'กทพ.' จ่อเปิดประมูล ทางด่วนสายพระราม 3 มิ.ย.นี้

'กทพ.' จ่อเปิดประมูล ทางด่วนสายพระราม 3 มิ.ย.นี้

การทางพิเศษฯ เตรียมเปิดประมูลทางด่วนพระราม 3 สัญญา 1 และ 3 ภายใน มิ.ย.นี้ เร่งใช้เงินกองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ 1.4 หมื่นล้าน หลังล้มประมูล ล่าช้ากว่า 1 ปี ดันดอกเบี้ยพุ่ง

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการทางพิเศษ สายพระราม 3 – ดาวคะนอง - ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก โดยระบุว่า ในวันที่ 9 มิ.ย.นี้ กทพ.เตรียมนำร่างรายละเอียดเงื่อนไขการประกวดราคา (ทีโออาร์) ประกาศผ่านทางเว็บไซต์ เพื่อรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 2 งานก่อสร้างในส่วนของสัญญา 1 และสัญญา 3 โครงการดังกล่าว หลังจากที่ยกเลิกการประกวดราคาออกไปเมื่อปี 2563

“ขั้นตอนการเปิดรับฟังความคิดเห็น จะใช้เวลาประมาณ 7 วัน จากนั้นจะพิจารณาว่ามีการร้องเรียน หรือต้องแก้ไขในส่วนใดเพิ่มเติมหรือไม่ หากไม่มีใครโต้แย้ง จะเปิดประกวดราคาภายในเดือน มิ.ย.นี้ และการจัดทำทีโออาร์ครั้งนี้ได้มีการพิจารณาอย่างรอบคอบ เน้นย้ำว่าต้องยึดตามระเบียบให้มากที่สุด และต้องไม่ผิดพลาดซ้ำรอยเหมือนกับการประมูลครั้งที่ผ่านมา”

162306117580

สำหรับรายละเอียดการประกวดราคา จะแบ่งออกเป็น สัญญาที่ 1 งานสร้างทางยกระดับจากแยกต่างระดับบางขุนเทียน-เซ็นทรัลพระราม 2 ระยะทาง 6.4 กิโลเมตร (กม.) และสัญญาที่ 3 งานก่อสร้างทางยกระดับจาก รพ.บางปะกอก 9-ด่านดาวคะนอง ระยะทาง 5 กม. โดยราคากลางในการประมูลครั้งใหม่ จะปรับเพิ่มขึ้นจากเดิมกว่า 300 ล้านบาท หรือประมาณ 3% ของราคากลางเดิม

โดยสัญญาที่ 1 ราคากลางเดิมอยู่ที่ 6,979 ล้านบาท เป็น 7,360 ล้านบาท และสัญญาที่ 3 ราคากลางเดิมอยู่ที่ 6,990 ล้านบาท เป็น 7,376 ล้านบาท เป็นผลมาจากการปรับตัวของราคาเหล็กที่เพิ่มสูงขึ้นมาก

อีกทั้ง เพื่อเร่งรัดการก่อสร้าง กทพ.จึงปรับลดระยะเวลาการก่อสร้างจากเดิมใช้เวลา 39 เดือน เหลือ 34 เดือน คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างประมาณเดือน พ.ย.-ธ.ค.2564 ก่อสร้างแล้วเสร็จประมาณเดือน ก.ย.-ต.ค.2567 คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จล่าช้ากว่าสัญญาที่ 2 และ 4 ประมาณ 1 ปี

รายงานข่าวจาก กทพ. เผยว่า โครงการก่อสร้างทางด่วนพระราม 3 ตามแผน กทพ.ต้องเร่งรัดการลงทุน เนื่องจากเป็นโครงการที่ใช้เงินกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย ไทยแลนด์ ฟิวเจอร์ ฟันด์ (TFF) มีอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อยู่ที่ 8% สูงกว่าการกู้ยืมทั่วไปที่อยู่ที่ 3-4% และปัจจุบันภาพรวมเมื่อปลายปี 2563 พบว่ามีภาระดอกเบี้ยสูงกว่า 6 พันล้านบาทจากการระดมทุนผ่านกองทุนนี้ อีกทั้งยังจะเป็นภาระดอกเบี้ยอีกปีละประมาณ 1 พันล้าน หากยังไม่สามารถเร่งรัดการลงทุนเพื่อหารายได้