คุณภาพชีวิต-สังคม
'มูลนิธิบูรณะนิเวศ' ร้องรัฐฯ ยุตินำเข้า 'ของเสียอันตราย' ก่อมลพิษ
'มูลนิธิบูรณะนิเวศ' และ Arnika เรียกร้องรัฐบาลไทยเร่งหยุดยั้งการไหลเข้ามาของขยะจากต่างประเทศ ชี้ไทยต้องยุตินำเข้า 'ของเสียอันตราย' และ 'พลาสติก' 'ขยะอิเล็กทรอนิกส์' อย่างเด็ดขาด ควบคุมให้อุตสาหกรรมรีไซเคิลเป็นไปตามมาตรฐาน หยุดก่อมลพิษ
วันนี้ 5 มิถุนายน 2564 'มูลนิธิบูรณะนิเวศ' (EARTH) องค์กรพัฒนาเอกชนไทยที่ทำงานด้านมลพิษและขยะอุตสาหกรรมมากว่า 20 ปี และ สมาคมอานิกา (Arnika) องค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศสาธารณรัฐเชก ซึ่งเป็นพันธมิตร ได้ร่วมกันออกแถลงการณ์ เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก (5 มิ.ย. 64) เรียกร้องให้รัฐบาลไทย ดำเนินนโยบายปิดกั้นธุรกิจการค้าและขนส่งขยะข้ามชาติอย่างจริงจัง
ด้วยการให้สัตยาบันเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกใน ภาคแก้ไข ของ อนุสัญญาบาเซลว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายและการกำจัดของเสียอันตรายข้ามแดน (The Basel Convention on the Control of Transboundary Movements of Hazardous Wastes and their Disposal) ซึ่งจะมีผลให้ได้รับการคุ้มครองมิให้มีการส่งออกขยะอันตรายจากกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วเข้ามาในดินแดนไทย ไม่ว่าจะเพื่อการกำจัดทิ้งหรือเพื่อการรีไซเคิล ขณะเดียวกันไทยเองก็ต้องห้ามการนำเข้าและส่งออก ขยะอันตรายไปยังประเทศอื่นเช่นเดียวกัน
โดยอนุสัญญาบาเซลฯ เป็นอนุสัญญาระหว่างประเทศซึ่งจัดตั้งขึ้นมาเพื่อควบคุมการเคลื่อนย้าย 'ของเสียอันตราย' ข้ามพรมแดน โดยมีข้อกำหนดห้ามมิให้ประเทศภาคีส่งออกหรือเคลื่อนย้าย 'ของเสียอันตราย' ข้ามพรมแดน ยกเว้นในกรณีที่ประเทศผู้ส่งและประเทศผู้รับมีการตกลงยินยอมกันก่อน โดยเป้าหมายสำคัญของอนุสัญญานี้คือการห้ามส่งออกของเสียอันตรายจากประเทศพัฒนาแล้วไปกำจัดทิ้งหรือรีไซเคิลในประเทศกำลังพัฒนา
ซึ่งต่อมาได้มีการกำหนด ภาคแก้ไขอนุสัญญาบาเซลฯ (The Basel Ban Amendment) ขึ้นเพื่อแก้ไขจุดอ่อนและช่องโหว่ในการสมยอมระหว่างประเทศต้นทางและปลายทาง โดยการระบุห้ามมิให้มีการส่งออกหรือเคลื่อนย้าย 'ของเสียอันตราย' ข้ามพรมแดนของประเทศที่ให้สัตยาบันในภาคแก้ไขฯ นี้โดยเด็ดขาด เพื่อคุ้มครองประเทศกำลังพัฒนาจากการรับภาระ 'ของเสียอันตราย' จากประเทศพัฒนาแล้ว ทั้งนี้ ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิก อนุสัญญาบาเซลฯ มาตั้งแต่ปี 2540 แต่ยังไม่ได้เข้าร่วมในส่วนของ ภาคแก้ไข ของอนุสัญญาจนถึงปัจจุบัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ไทยนำเข้าเศษ 'พลาสติก' 553 ล้านกิโลกรัม
ในการออกมาเรียกร้องครั้งนี้ 'มูลนิธิบูรณะนิเวศ' (EARTH) ระบุว่า สืบเนื่องมาจากการติดตามปัญหาและศึกษาข้อมูล รวมถึงการอ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ของกรมศุลกากรและกรมโรงงานอุตสาหกรรมในช่วงปลายปี 2563 และพบว่าประเทศไทยยังมีการนำเข้าเศษ 'พลาสติก' (พิกัดศุลการ HS3915) ภายในปี 2562 สูงมาก คือ เกือบ 553 ล้านกิโลกรัม หรือเพิ่มขึ้นสูงกว่าในปี 2561 ถึง 3.5 เท่า
- ปี 2563 ยังพบการนำเข้าเศษ 'พลาสติก'
ขณะที่ในปี 2563 ซึ่งรัฐบาลได้ประกาศจะห้ามการนำเข้าเศษ 'พลาสติก' ตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2563 เป็นต้นไป แต่กลับพบว่ายังคงมีการนำเข้าอย่างต่อเนื่องเรื่อยมาจนสิ้นปี 2563 และต่อเนื่องมาจนถึงปี 2564
ในส่วนของ 'ขยะอิเล็กทรอนิกส์' (E-waste) ซึ่งมีกฎหมายห้ามนำเข้าและมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2563 ก็กลับปรากฏข้อมูลเช่นกันว่า ในระหว่างเดือนกันยายน 2563- มีนาคม 2564 มีการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์อันตรายบางประเภทเข้ามาในปริมาณหลายล้านกิโลกรัม
ข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ปัญหาการนำเข้าขยะยังคงไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง แม้รัฐบาลไทยจะเคยประกาศว่าจะแก้ปัญหาการนำเข้าขยะต่างประเทศ ตั้งแต่ในช่วงปี 2561 และมีการแต่งตั้ง คณะอนุกรรมการเพื่อบูรณาการการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกที่นำเข้าจากต่างประเทศอย่างเป็นระบบ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน
ก่อนจะมีมติเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2561 ให้กระทรวงอุตสาหกรรมอนุญาตนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศได้อีกไม่เกิน 2 ปี (2562-2563) หรือห้ามไม่ให้มีการนำเข้าอีกต่อไปนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563
- ปี 2563 ห้ามนำเข้า 'ขยะอิเล็กทรอนิกส์' 428 รายการ
สำหรับ 'ขยะอิเล็กทรอนิกส์' คณะอนุกรรมการชุดเดียวกันได้มีมติเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2561 ว่าจะห้ามนำเข้า 'ขยะอิเล็กทรอนิกส์' ตามพิกัดศุลกากรทั้งหมด 432 รายการ โดยมอบหมายให้กรมศุลกากรควบคุมดูแล และให้กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงอุตสาหกรรมออกประกาศที่เกี่ยวข้องภายใน 6 เดือน ซึ่งต่อมากระทรวงพาณิชย์ได้ออกประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้ 'ขยะอิเล็กทรอนิกส์' เป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2563 คือห้ามการนำเข้า 'ขยะอิเล็กทรอนิกส์' ภายใต้การควบคุมตามอนุสัญญาบาเซลฯ ที่มีรหัสสถิติ 899 จำนวน 428 รายการ จากเดิมที่คณะอนุกรรมการเคยมีมติจะห้ามนำเข้าจำนวน 432 รายการ โดยประกาศกระทรวงพาณิชย์ฉบับนี้ได้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2563 เป็นต้นมา
- ข้อยกเว้น 'ขยะอิเล็กทรอนิกส์' พิกัดศุลกากร 8548
ในกรณีของประกาศกระทรวงพาณิชย์ฉบับดังกล่าว 'มูลนิธิบูรณะนิเวศ' ได้วิเคราะห์ว่า ไม่ได้เป็นการยกเลิกการนำเข้า 'ขยะอิเล็กทรอนิกส์' ที่เป็นของเสียอันตรายในทุกพิกัดศุลกากรหรือทุกประเภท เช่น มีการยกเว้น 'ขยะอิเล็กทรอนิกส์' ในพิกัดศุลกากร 8548 หรือขยะจำพวก เศษและของที่ใช้ไม่ได้ของเซลล์ปฐมภูมิ แบตเตอรี่ปฐมภูมิ และหม้อสะสมไฟฟ้า รวมถึงพวกเซลล์ปฐมภูมิที่ใช้แล้ว แบตเตอรี่ปฐมภูมิที่ใช้แล้วและหม้อสะสมไฟฟ้าที่ใช้แล้ว รวมทั้งส่วนประกอบทางไฟฟ้าของเครื่องจักรหรือเครื่องอุปกรณ์ที่ไม่ได้ระบุหรือรวมไว้ในที่อื่นในตอนนี้ ทำให้ 'ของเสียอันตราย' กลุ่มนี้ยังคงสามารถนำเข้าประเทศไทยได้โดยถูกกฎหมาย ซึ่งก็ปรากฏข้อเท็จจริงว่าในระหว่างกันยายน 2563 ถึงเมษายน 2564 ได้มีการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์กลุ่มนี้เข้ามาในไทยสูง 28.85 ล้านกิโลกรัม และเฉพาะในช่วงสี่เดือนแรกของปี 2564 คือ มกราคม - เมษายน ก็มีการนำเข้าสูง 13.56 ล้านกิโลกรัม
นอกจากนั้น จากการที่ประกาศฉบับดังกล่าวได้ห้ามการนำเข้า 'ขยะอิเล็กทรอนิกส์' เฉพาะกลุ่มที่สำแดงรหัสสถิติ 899 ภายใต้อนุสัญญาบาเซลฯ เท่านั้น ยังทำให้เกิดช่องโหว่ที่ผู้ประกอบการสามารถนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้หากสำแดงรหัสสถิติเป็น 800/000/090 และ 890 ซึ่งเป็นกลุ่มรหัสสถิติที่ไม่ได้ถูกตีความว่าเป็นของเสียภายใต้อนุสัญญาบาเซลฯ ทำให้สิ่งของประเภทคอมพิวเตอร์ส่วนตัว แล็บท็อป รวมถึงแป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์ที่ใช้แล้ว และเศษหรือชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ สามรถนำเข้ามาได้โดยถูกกฎหมาย
“การออกประกาศแบบมีช่องโหว่เช่นนี้ทำให้ยังคงมีการนำเข้าอี-เวสต์ต่อไปได้โดยถูกกฎหมาย ขณะเดียวกันรัฐบาลก็อ้างได้ว่ากำหนดมาตรการหรือกฎหมายออกมาแล้ว มีการแก้ไขปัญหาในทางนโยบายแล้ว ซึ่งอาจจะช่วยลดกระแสการกดดันจากสังคมทั้งในและนอกประเทศ แต่อย่างที่บอกคือ เมื่อคุณออกกฎหมายที่มีช่องโหว่แบบนี้มา ปัญหาก็ยังคงอยู่เหมือนเดิม” อัครพล ตีบไธสง เจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคนิคและวิจัยของมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าว
อัครพลได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติม ด้วยว่า การที่ของเสียหลั่งไหลเข้ามาในปริมาณสูงประกอบกับมาตรการทางสิ่งแวดล้อมที่อ่อนแอ เป็นปัจจัยดึงดูดให้อุตสาหกรรมรีไซเคิลจากต่างประเทศเข้ามาตั้งโรงงานในไทยจำนวนมาก โดยเฉพาะในภาคกลางและภาคตะวันออก ซึ่งโรงงานเหล่านี้จำนวนมากไม่ได้มาตรฐานโดยเฉพาะในด้านควบคุมมลพิษที่ดี ทำให้นับตั้งตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา
ปัญหามลภาวะจากโรงงานไซเคิลเพิ่มขึ้นอย่างมาก และได้สร้างความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรงในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออก โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง ปราจีนบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นอกจากนั้น การนำเข้าขยะจากต่างประเทศยังส่งผลกระทบต่อกลุ่มผู้ประกอบอาชีพคัดแยกและรับซื้อของเก่าในประเทศไทย เนื่องจากไม่สามารถแข่งขันด้านราคาแข่งขันกับขยะนำเข้าจากต่างประเทศได้
- ข้อเรียกร้อง 'มูลนิธิบูรณะนิเวศ' ปี 2561
ก่อนหน้านี้ 'มูลนิธิบูรณะนิเวศ' และเครือข่ายภาคประชาชนผู้รับผลกระทบจากมลพิษและขยะอันตราย ได้เคยเรียกร้องให้รัฐบาลไทยออกกฎหมายยกเลิกการนำเข้า 'ของเสียอันตราย' เพราะเราพบว่านับตั้งแต่ที่ประเทศจีนมีกฎหมายห้ามนำเข้าขยะ 'พลาสติก' และ 'ขยะอิเล็กทรอนิกส์' ทั้งหมดตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นมา บวกกับการสั่งปิดโรงงานรีไซเคิลในประเทศที่ไม่ได้มาตรฐานเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อม ก่อนจะห้ามการนำเข้าขยะทุกชนิดเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ทำให้ของเสียหรือขยะที่เคยส่งไปจีนถูกส่งเข้ามายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น
- ปี 2563 โรงงานรีไซเคิล เพิ่มขึ้น 2 เท่า
สำหรับไทย เห็นได้ชัดเจนว่าปริมาณการนำเข้าขยะโดยเฉพาะ ขยะ 'พลาสติก' และ 'ขยะอิเล็กทรอนิกส์' ในปี 2561 เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และในปี 2563 ก็พบว่ามีโรงงานรีไซเคิล 'พลาสติก' ที่ได้รับอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มจำนวนสูงขึ้นกว่าปีก่อนหน้าถึงสองเท่า และโรงงานหลายแห่งดำเนินการโดยนายทุนจากประเทศจีน
การเข้ามาของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่มีอำนาจผูกขาดในกลุ่มอุตสาหกรรมรีไซเคิล ทำให้ผู้ประกอบกิจการระดับย่อยเสียโอกาสในการหาเลี้ยงชีพ และส่งผลกระทบไปถึงปัญหาการจัดการขยะในประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขณะเดียวกันก็ก่อปัญหามลพิษต่อสิ่งแวดล้อมรุนแรงและกว้างขวางออกไปเรื่อยๆ จากการประกอบกิจการอย่างไม่ได้มาตรฐาน ไม่คำนึงถึงผลกระทบ มลพิษเหล่านี้มีทั้งสารโลหะหนัก สารอินทรีย์ระเหยง่าย และสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน ซึ่งไหลลงแหล่งน้ำที่ชาวบ้านพึ่งพา ทำลายไร่นาที่ชาวบ้านใช้ทำมาหากิน และปนเปื้อนอากาศที่ชาวบ้านใช้หายใจ ยังไม่นับขยะจริงๆ ที่เหลือจากการคัดแยกและรีไซเคิลของโรงงาน ขยะเหล่านี้เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลเพื่อมาเป็นขยะของประเทศไทย
ชุมชนหลายแห่งในภาคกลางและตะวันออกเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของประเทศ หากสารพิษเหล่านี้ปนเปื้อนวัตถุดิบของชาวบ้านในพื้นที่ ผู้บริโภคในจังหวัดอื่นๆ ก็จะได้รับอันตรายไปด้วย มันจึงเป็นปัญหาระดับประเทศ ซึ่งถ้าไม่แก้ไขจะกลายเป็นปัญหาระดับภูมิภาค
ปัญหามลพิษจากโรงงาน รีไซเคิลสกปรก กำลังขยายตัวในภาคตะวันออก ซึ่งอยู่ภายใต้นโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ปัญหาสำคัญของนโยบายอีอีซีคือสนับสนุนการขยายตัวของโรงงานอุตสาหกรรมด้วยการลดหย่อนภาษีและลดทอนข้อบังคับทางสิ่งแวดล้อม
- ชุมชนท่าถ่าน ได้รับความเสียหายจากโรงงานรีไซเคิล
อัครพลได้ยกตัวอย่าง ชุมชนท่าถ่าน ในตำบลท่าถ่าน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งได้รับความเสียหายจากการเข้ามาของโรงงานรีไซเคิลและการเมินเฉยกับปัญหาของภาครัฐ โดยนับตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา ประชาชนในพื้นที่ต้องประสบปัญหาการปนเปื้อนของสารมลพิษในแหล่งน้ำใช้ ปัญหามลพิษทางเสียง กลิ่นเหม็น และฝุ่นละอองขนาดเล็กจากโรงงานรีไซเคิลขยะหลายแห่ง ซึ่งรวมถึงโรงงานของผู้ประกอบการจากประเทศจีน
ขณะที่ภาครัฐ เช่น อุตสาหกรรมจังหวัดและกรมโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งเป็นผู้อนุมัติให้สร้างโรงงานเหล่านี้มากขึ้นเรื่อยๆ กลับไม่ได้เข้ามาควบคุมกำกับดูแลด้านสิ่งแวดล้อมอย่างที่ควรจะเป็น ไม่มีการตรวจสอบการลักลอบทิ้งกากของเสีย การปล่อยน้ำเสีย รวมถึงอากาศเสียแต่อย่างใด
ข้อมูลดังกล่าว สอดคล้องกับที่ ธมนวรรณ วรรณพิรุณ ผู้นำ “กลุ่มรักษ์ท่าถ่าน-บ้านซ่อง” และตัวแทนเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากอุตสาหกรรมรีไซเคิล ซึ่งได้เดินทางไปยื่นหนังสือร้องเรียนต่อหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมจังหวัด กรมโรงงานอุตสาหกรรม และจังหวัดฉะเชิงเทรา ซ้ำแล้วซ้ำเล่าเป็นเวลากว่าสามปี เพื่อเรียกร้องให้มีการสั่งปิดโรงงานและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน แต่ก็ได้รับการตอบสนองอย่าง เชื่องช้าและไร้ประสิทธิภาพ ที่สำคัญคือปัญหายังคงไม่ได้รับการแก้ไขจนถึงทุกวันนี้
“เราอยากให้กฎหมายที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายการจัดตั้งโรงงานหรือกฎหมายทางสิ่งแวดล้อม มีความศักดิ์สิทธิ์มากกว่านี้ อยากให้ข้าราชการไทยซึ่งเป็นผู้ใช้กฎหมายในแต่ละหน่วยงานใช้มันให้ถูกต้องและมีความเป็นธรรมกับประชาชน”
ธมนวรรณ ชี้ว่า แม้ปัญหา รีไซเคิลสกปรก จะมีต้นตอมาจากประเทศผู้ส่งออกขยะ แต่ถ้าหากประเทศปลายทาง เช่น รัฐบาลไทย ควบคุมเข้มงวดไม่ยอมปล่อยให้ขยะพวกนี้เข้ามาปัญหาก็จะไม่เกิดขึ้นอย่างทุกวันนี้
"คนไทยก็มีส่วนด้วย ร่วมมือกับเขาเอาเข้ามา เพราะมันได้เงิน มันเป็นธุรกิจที่มีกำไรมหาศาลเขาถึงอยากจะทำกัน แต่เขาไม่ได้คำนึงถึงมลพิษที่เกิดขึ้น ต้องถามว่าเอาเข้ามาได้อย่างไร ทำไมกฎหมายไทยถึงยอมให้เอาเข้ามา เมื่อเอาเข้ามาแล้วทำให้เกิดมลพิษทำไมไม่มีมาตรการแก้ไข ไม่ยกเลิก ไม่ปิดโรงงาน” ธมนวรรณตั้งคำถามทิ้งท้าย
“ประชาคมโลกมีความสำคัญในการแก้ไขปัญหากิจการรีไซเคิลสกปรกในระยะยาว” อัครพลกล่าว “เพราะการจะหยุดยั้งธุรกิจค้าของเสียได้ จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้วยิ่งควรที่จะจัดการของเสียทุกชนิดของตนภายในประเทศ ไม่ใช่รักษาสิ่งแวดล้อมภายในประเทศด้วยการผลักขยะและภาระการจัดการไปให้ประเทศอื่น หรือใช้ประเทศอื่นเป็นถังขยะ โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาซึ่งมีมาตรการควบคุมสิ่งแวดล้อมอ่อนแอกว่า
ส่วนประเทศไทยเองก็ควรที่จะให้สัตยาบัน ภาคแก้ไขอนุสัญญาบาเซลฯ โดยเร็ว เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน เช่นเดียวกับที่รัฐบาลหลายประเทศได้ให้สัตยาบันไปแล้ว รวมถึงประเทศจีน อินโดนีเซีย และมาเลเซีย” อัครพลกล่าวทิ้งท้าย