เปิดกรอบยกร่าง 'แผนพลังงานแห่งชาติ' ลดคาร์บอนเป็นศูนย์-เพิ่มพลังงานสะอาด
ความร่วมมือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ภายใต้เวทีระดับโลก Cop 26 ที่จะเกิดขึ้นช่วงเดือนพ.ย.นี้ ทำให้ประเทศไทย ต้องเร่งปรับเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์เร็วขึ้น พร้อมรื้อใหญ่ด้านนโยบาย ยกร่างแผนพลังงานแห่งชาติ" ให้สอดรับเทรนด์โลก
ย้อนไป เมื่อวันที่ 20 ต.ค.2563 มติคณะรัฐมนตรี(ครม.) มอบหมายให้ กระทรวงพลังงาน จัดทำแผนพลังงานชาติ (National Energy Plan) ให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งแผนฯนี้จะเป็นการรวบรวม ทั้ง 5 แผนพลังงานไว้ด้วยกัน ประกอบด้วย แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP ) แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan ) และแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan) โดยเป็นการรวบรวมตามข้อมเสนอแนะของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช.
กระทรวงพลังงาน รับข้อสั่งการของ ครม.ได้ดำเนินการ โดยเมื่อวันที่ 14 ธ.ค.2563 ได้จัดประชุมระดมสมอง (เวิร์คช็อป) จากคนรุ่นใหม่ทั้งในส่วนของกระทรวงพลังงาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ PTT และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) นับเป็นการเริ่มต้น(คิกออฟ) การจัดทำแผนฯ
ต่อมาการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.)เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2564 ที่มี สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาปรับเป้าหมายในการจัดทำแผนพลังงานแห่งชาติ (National Energy Plan) ใหม่ โดยให้มุ่งโจทย์สำคัญเรื่องการกำหนดเป้าหมายในการสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutral) และการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero) ให้สอดรับกับทิศทางประเทศมหาอำนาจ
กุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ระบุว่า การกำหนดเป้าหมายในการสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutral) และการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero) กระทรวงพลังงาน ได้จัดทำร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อจัดโมเดลการลดปล่อยคาร์บอนของประเทศไทยให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และสอดรับกับเป้าหมายการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าของ คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี)
รวมถึงจะต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกับแผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศไทย ( ปี2564-2569) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG (Bio-Circular-Green Economy) หรือการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว ที่จะกำหนดทิศทางลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อลดอุณหภูมิโลกร้อน เพื่อที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ฯ จะนำแนวนโยบายที่ชัดเจนของไทยไปเสนอต่อการประชุม COP26 ณ เมืองกลาสโกว์ ในช่วงเดือนพ.ย.2564 เพื่อหาแนวทางร่วมกันในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้บรรลุเป้าหมายต่อไป
ปัจจุบัน ภาคพลังงาน ถือเป็นผู้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์รายใหญ่ของประเทศ มีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 30% ของการใช้พลังงาน รองลงมาคือ ภาคขนส่ง ซึ่งตอนนี้กระทรวงพลังงาน ก็ได้จัดทำสมมติฐานที่จะนำไปสู่การลดปล่อยคาร์บอนในหลายรูปแบบ และทำงานใกล้ชิดกับ สผ. คาดว่า จะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนภายในกลางเดือนมิ.ย.นี้ ทั้ง การกำหนดเป้าหมายปีที่จะลดการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ เมื่อใด และในแต่ละปีจะลดลงปริมาณเท่าใด
จากนั้นจะมีจัดทำทิศทางการดำเนินงานของกระทรวงพลังงาน โดยนำเรื่องนโยบาย 4D1E เพิ่มความสามารถในการแข่งขันภาคพลังงาน ที่ประกอบด้วย 1.DIGITALIZATION 2.DECARBONIZATION 3.DECENTRALIZATION และ 4.DE-REGULATION ส่วน 1E คือ ELECTRIFICATION เป็นการขยายโครงข่ายรถไฟฟ้าและส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น โดยจะนำมาใช้ในทุกภาคส่วนของการใช้พลังงาน ภายใต้การกำหนดกรอบนโยบาย เบื้องต้น ดังนี้
ด้านไฟฟ้า กำหนดให้โรงไฟฟ้าที่จะก่อสร้างใหม่จากนี้ไป จะต้องไม่เป็นเชื้อเพลิงถ่านหิน ซึ่งโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ(ทดแทน) ขนาดกำลังผลิตติดตั้งประมาณ 650 เมกะวัตต์ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเป็นโรงไฟฟ้าสุดท้ายเท่านั้น ส่วนเหมืองแม่เมาะที่ปัจจุบัน เป็นแหล่งสร้างรายได้สำคัญให้กับคนในพื้นที่ ในอนาคต กฟผ.ก็จะต้องวางแผนพัฒนาต่อไป ภายใต้หลักการที่ยังเป็นแหล่งสร้างรายได้หลักให้กับคนในพื้นที่ เช่น การเปลี่ยนศูนย์ควบคุมพลังงานหมุนเวียนในภาคเหนือ หรือ ทำเป็นโซลาร์ลอยน้ำ เป็นต้น
ขณะที่การดูแลความมั่นคงไฟฟ้าภาคใต้ ทั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และเทพา ของกฟผ. ที่เดิมกำหนดเป็นเชื้อเพลิงถ่านหินนั้น ในอนาคตโรงไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้นใหม่ในภาคใต้ ก็อาจจะต้องเปลี่ยนเป็นเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ หรือ พลังงานสะอาดแทน ซึ่งต้องยอมรับว่า ถ่านหินแม้จะเป็นเชื้อเพลิงที่มีต้นทุนต่ำ แต่ไม่ตอบโจทย์ทิศทางของโลกที่มุ่งปลดปล่อยคาร์บอน
โดยโรงไฟฟ้าที่จะรับซื้อเข้าระบบจากนี้ไป จะต้องเป็นเชื้อเพลิงสะอาดเท่านั้น หรือ อย่างน้อยถ้าใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลก็ต้องสะอาด เช่น ก๊าซธรรมชาติ ที่ปัจจุบัน ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561 – 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP 2018 Rev.1) ก็กำหนดสัดส่วนสูงอยู่ที่ 55% และถ่านหิน อยู่ที่ 18% ในอนาคตถ่านหินก็จะมีสัดส่วนลดลงไป และต้องปลดโรงไฟฟ้าเก่าที่มีประสิทธิภาพต่ำออกจากระบบเร็วขึ้น
รวมถึงการเพิ่มสัดส่วนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น ทั้งโรงไฟฟ้าชีวมวล ชีวภาพ โซลาร์ฟาร์ม ขยะ และการรับซื้อไฟฟ้าพลังน้ำจากลาว เป็นต้น เพราะจากนี้ไป ประเทศต่างๆ เช่ย ยุโปร และสหรัฐ มีแนวโน้มที่จะนำเรื่องการใช้พลังงานสะอาดมาตั้งกำแพงภาษีสำหรับสินค้าที่ส่งออกไปยุโรปและสหรัฐจะต้องมาจากพลังงานสะอาด ทำให้ในอนาคตการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนจะมีความสำคัญมากขึ้นด้วย
ขณะที่แผนรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ เช่น พลังน้ำ หากมองในเรื่องของการช่วยเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาด ก็มีโอกาสรับซื้อเพิ่มขึ้นได้ ทั้งในรูปแบบการซื้อขายไฟฟ้าพลังน้ำจากลาว ส่งไปกัมพูชา มาเลเซีย สิงคโปร์ หรือ เมียนมา เป็นต้น ซึ่งเดิมที ไทยกับเมียนมา ได้เจรจาร่วมกันในเรื่องนี้ แต่ติดปัญหาการเมืองในเมียนมา ดังนั้น เมื่อสถานการณ์ในเมียนมาดีขึ้น ก็มีโอกาสที่จะกลับมาเดินหน้าเจรจากันต่อ
อีกทั้ง เรื่องของไฟฟ้า ยังต้องนำเรื่องของการผลิตไฟฟ้าใช้เองของภาคประชาชน(Prosumer) และกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เอง (Independent Power Supply: IPS) เข้ามาอยู่ในระบบไฟฟ้าหลักด้วย และต้องพัฒนาเทคโนโลยีระบบไฟฟ้า (Grid Modernization) และระบบสมาร์ทกริด ไมโครกริดเข้ามาเสริมศักยภาพของระบบไฟฟ้า ตลอดจนมุ่งปลดล็อคกฎระเบียบการซื้อขายไฟฟ้าเพื่อรองรับการผลิตเองใช้เอง และคำนึงถึงการใช้รถยนต์ไฟฟ้า(อีวี) และแบตเตอรี่ ที่จะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นตามแผนของภาครัฐ เป็นต้น
ดังนั้น ต้องมาดูว่า ตั้งเป้าหมายลดปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ในช่วง 5ปี 10 ปี และ15ปี จะเป็นอย่างไร ปริมาณจะเหลือเท่าไหร่และเป็นศูนย์ในปีใด พลังงานหมุนเวียนในแผนพีดีพี ฉบับปัจจุบัน ไม่ถึง 30% ก็ต้องไปดูว่าจะเพิ่มเป็น 45-50% ได้อย่างไร
นอกจากนี้ เรื่องของยานยนต์ไฟฟ้า(อีวี) ก็ต้องมาดูว่า จะปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าอย่างไร จำเป็นต้องออกกฎระเบียบใหม่ๆ หรือ ปรับปรุงกฎเกณฑ์รองรับเป้าหมาย ที่จะส่งเสริมการผลิตรถให้ได้ประมาณ 1.68 ล้านคัน ในปี 2578 ซึ่งใน 5 ปีข้างหน้าคาดการณ์ว่าแบตเตอรี่จะมีความเสถียร คนใช้รถจะชาร์จแบตที่บ้านมากขึ้น ก็จะต้องบริหารการลงทุนในสมดุลกันด้วย เพราะแบตเตอรี่ คิดเป็น 40% ของต้นทุนรถอีวี และแบตเตอรี่ที่ผ่านการใช้งานแล้ว ต่อไปจะทำได้ทำเป็นระบบกักเก็บพลังงานตามสถานีไฟฟ้าย่อยอย่างไร เพื่อช่วยลดความไม่เสถียรของพลังงานหมุนเวียนที่จะเข้าสู่ระบบไฟฟ้าหลักมากขึ้นในอนาคต
ด้านก๊าซธรรมชาติ จะต้องบริหารจัดการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) จากต่างประเทศ ที่จะมีการนำเข้าหลังเปิดเสรีก๊าซฯระยะที่ 2 มากขึ้น โดยราคาจะต้องไม่กระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้า และเมื่อมีการนำเข้า LNG ในรูปบบตลาดจร(Spot) ที่มีราคาถูกมากขึ้น ในอนาคตยังจำเป็นต้องมีการจัดซื้อ LNG ภายใต้สัญญาระยะกลาง และระยะยาว เพิ่มเติมหรือไม่ เพราะหากจัดซื้อเข้ามาแล้วมีราคาแพงกว่า Spot LNG ก็ไม่ควรนำเข้า เพราะจะเกิดการเปรียบเทียบต้นทุนได้
รวมถึง อาจจะต้องพิจารณาเรื่องการเก็บสำรอง LNG เพื่อบริหารความเสี่ยงในช่วงที่ LNG ตลาดโลก มักจะมีราคาแพงในฤดูหนาว และมีราคาถูกลงในฤดูร้อน จึงอาจจะต้องดูเรื่องของคลังเก็บสำรองไว้ด้วย
ด้านน้ำมัน จะต้องดูเรื่องของไฮโดรเจน ที่เริ่มได้รับความสนใจมากขึ้นหลังเกิดโควิด-19 เช่น การพัฒนาเทคโนโลยี ไบโอไฮโดรจีเนทดีเซล (Bio - Hydrogenated Diesel ) หรือ BHD เพื่อผลิตแทนดีเซล หรือ น้ำมันเครื่องบิน เป็นต้น รวมถึง เมื่อโรงกลั่นฯพัฒนาคุณภาพตามมาตรฐานยูโร 5 แล้ว จะไปต่ออย่างไร ก็คงจะต้องวางแผนร่วมกัน]
ด้านพลังงานหมุนเวียน จะต้องยกระดับไปสู่เศรษฐกิจชีวภาพ หรือ ไบโออีโคโนมี และ 3 การไฟฟ้าจะต้องลงทุนร่วมกันในการพัฒนาดาต้าแพลตฟอร์มจัดทำฐานข้อมูลพลังงานหมุนเวียนของประเทศ เพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และข้อมูลไม่กระจัดกระจาย
ด้านแผนอนุรักษ์พลังงาน ก็จะต้องมุ่งเรื่องของการประหยัดพลังงานในภาคอาคารต่างๆ การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และการส่งเสริมให้อาคารติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปมากขึ้น เป็นต้น ก็จะมีการออกหลักเกณฑ์ที่เข้มข้นขึ้น
“เชื่อว่าปี 2573 ราคาพลังงานหมุนเวียนจะถูกลงมาก แบตเตอรี่ก็เช่นกัน ซึ่งจะส่งผลถึงโครงสร้างค่าไฟในอนาคตถูกลง รวมถึงการนำเข้า LNG Spot ที่เป็นราคาแข่งขัน ก็จะส่งผลดีต่อต้นทุนโรงไฟฟ้าก๊าซฯ และในอนาคต LNG มีการค้นพบแหล่งก๊าซฯใหม่ๆเพิ่มขึ้น และราคาไม่ได้ผูกกับสัญญาซื้อขายก๊าซระยะยาวเมื่อ Spot LNG มีการแข่งขันมากขึ้น ก็จะเป็นผลดีต่อต้นทุนค่าไฟในอนาคตด้วย”
กุลิศ คาดหมายว่า การจัดทำกรอบแผนพลังงานแห่งชาติ (National Energy Plan) จะแล้วเสร็จภายในเดือน มิ.ย.นี้ พร้อมเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) พิจารณาอนุมัติ ภายในช่วงปลายเดือน มิ.ย.นี้ หรือ ต้นเดือน ก.ค.นี้
จากนั้นจะนำกรอบแผนฯดังกล่าว จะนำไปเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และภาคอื่นๆ ต่อไป ก่อนนำไปสู่การจัดทำรายละเอียดในแผนปฏิบัติการ 5 แผนฯ โดยคาดว่าจะสามารถประกาศใช้แผนพลังงานแห่งชาติได้ ทันปีงบประมาณนี้ หรือ ภายในช่วงเดือน ก.ย.นี้
นอกจากนี้ กระทรวงพลังงาน ยังจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP 2022) คู่ขนานกันไปด้วย โดยจะคำนึงถึงดีมานด์การใช้ไฟฟ้าใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งจากกลุ่ม IPS ,การใช้ไฟฟ้าในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) รวมถึงรถไฟฟ้าสายต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น ตอลดจนตัวเลขประมาณการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(GDP) ของ สศช. ที่มีแนวโน้มเติบโตลดลง หลังเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วย