อนาคตอุตฯการบินท่ามกลางสำนึกสิ่งแวดล้อม
หลังจากบินไปตกหลุมอากาศทางการเงินเพราะโควิด-19 ระบาดแล้ว อุตสาหกรรมการบินคาดว่าการเดินทางของผู้โดยสารจะเทคออฟได้เสียที แม้มีความกังวลเรื่องผลกระทบของการบินต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (ไอเอทีเอ) คาดการณ์ล่าสุดถึงแนวโน้มอุตสาหกรรมการบินว่า การเดินทางทางอากาศทั่วโลกไม่น่าจะกลับมาสู่ระดับก่อนโควิดระบาดได้ก่อนปี 2566 แต่จะเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าตลอดช่วง 20 ปีจากผู้โดยสาร 4.5 พันล้านคน ในปี 2562 เป็น 8.5 พันล้านคนในปี 2582 อย่างไรก็ตาม ตัวเลขนี้ลดลง 1 พันล้านคนจากที่ไอเอทีเอเคยคาดการณ์ไว้เมื่อก่อนเกิดวิกฤติ
กระนั้นก็ถือเป็นข่าวดีสำหรับบริษัทผลิตเครื่องบิน ที่ชะลอการผลิตในช่วงวิกฤติโควิดเนื่องจากสายการบินยกเลิกคำสั่งซื้อเพื่อรักษาสภาพคล่อง
แอร์บัสประกาศแผนเพิ่มการผลิตเครื่องบินทางเดินเดียวรุ่นขายดี “เอ320” และมองว่าจะทะลุระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2565
สำหรับโบอิงคาดการณ์ว่า สายการบินต้องการเครื่องบินใหม่ 43,110 ลำไปจนถึงปี 2582 อันจะส่งผลให้ฝูงบินทั่วโลกเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่า เฉพาะเอเชียแห่งเดียวคิดเป็น 40% ของความต้องการ
ดาร์เรน ฮัลสต์ รองประธานฝ่ายการตลาดโบอิง กล่าวเมื่อปีก่อนว่า เทียบกับเหตุโจมตีเมื่อวันที่ 11 ก.ย. หรือวิกฤติการเงินโลกระหว่างปี 2550-2552 “อุตสาหกรรมการบินจะพิสูจน์ความทนทานอีกครั้ง”
ด้านมาร์ค อิวัลดี ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยวิทยาลัยความก้าวหน้าศึกษาด้านสังคมศาสตร์ในกรุงปารีส ตั้งข้อสังเกตว่า ตอนนี้มีประชากรเพียง 1% เท่านั้นที่เดินทางโดยเครื่องบิน
“ด้วยจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นแน่ๆ ประกอบกับข้อเท็จจริงที่ว่าผู้คนรวยขึ้น ความต้องการเดินทางทางอากาศและความต้องการเครื่องบินต้องเพิ่มขึ้นด้วย” นักวิชาการรายนี้กล่าวกับสำนักข่าวเอเอฟพี
ขณะที่ผลศึกษาล่าสุดจากบริษัทที่ปรึกษา “โอลิเวอร์ วายแมน” ระบุว่า ถ้าขณะนี้ฝูงบินใหญ่สุดของโลกอยู่ในสหรัฐและยุโรปแล้ว คาดว่าต่อไปเอเชียและตะวันออกกลางจะเพิ่มฝูงบินขึ้นมากที่สุด
การบินอัปยศ
แอร์บัสส่งมอบเครื่องบินไปให้จีน 19% ซึ่งมากกว่าสหรัฐ และคาดว่าจะยังคงเป็นไปเช่นนี้ไม่เปลี่ยนแปลง
ในตลาดเกิดใหม่หลายประเทศที่ชนชั้นกลางกำลังขยายตัว ผู้คนเดินทางโดยเครื่องบินกันได้มากขึ้นทุกขณะ
“ในบรรดาประเทศตลาดเกิดใหม่ของเอเชีย เป้าหมายอันยิ่งใหญ่อันหนึ่งคือสามารถเดินทางไปต่างประเทศได้แบบสบายๆ นี่คือสัญญาณความสมบูรณ์ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม สร้างประสบการณ์ที่คนรุ่นพ่อรุ่นแม่ไม่มีโอกาสแม้แต่จะคิด” ศูนย์เพื่อการบิน (ซีเอพีเอ) รายงานพร้อมตั้งข้อสังเกตว่า คนเหล่านี้ไม่มีทีท่าจะคิดแบบเดียวกับคนในโลกตะวันตก ที่พยายามลดการเดินทางทางอากาศเพื่อลดคาร์บอนฟุตปรินท์
“สำหรับคนที่ต้องการจะบินกลุ่มใหม่ๆ เหล่านี้ ความคิดที่ว่า การบินเป็นเรื่องน่าละอายช่างเป็นความแปลกเอามากๆ ผลที่ตามมาคือ การบินอัปยศจะไม่ได้รับความสนใจมากนักในเอเชีย” ซีเอพีเอสรุป
“การบินอัปยศ” หรือ flygskam ในภาษาสวีเดน เป็นขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านการเดินทางด้วยเครื่องบินเริ่มต้นขึ้นในสวีเดนเมื่อปี 2561 ท้าทายความนิยมเดินทางด้วยเครื่องบินที่มากขึ้นทุกขณะโดยเฉพาะในยุโรป อานิสงส์จากสายการบินราคาประหยัดทำให้ผู้คนใช้เวลาสุดสัปดาห์ไปท่องเที่ยวทั่วยุโรปได้ง่ายขึ้น
ยูโรคอนโทรล หน่วยงานควบคุมการจราจรทางอากาศเผยว่า ในปี 2562 การจราจรทางอากาศในสวีเดนลดลง 4% แต่ลดลงมากเป็นประวัติการณ์ทั่วยุโรป สถาบันของอิวัลดีเชื่อว่า เที่ยวบินอัปยศจะส่งผลกระทบเล็กน้อยในระยะยาว
“สำหรับคนที่บินปีละครั้ง คุณเชื่อหรือว่า เขาจะมองว่านั่นสร้างมลพิษมากเกินไปแล้วเลิกนั่งเครื่องบิน”
อุตสาหกรรมการบินเคยให้คำมั่นว่า จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2593 จากระดับที่เคยปล่อยในปี 2548 การทำเช่นนี้สายการบินเองก็ได้ประโยชน์ เพราะยิ่งใช้เครื่องบินประหยัดน้ำมันก็ยิ่งลดต้นทุนปฏิบัติการลงได้