กรณีศึกษา 'ไอซ์ ศรัณยู' ถูกทักว่า 'อ้วน' ชวนเข้าใจ 3 โรคที่เกิดจากการกิน

กรณีศึกษา 'ไอซ์ ศรัณยู' ถูกทักว่า 'อ้วน' ชวนเข้าใจ 3 โรคที่เกิดจากการกิน

จากกรณีไอซ์ ศรัณยู นักร้อง ออกมายอมรับว่าตนเองกำลังเป็น "โรคกินไม่หยุด" สาเหตุส่วนหนึ่งจากการถูกทักว่า "อ้วน" เมื่อ 5 ปีก่อน นอกจากโรคนี้แล้ว ยังมีโรคอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการกินที่ส่งผลต่อภาวะ "อ้วน-ผอม" แบบเป็นทุกข์ อีก 2 โรค คือ...

ในยุคสมัยแห่งการเรียกร้องความเท่าเทียม เรื่องรูปร่างหน้าตากลายเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงบ่อยในโลกโซเชียล “อ้วน” หรือ “ผอม” หุ่นอย่างไรก็ถือเป็นสิทธิส่วนบุคคลอย่างหนึ่ง แต่การกระทำ หรือค่านิยมบางอย่างของสังคมกำลังสร้างบาดแผลให้กับกลุ่มคนที่ไม่ได้อยู่ในกระแสหลักของสังคม ด้วยคำว่า “อ้วนผอม” 

ไอซ์ ศรัณยู วินัยพานิช นักร้องหนึ่งในผู้อยู่ในวงการบันเทิง ออกมายอมรับพร้อมให้ข้อมูลผ่านทางช่อง ทางยูทูบแชนแนล ICE SARUNYU OFFICIAL ว่าตนเองกำลังเผชิญกับโรค Binge Eating Disorder (BED) หรือโรคกินไม่หยุด 

พร้อมกับเล่าสาเหตุจากโรคนี้ส่วนหนึ่งคือ การที่ตนเองถูกทักว่าอ้วน เมื่อ 5  ปีก่อน จนส่งผลต่อพฤติกรรมการกิน และเป็นโรคกินไม่หยุดในเวลาต่อมา พร้อมกับย้ำว่ามันส่งผลกระทบทั้งร่างกายและจิตใจ

นอกจากโรคกินไม่หยุดแล้ว ยังมีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการกินอาหารเช่นเดียวกัน กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนไปทำความเข้าใจโรคที่เกิดความผิดปกติจากการกิน เพื่อตอกย้ำว่าสังคมไม่ควรให้ความสำคัญกับคำว่าอ้วนหรือผอมมากเกินไป 

  • รู้จัก Eating disorder กลุ่มโรคทางจิตเวชอย่างหนึ่ง 

ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาผู้คนหันมาใส่ใจกับคำว่า “โรคอ้วน(Obesity)” กันมากขึ้น แต่ยังมีอีกกลุ่มโรคหนึ่งที่ก็ได้รับความสนใจไม่แพ้กัน คือ กลุ่มโรคที่เรียกว่า Eating disorder

Eating disorder คือ โรคที่มีพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ผิดปกติ เป็นสาเหตุหรือมีส่วนเกี่ยวข้องที่ทําให้นํ้าหนักตัวมากหรือน้อยกว่าปกติชัดเจนหรือทําให้มีการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักตัวอย่างมากจนเป็นอันตรายต่อชีวิต

Eating disorder จัดเป็นกลุ่มโรคทางจิตเวชอย่างหนึ่ง ในขณะที่ โรคอ้วน จัดเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เกิดกับร่างกาย 

เราอาจจะไม่คุ้นเคยกับคำว่า “Eating disorder หรือโรคที่เกิดจากพฤติกรรมการกินมากนัก แต่ถ้าให้นึกเชื่อมโยงไปถึงวงการนางแบบ ที่มักจะมีกรณีนางแบบกินสำลีเพื่อรักษาหุ่นให้อิ่มนาน หรือเหตุการณ์โก่งคออ้วกอาหาร เพราะกลัวอ้วน ตัวอย่างเหล่านี้ก็หนึ่งในโรคกลุ่ม Eating disorder โดยปัจจุบันกลุ่มโรคนี้ถูกแยกมาเป็น 3 โรคย่อยคือ 

162392040887

  • โรคกินไม่หยุด

โรค Binge Eating Disorder หรือแปลในบริบทภาษาไทยคือโรคกินไม่หยุดที่นักร้องไอซ์ ศรัณยูออกมายอมรับว่าตนเองเป็นอยู่นั้น คือโรคที่มีการรับประทานอาหารเป็นปริมาณมากๆ ผิดปกติ ซ้ำๆหลายครั้งโดยควบคุมไม่ได้ หลังจากทานไปแล้ว จะจิตตก รู้สึกกังวล รู้สึกผิด โทษตัวเองว่าไม่ควรกิน  แต่ไม่สามารถหักห้ามใจได้ ซึ่งบ่อยครั้งจะเกิดขึ้นเมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิต เช่น เป็นโรคซึมเศร้า หรือวิตกกังวล 

The American Psychological Association’s (APA) ได้เพิ่มโรคกินไม่หยุดในรายชื่อของโรคทางจิตเวชในปี 2013 

โดยมีพฤติกรรมดังนี้ 

  • การกินไวกว่าปกติ
  • การกินจนรู้สึกอิ่มมากไป 
  • การกินเยอะมากถึงแม้ว่าจะไม่หิว 
  • การกินเพียงลำพัง เนื่องจากรู้สึกอับอายกับปริมาณที่ตัวเองกิน 
  • รู้สึกรังเกียจ ซึมเศร้า หรือรู้สึกผิดหลังกิน 

 และเมื่อเกิดการกินอาหาร ความรู้หลังจากการกินจะเกิดความรู้สึกผิด 

  • รู้สึกว่าควบคุมพฤติกรรมการกินไม่ได้ 
  • พยายามลดน้ำหนักหลายครั้งแต่ทำได้ยาก  
  • วางแผนที่จะกินเยอะ และซื้ออาหารเผื่อไว้ก่อน 
  • กักตุนอาหาร 
  • ซ่อนอาหาร 
  • มีความรู้สึกตื่นตระหนก ไม่มีสมาธิ วิตกกังวล และ สิ้นหวัง 

โดยมีวงจรความคิดต่อพฤติกรรมอาหารดังนี้ 

  1. รู้สึกสิ้นหวังที่เป็นโรคกินไม่หยุดและหาทางออกไม่ได้ 
  2. รู้สึกผิด 
  3. พยายามบังคับตัวเอง 
  4. กินเยอะอีกครั้ง 

การที่จะวินิจฉัยว่าเป็นโรคกินไม่หยุดได้ ผู้ป่วยต้องมีอาการกินไม่หยุดอย่างน้อย  1 ครั้งต่อสัปดาห์เป็นเวลา 3 เดือนหรือมากกว่านั้น 

นอกจากนี้อาการพ่วงนอกจากความอ้วน ยังมีอาการจิตเวชอย่างอื่นแทรกซ้อนตามมา เช่น 

  • โรคเกี่ยวกับอารมณ์และความวิตกกังวล
  • โรคซึมเศร้ารุนแรง 
  • โรคย้ำคิดย้ำทำ 
  • โรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์รุนแรง 
  • การใช้แอลกอฮอลล์และสารเสพติดอย่างผิด  
  • ความผิดปกติทางบุคลิกแบบก้ำกึ่ง

162384344572

  • Anorexia nervosa โรคคลั่งผอม 

โรคคลั่งผอมหรือที่เรียกว่า Anorexia Nervosa ผู้ป่วยจะมีความกังวลเกี่ยวกับรูปร่างของตนเอง โดยกลัวว่าจะอ้วนเกินไป เกิดขึ้นได้ทั้งในคนที่เคยมีปัญหาเรื่องรูปร่างและในคนที่มีรูปร่างปกติอยู่แล้ว ผู้ป่วยโรคคลั่งผอมจะพยายามควบคุมน้ำหนักให้ต่ำลงเรื่อย กระทั่งต่ำกว่ามาตรฐาน รูปร่างของผู้ป่วยจะผอมมากจนเห็นได้ชัด แต่ผู้ป่วยก็ยังไม่พอใจในรูปร่างของตนเอง และลดน้ำหนักต่อไป หากปล่อยไว้อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

ประเภทของโรคคลั่งผอม

แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ

  • อดอาหารหรือออกกำลังกายเพียงอย่างเดียว
  • อดอาหารหรือออกกำลังกายร่วมกับกระตุ้นให้อาเจียนออกมา

สาเหตุของโรคคลั่งผอม

จุดเริ่มต้นของโรคคลั่งผอม คือผู้ป่วยจะไม่พอใจในตนเอง เกิดจากพื้นฐานความรู้สึกว่าตนเองยังไม่ดีพอ หรือยังไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งที่ผู้ป่วยโรคนี้มักเป็นคนที่ประสบความสำเร็จในหลายเรื่อง เช่น เป็นคนเรียนดี หรือมีความสามารถด้านอื่นที่ดี แต่คนกลุ่มนี้มักมีความคาดหวังในตนเองสูงเกินไป และไม่รู้สึกพอใจกับความสำเร็จที่เกิดขึ้น อยากทำให้สำเร็จมากกว่าที่เป็นอยู่ เมื่อถูกกระตุ้นในเรื่องของรูปร่าง เช่น โดนทักว่าอ้วน ผู้ป่วยจะกังวลเกี่ยวกับรูปร่างตนเองมากเกินไป และเริ่มควบคุมน้ำหนัก เมื่อน้ำหนักลดลงจะรู้สึกภูมิใจที่ทำได้ แต่จะยังไม่พอใจในรูปร่างและอยากลดน้ำหนักต่อไปเรื่อย เพราะทุกครั้งที่น้ำหนักลดลงผู้ป่วยจะภูมิใจและมั่นใจ กระทั่งน้ำหนักต่ำกว่ามาตรฐานและอาจเป็นอันตรายในที่สุด

ปัจจัยที่ส่งผลต่อโรคคลั่งผอม

ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคคลั่งผอมมีหลายอย่าง อาจเกิดจากตนเองหรือครอบครัวและอื่น ที่ผ่านมาพบว่ามีผู้ป่วยบางรายเติบโตในครอบครัวที่มีความคาดหวังสูง ทำให้ผู้ป่วยไม่ค่อยพึงพอใจในตนเอง เมื่อเกิดปัญหาเรื่องรูปร่าง จึงกลายเป็นความคลั่งที่อยากจะผอมมาก ไม่มีที่สิ้นสุด

162384347329

  • Bulimia nervosa โรคล้วงคอ 

โรคบูลิเมีย เนอโวซา หรือเรียกสั้นๆว่า “บูลิเมีย Bulimia” เป็นภาวะความผิดปกติในเรื่องของการรับประทานอาหาร โดยเป็นความผิดปกติที่มีลักษณะเป็นวงจรที่เริ่มจากการรับประทานอาหารปริมาณมากในช่วงเวลาสั้นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารที่มีแคลอรีสูง แล้วตามด้วยการพยายามกำจัดอาหารที่เพิ่งกินเข้าไปนั้น ด้วยการทำให้ตัวเองอาเจียนและ/หรือการใช้ยา เช่น ยาระบาย ยาขับปัสสาวะ ยาบ้า ผู้ที่เป็น Bulimia มักจะเป็นหญิงสาวในช่วงวัยรุ่นตอนปลายถึงช่วงวัยยี่สิบต้นๆ

อาการของโรค Bulimia

โรค Bulimia แสดงอาการได้หลายอย่างแตกต่างกันไป ทั้งด้านความคิด พฤติกรรม และอาการทางกาย ซึ่งได้แก่
มีการกินอาหารปริมาณมากในช่วงเวลาสั้นๆ แล้วตามด้วยการทำให้อาเจียน
ไม่รับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น หรือไปเข้าห้องน้ำหลังอาหารเพื่อที่จะอาเจียนอาหารที่เพิ่งกินเข้าไป
มีพฤติกรรมแอบกักเก็บอาหารไว้รับประทาน
หมกมุ่นกับการอดอาหารและการออกกำลังกาย
หลีกเลี่ยงการเข้าสังคมและอาจมีพฤติกรรมทำร้ายตนเอง

ผู้ป่วยอาจมีน้ำหนักตัวขึ้นๆ ลงๆ แต่ก็มักจะมีค่าดัชนีมวลกาย (BMI) อยู่ในเกณฑ์ปกติ ทว่าผู้ป่วยก็มักจะยังคิดว่าตนเองมีรูปร่างอ้วน ซึ่งไม่ตรงกับสภาพร่างกายที่เป็นอยู่จริง อาการทางกายอื่น ที่พบได้ เช่น ปวดท้อง ท้องอืดแน่น อาหารไม่ย่อย ท้องผูกหรือท้องเสีย ขาดน้ำ เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า เป็นลมหมดสติ

ภาวะแทรกซ้อนของโรค Bulimia

การทำให้ตนเองอาเจียนบ่อยๆ สามารถส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายดังนี้
กรดจากกระเพาะอาหารทำให้เกิดการอักเสบของกระเพาะอาหารและหลอดอาหาร
ฟันผุ ฟันเปลี่ยนสี มีเหงือกอักเสบและมีกลิ่นปาก เนื่องมาจากกรดของกระเพาะอาหาร
ใบหน้าดูเหมือนบวมฉุจากการที่ต่อมน้ำลายบวม
ไตอาจเสียหาย มีนิ่วไต จากการสูญเสียน้ำมากเกินไป
การทำงานของหัวใจผิดปกติ ใจสั่น จากการเสียสมดุลของเกลือแร่
ผิวหนังแห้ง ผมร่วง
ถ้าผู้ป่วยใช้ยาระบายเป็นประจำ อาจทำให้กล้ามเนื้อลำไส้เสียหายได้

ที่มา

ICE SARUNYU OFFICIAL

Review of the drug treatment of binge eating disorder

Binge Eating Disorder

Anorexia Nervosa

Krabi Nakharin International Hospital