ก้าวไกลแถลงจุดยืน หนุนปิดสวิซต์ส.ว. เมินลงชื่อญัตติเพื่อไทยแก้ม.256
ก้าวไกลแถลงจุดยืน หนุนปิดสวิซต์ส.ว. เมินลงชื่อญัตติเพื่อไทยแก้ม.256
ที่รัฐสภา นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ รองหัวหน้าพรรค นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล และ นายรังสิมันต์ โรม รองเลขาธิการพรรคก้าวไกล รวมแถลงผลการการประชุม ส.ส. พรรคก้าวไกล ต่อประเด็นเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยมีมติดังต่อไปนี้
1.พรรคก้าวไกลเห็นว่า หนทางที่ดีที่สุดในการออกจากวิกฤตรัฐธรรมนูญในปัจจุบัน คือ การยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งมาจากการรัฐประหาร แล้วจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ทั้งนี้ขอคัดค้านหากประธานรัฐสภาจะเตะถ่วงการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ออกเสียงประชามติที่ค้างอยู่ แล้วนำวาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราขึ้นมาพิจารณาก่อน
2.พรรคก้าวไกลเห็นว่า การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคพลังประชารัฐในหลายมาตรานั้น เป็นความพยายามเบี่ยงเบนเป้าหมายของการแก้ไขรัฐธรรมนูญออกจากการยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ คสช. และยุติกลไกการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร แล้วดำเนินการ “ต่ออายุ” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปอีก ผ่านการแก้ไขระบบการเลือกตั้งที่ตนเองคิดว่าจะได้เปรียบจากการใช้อำนาจรัฐและอำนาจทุน และผ่านการเปิดช่องให้นักการเมืองฝ่ายรัฐบาลสามารถเข้าไปเบียดบังงบประมาณและแทรกแซงข้าราชการได้ง่ายขึ้น
3.การพยายามเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 หลากหลายมาตราตามเกมของพรรคพลังประชารัฐนั้น มีแต่จะทำให้เกิดความสับสน หรือแย่กว่านั้นคือไปช่วยกันตกแต่งให้รัฐธรรมนูญฉบับ คสช. ดูดีขึ้น และช่วยกันต่ออายุให้ระบอบประยุทธ์ ดังนั้น การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญรายมาตราในสถานการณ์ปัจจุบันควรพุ่งเป้าให้ชัดเจนไปยังการปลดกลไกสำคัญในการสืบทอดอำนาจคณะรัฐประหาร
ที่ประชุม ส.ส. ของพรรคก้าวไกลจึงเห็นชอบให้เสนอ “ปิดสวิตช์ ส.ว.” ยกเลิกอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีของ ส.ว. 250 คน ที่มาจากการคัดเลือกโดย คสช. ดังนั้น ส.ส. พรรคก้าวไกลจะลงชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมในประเด็นนี้ร่วมกับพรรคร่วมฝ่ายค้านแล้วยื่นต่อประธานสภา
4.ที่ประชุม ส.ส. พรรคก้าวไกลมีมติไม่ร่วมลงชื่อกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของพรรคเพื่อไทยที่เสนอแก้ไข ม.256 เพื่อตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) เนื่องจากเราไม่เห็นด้วยกับการไปจำกัดอำนาจของ สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ห้ามแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 ของรัฐธรรมนูญ
“พรรคก้าวไกลยืนยันมาโดยตลอดว่า การกำหนดห้ามดังกล่าวเป็นการสร้างบรรทัดฐานทางการเมืองที่ผิด ซึ่งจะส่งผลเสียต่อการพัฒนาประชาธิปไตยในระยะยาว และเป็นการไม่เคารพต่ออำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญของประชาชน พรรคก้าวไกลเชื่อมั่นเสมอว่า สสร. ที่มาจากประชาชนมีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยที่จะจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ได้ทุกหมวด และ สสร. ควรเป็นเวทีที่เปิดกว้างให้แก่ทุกฝ่าย เคารพอำนาจของประชาชน เพื่อนำไปสู่ฉันทามติใหม่ของสังคมไทยร่วมกัน”
5.สำหรับเรื่องระบบการเลือกตั้งนั้น พรรคก้าวไกลเห็นว่า หากจะมีการแก้ไขระบบเลือกตั้ง ต้องมีเป้าหมายในการสร้างระบบการเลือกตั้งที่ดี ไม่ใช่มีเป้าหมายเพียงแค่การแสวงหาระบบเลือกตั้งที่พรรคการเมืองใหญ่ได้ประโยชน์มากที่สุด
“ระบบการเลือกตั้งที่ดี ต้องทำให้เสียงทุกเสียงมีความหมาย สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนได้ดีที่สุด รวมถึงเป็นระบบที่ช่วยส่งเสริมความเข้มแข็งของสถาบันพรรคการเมือง และสร้างประสิทธิภาพของระบบรัฐสภากับรัฐบาล
“ระบบการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ใช่ระบบที่ดี ขณะที่ระบบการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2540 ก็ยังมีข้อด้อยที่ควรต้องปรับปรุง ซึ่งพรรคก้าวไกลเห็นว่า ระบบการเลือกตั้งที่ดี ควรเป็นระบบจัดสรรปันส่วนผสมที่ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ กล่าวคือ เลือก ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 1 ใบ และเลือกพรรคการเมืองอีก 1 ใบ โดยนำคะแนนเลือกพรรคการเมืองมาใช้คำนวณจำนวน ส.ส. พึงมีของแต่ละพรรค เพื่อให้เสียงของประชาชนไม่ตกน้ำ และได้สัดส่วน ส.ส. ของแต่ละพรรคตามเจตนารมณ์ของประชาชนมากที่สุด ซึ่งนั่นหมายถึงว่า เสียงของประชาชนส่วนใหญ่ ซึ่งไม่ต้องการต่ออายุให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีอีก ทุกเสียงต้องถูกนับ”
นายพิธา ระบุว่า สาเหตุที่ไม่ร่วมลงชื่อในการแก้ไข มาตรา 256 ร่วมกับพรรคเพื่อไทยนั้น ประการแรกคือ ต้องทำตามกระบวนการ เนื่องจากการเสนอญัตตินี้คราวก่อน ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าต้องทำประชามติจึงต้องไปดำเนินการตามนั้น
อีกประการหนึ่งคือพรรคก้าวไกลเองก็จะร่างแก้ไขมาตรานี้ในแนวทางของพรรค อย่างไรก็ตาม กระบวนการเหล่านี้ต้องหลังจากผ่านการประชามติแล้ว ดังนั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราจึงอยากมุ่งไปที่ มาตรา 272 ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการปิดสวิตช์ ส.ว.
"เรายืนยัน่าพร้อมต่อสู้ในทุกระบบการเลือกตั้ง ซึ่งการเลือกตั้งแบบจำนวนบัตรสองใบเราเห็นด้วย แต่ระบบบัตรสองใบก็มีหลายแบบ ไม่จำเป็นต้องเป็นแบบปี 40 เท่านั้น ซึ่งเราต้องการระบบการเลือกตั้งที่ตอบสนองเจตจำนงของประชาชนที่สุด"