้ดำเนินการสนองพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในการจัดฝึกอบรมให้ความรู้การเลี้ยงไก่และสูตรอาหารไก่ไข่ให้แก่ครูนักเรียนของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนนเรศวรบ้านห้วยโสก โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านโป่งลึก จังหวัดเพชรบุรี
รวมทั้งได้สนับสนุนโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนอีกถึงจำนวน 17 แห่ง และในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ศูนย์ฯ ได้สนับสนุนปัจจัยการผลิต ได้แก่ เมล็ดพันธุ์ผัก กล้าพันธุ์ไม้ผล ก้อนเชื้อเห็ด พันธุ์สัตว์ ให้แก่ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างต่อเนื่องอีกด้วย
จากนั้น ทอดพระเนตรกิจกรรมต่าง ๆ ภายในศูนย์ฯ โดยรถรางพระที่นั่ง ทั้งการพัฒนาดิน ป่าไม้ แหล่งน้ำ และการเกษตร รวมถึงทอดพระเนตรกิจกรรมการจำหน่ายต้นไม้และสินค้าเกษตร การผลิตน้ำส้มควันไม้เพื่อจำหน่ายเป็นรายได้เสริมของนักเรียนจากศูนย์ฝึกอาชีพเยาวชนเกษตร ต่อมาเสด็จฯ ไปยังห้องรับรองคณะศึกษาดูงาน โดยมีผู้แทนจากกรมพัฒนาที่ดิน กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร กราบบังคมทูลการดำเนินงาน ผลสัมฤทธิ์ และการขยายผลองค์ความรู้จากการพัฒนาสู่ประชาชนในลักษณะพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต
โอกาสนี้ เสด็จฯ ไปทรงเปิดอาคารศูนย์จำหน่ายสินค้าของเกษตรกร และหัตถกรรม พร้อมกับทอดพระเนตรสินค้า โดยศูนย์แสดงสินค้าฯ สร้างขึ้นเพื่อเป็น ศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนสินค้าเกษตรและสินค้าอื่น ๆ โดยมีหลักการคือ การรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรในราคาที่สูงกว่าพ่อค้าคนกลาง และจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภคในราคาที่ต่ำกว่าท้องตลาด ส่งผลให้เกิดประโยชน์แก่เกษตรกรผู้ผลิต และผู้บริโภคได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีความสุข และสามารถเป็นแรงผลักดันให้นำไปดำเนินการด้านการวางแผนการผลิตที่ชัดเจน ซึ่งจะสร้างประโยชน์ได้อย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบันมีกลุ่มเกษตรกร และกลุ่มหัตถกรรม นำสินค้ามาวางจำหน่าย จำนวน 29 กลุ่ม กระจายใน 15 จังหวัด รวมทั้งนำผลิตภัณฑ์จากศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทั้ง 6 แห่ง จากทั่วประเทศมาจัดจำหน่ายให้ประชาชนได้เลือกซื้ออีกด้วย จากนั้น ได้มีพระราโชวาทกับคณะทำงานศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สำนักงาน กปร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้น้อมนำแนวพระราชดำริไปพัฒนาเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและประเทศชาติต่อไป