ชาติเอเชียไม่มั่นใจข้อริเริ่ม'B3W'แข่ง'บีอาร์ไอ'ได้

ชาติเอเชียไม่มั่นใจข้อริเริ่ม'B3W'แข่ง'บีอาร์ไอ'ได้

เอเชียไม่มั่นใจข้อริเริ่ม'B3W'แข่ง'บีอาร์ไอ'ได้ ขณะที่นักวิเคราะห์ให้ความเห็นว่า ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ร่วมในโครงการบีอาร์ไอเพราะความสะดวกของการทำข้อตกลง ไม่ใช่เพราะเหตุผลด้านอุดมการณ์หรือภูมิศาสตร์การเมือง

แผนการของกลุ่มจี7 ที่เป็นโครงการริเริ่มสร้างโลกที่ดีกว่ากลับคืนมา (B3W) ด้วยการเป็นพันธมิตรทำโครงการโครงสร้างพื้นฐานกับประเทศกำลังพัฒนาที่ต้องใช้เงินถึง 40 ล้านล้านดอลลาร์ ภายในปี 2578 ได้รับการตอบรับจากประเทศต่างๆที่อยู่วงโคจรและอิทธิพลของจีนในทันที แต่ประเทศเหล่านี้ยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการจริงจัง หรือการมีพันธะผูกพันของบรรดาชาติตะวันตกในโครงการต่างๆในประเทศตลาดเกิดใหม่

ข้อริเริ่มสร้างโลกที่ดีกว่ากลับคืนมา (B3W)ถูกเสนอขึ้นมาในเวทีประชุมสุดยอดผู้นำจี7เมื่อสัปดาห์ที่แล้วในประเทศอังกฤษ แต่ยังไม่มีรายละเอียดและผู้สังเกตุการณ์ตลอดจนนักวิเคราะห์หลายคนมีความเห็นตรงกันว่าน่าจะต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะเป็นจริงได้

อย่างไรก็ตาม ความพยายามผลักดันข้อริเริ่มนี้ของสหรัฐและชาติตะวันตกอื่นๆ ถูกมองว่าเป็นทางเลือกใหม่นอกเหนือจากโครงการ“หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” หรือบีอาร์ไอ ของจีนที่ถูกวิจารณ์อย่างหนักว่าเป็น“กับดักหนี้” โดยใช้การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเป็นเครื่องมือ

ขณะที่รัฐบาลในเอเชียบอกว่าเปิดกว้างพร้อมทำงานร่วมกับบรรดาชาติพัฒนาแล้วเพื่อบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแต่ปัญหาท้าทายของข้อริเริ่ม B3W คือจะสามารถตามทันความเร็วของโครงการบีอาร์ไอที่จีนเดินหน้าสร้างสายสัมพันธ์กับบรรดาประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคอย่างต่อเนื่องหรือไม่

“ชอย ชิง ก๊วก” ผู้อำนวยการสถาบัน ISEAS-Yusof Ishak Instituteในสิงคโปร์ กล่าวว่า "ทุกวันนี้บรรดาประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็มีความก็รู้สึกระแวงอยู่แล้วที่ต้องพึ่งพาจีนมากไป จึงตอบรับข้อริเริ่มเรื่อง B3W แต่ธรรมชาติของข้อริเริ่มนี้ มีความสลับซับซ้อนมาก ทั้งยังเป็นข้อริเริ่มที่เคลื่อนไหวช้ากว่าโครงการบีอาร์ไอของจีน และบรรดาประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ร่วมในโครงการบีอาร์ไอ ก็เพราะรับรู้ในความสะดวกของการทำข้อตกลงต่างๆที่ทำมาในอดีต ไม่ใช่เพราะเหตุผลด้านอุดมการณ์ทางการเมือง หรือเหตุผลด้านภูมิศาสตร์การเมือง "

ทั้งนี้ จี7 และพันธมิตรจะใช้โครงการริเริ่ม B3W ระดมเงินทุนภาคเอกชนในหลากหลายสาขา เช่น โลกร้อน สุขภาพและความมั่นคงด้านสุขภาพ เทคโนโลยีดิจิทัล ความเสมอภาคและเท่าเทียมกันทางเพศ โดยขณะนี้ยังไม่ทราบแน่ชัดถึงการดำเนินแผนงาน และเงินทุนที่จะจัดสรรให้

ขณะที่มหินทรา สิเรกา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศของอินโดนีเซีย อินโดนีเซียจัดทำโครงการมากมายที่เปิดกว้างให้มีการร่วมลงทุนและพร้อมจะทำงานร่วมกับบรรดาชาติพัฒนาแล้วอย่างจริงจัง

อย่างไรก็ตาม กระทรวงประสานงานร่วมด้านกิจการทางทะเลและการลงทุน ซึ่งเป็นกระทรวงหลักในการทำสัญญาสำหรับโครงการต่างๆในบีอาร์ไอ บอกว่าชาติพัฒนาแล้ว จำเป็นต้องเรียนรู้และปรับปรุงปัญหาการไม่ใส่ใจประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอดีตเพื่อแสดงให้เห็นว่ามีความมุ่งมั่นอย่างแท้จริงกับโครงการพัฒนาในท้องถิ่น

"เราต้อนรับและยินดีที่มีข้อริเริ่ม B3W แต่แน่นอนเราหวังว่าครั้งนี้พวกเขาจะทุ่มเทเม็ดเงินลงทุนจริงๆตามที่พูด "โจดี มาฮาร์ดี โฆษกกระทรวงประสานงานร่วมด้านกิจการทางทะเลและการลงทุนของมาเลเซีย กล่าว

ขณะที่จีน อยู่ในกลุ่มนักลงทุนรายใหญ่สุดของอินโดนีเซีย และประเทศนี้ส่วนใหญ่เปิดกว้างรับเงินทุนจากจีนในรูปแบบธุรกิจต่อธุรกิจมากกว่าการลงทุนที่รัฐบาลสนับสนุนหรือดำเนินการผ่านข้อริเริ่มบีอาร์ไอ

โครงการบีอาร์ไอที่โดดเด่นที่สุดในอินโดนีเซียคือโครงการสร้างทางรถไฟความเร็วสูงจาการ์ตา-บันดุงที่กำลังเจอปัญหาต้นทุนบานปลาย

ข้อมูลจากเรฟินิทีฟ ระบุว่า มีกว่า100 ประเทศที่ลงนามข้อตกลงกับรัฐบาลจีนเพื่อร่วมมือในโครงการบีอาร์ไอจำนวนกว่า 2,600 โครงการ มีมูลค่ากว่า 3.7 ล้านล้านดอลลาร์

เมื่อปีที่แล้ว รัฐบาลปักก่ิ่งบอกว่า ประมาณ 20% ของโครงการต่างๆในบีอาร์ไอได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ประกอบกับจีนต้องชลอโครงการบางโครงการไว้ หลังจากหลายประเทศเรียกร้องให้มีการทบทวน เลื่อน หรือแม้กระทั่งลดเงินลงทุน โดยอ้างข้อวิตกกังวลเรื่องต้นทุนโครงการ ปัญหาคอร์รัปชั่นและปัญหาอำนาจอธิปไตยถูกกัดเซาะ

แต่ถึงแม้ประชาคมโลกจะกังวลเรื่องอิทธิพลของจีนที่นับวันจะเพิ่มขึ้น บรรดานักวิเคราะห์และผู้กำหนดนโยบายคาดการณ์ว่า การพัฒนาระยะยาวของเอเชียจำเป็นต้องพึ่งพาการเมือง

ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (เอดีบี)ประมาณการเมื่อปี 2560 ว่า ประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จำเป็นต้องใช้เงิน 1.7 ล้านล้านต่อปีในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไปจนถึงปี 2573เพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตอย่างยั่งยืน

คาร์ล ชู รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวางแผนด้านเศราฐกิจของฟิลิปปินส์ กล่าวว่า ประเทศฟิลิปปินส์ยังคงเปิดกว้างรับหุ้นส่วนประเทศต่างๆ ที่มีประสบการณ์ที่ดีด้านพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ ยุโรป และสหรัฐ

“ในความเป็นจริงแล้ว ประเทศเรายังมีช่องว่างอีกมากในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเราเริ่มอุดช่องว่างเหล่านี้มาตลอด 5 ปีที่ผ่านมา แต่เรายังคงต้องอุดช่องว่างนี้ต่อไป”ชู กล่าว

ส่วนเจ้าหน้าที่ในกระทรวงต่างประเทศคนหนึ่งของบังกลาเทศที่ปฏิเสธเปิดเผยชื่อบอกว่า รัฐบาลบังกลาเทศยังคงมีพันธกิจกับการเป็นหุ้นส่วนในโครงการของบีอาร์ไอ

โรแลนด์ ราจาห์ นักเศรษฐศาสตร์จากโลวี อินสติติว กลุ่มนักคิดมีฐานดำเนินงานในนครซิดนีย์ให้ความเห็นว่า ส่วนใหญ่แล้วประเทศทั่วโลกสามารถเลือกได้ว่าจะทำโครงก่ารของจีนหรือโครงการที่ชาติตะวันตกสนับาสนุนโดยไม่ต้องเผชิญหน้ากับปัญหาการเมืองใหญ่ๆ แต่ในทางปฏิบัติ อาจมีบางเซคเตอร์ที่เจอปัญหามากกว่า