ศบค.เปิดแผนจัดสรร'วัคซีนโควิด'เดือนก.ค.
ศบค.เปิดแผนจัดสรรวัคซีนโควิดเดือน ก.ค. เฉพาะกทม.รับ 2.5 ล้านโดส ย้ำให้คนแก่-โรคเรื้อรังก่อน รับมอบ'วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า'อีก 1 ล้านโดส กระจายฉีดทันที ส่วน ซิโนแวค เข้า อีก 2 ล้าน 24 มิ.ย.นี้
เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ได้รับมอบวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเพิ่มอีก 1 ล้านโดส มีการตรวจสอบ คัดแยก เรียบร้อย และกระจายไปยังทั่วประเทศภายในบ่ายวันที่ 18 มิ.ย.ไม่เกินวันที่ 19 มิ.ย. ทั้งนี้ย้ำว่าทุกอย่างเป็นไปตามแผน ยังไม่มีอะไรที่ไม่เป็นไปตามแผน ที่กรมควบคุมโรคได้ไปหารือร่วมกับทางบริษัท ซึ่งสัปดาห์หน้าวัคซีนของแอสตร้าฯ ก็จะส่งมอบอีก 1 ล็อต และส่งให้ทุกสัปดาห์ ส่วนซิโนแวค จะเข้ามาอีก 2 ล้านโดส ในวันที่ 24 มิ.ย.นี้
ผู้สื่ข่าวถามว่า เมื่อดูทิศทางการส่งวัคซีนแอสตร้าฯ 2 ล็อต ที่ผ่านมาประมาณ 2 ล้านโดส และอีกกว่า 1.6 ล้านโดสนี้แปลว่ามีสัญญาณที่จะส่งมาสัปดาห์ละไม่ต่ำกว่า 1 ล้านโดส และในเดือน มิ.ย.อาจจะถึง 6 ล้านโดสหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ก็เป็นข้อตกลงระหว่างแอสตร้าฯ กับกรมควบคุมโรค รมว.เป็นเพียงผู้สนับสนุน และการกระจายก็เป็นหน้าที่ของกรมควบคุมโรค ตามแผน ศบค. แต่ทุกอย่างเป็นไปตามแผน ไม่น้อยไปกว่าเดิม เมื่อถามย้ำว่า สัปดาห์หน้าจะเข้ามาถึง 5 แสนหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวอย่างอารมณ์ดีว่า “หากเข้ามามากกว่านี้ นักข่าวจะเลี้ยงข้าวผมหรือไม่”
“เดือนนี้โอเค เดือนหน้าก็โอเค วัคซีนไม่ขาด วัคซีนฉีดได้ตามเป้าของประชากรไทย วันนี้ศบค.รับทราบแล้วว่ามีวัคซีน 105 ล้านโดส และสธ. กรมควบคุมโรค ก็ขอ ศบค.ในการจัดซื้อเพิ่มอีก ให้ครบ 150 ล้านโดส สำหรับปีหน้าด้วย” นายอนุทิน กล่าว
วันเดียวกัน ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19(ศบค.) กล่าวถึงการจัดสรรและจัดหาวัคซีนโควิด-19 ว่า ที่ประชุม ศบค.พิจารณาแผนการจัดสรรและจัดหาวัคซีนโควิด-19ในแต่ละจังหวัดตามที่ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เสนอ โดยเริ่มจากการจัดสรรวัคซีนเดือนก.ค. 2564 เป้าหมายให้บริการวัคซีน 10 ล้านโดส โดยพิจารณาจัดสรรวัคซีนดังกล่าวให้แก่ผู้ที่จองฉีดวัคซีนล่วงหน้าในระบบ “หมอพร้อม” คือ กลุ่มผู้สูงอายุ/ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ต้องได้รับก่อน
"การจัดสรร จะเน้นจังหวัดที่มีการระบาดโควิดสูง คือ พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด มีกรุงเทพฯ สมุทรปราการ นนทบุรี และปทุมธานี และบวกอีก 1 จังหวัด คือ ภูเก็ต ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีแผนเปิดการท่องเที่ยว ดังนั้น 5 จังหวัดจะได้รับก่อน
ส่วนพื้นที่สีส้ม มี 23 จังหวัด จะได้รับวัคซีนลดหลั่นลงมา ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุด หรือมีความเร่งด่วนในการเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ภายหลังการระบาด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ตาก หนองคาย สระแก้ว ระนอง นราธิวาส ยะลา ปัตตานี สงขลา ตรัง ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี นครปฐม พระนครศรีอยุธยา ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี บุรีรัมย์ สุราษฎร์ธานี(อ.เกาะสมย) พังงา และกระบี่ ส่วนจังหวัดที่เหลือ 49 จังหวัดจะได้อีกระดับหนึ่ง
เกณฑ์การจัดสรรวัคซีนในแต่ละจังหวัด ข้อมูล ณ วันที่ 18 มิ.ย. 2564 จากเป้าหมายวัคซีน 10 ล้านโดสในเดือนกรกฎาคม 2564 ประกอบด้วย
กลุ่มที่ 1 เป็นจังหวัดที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดในระดับควบคุมสูงสุด เข้มงวด และจังหวัดเศรษฐกิจท่องเที่ยว 5 จังหวัด ได้วัคซีนร้อยละ 30 แยกย่อยดังนี้
-กรุงเทพมหานคร(รวมทปอ. และประกันสังคม) จำนวน 2.5 ล้านโดส
-นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ จำนวน 6 แสนโดส
-ภูเก็ต จำนวน 2 แสนโดส
กลุ่มที่ 2 จังหวัดที่มีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน หรือพื้นที่ควบคุมสูงสุด หรือมีความเร่งด่วนในการเตรีรยมความพร้อมรอง รับสถานการณ์ภายหลังการระบาดจำนวน 23 จังหวัด ได้ร้อยละ 25 รวม 2.5 ล้านโดส(เฉลี่ยจังหวัดละ 1 แสนโดส)
กลุ่มที่ 3 จังหวัดที่เหลือของประเทศไทย 49 จังหวัด ร้อยละ 35 จำนวน 3.5 ล้านโดส (เฉลี่ยจังหวัดละ 7 หมื่นโดส)
กลุ่มที่ 4 อื่นๆ ได้แก่หน่วยฉีดส่วนกลาง องค์กรภาครัฐ และสำรองส่วนกลางสำหรับตอบโต้การระบาด ร้อยละ 10 จำนวน 1 ล้านโดส อย่างไรก็ตาม การจัดสรรวัคซีนขึ้นอยู่กับบริษัทผู้ผลิตส่งมอบ สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามสถานการณ์การระบาดของโรคด้วยเช่นกัน
ส่วนการจัดหาวัคซีนโควิด จำเป็นต้องมีการขอจัดสรรเพิ่มเป็น 150 ล้านโดสภายในปี 2565 โดยต้องครอบคลุมและเพิ่มกลุ่มเป้าหมายให้มากขึ้น เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันของโรค หรือกรณีอื่นใดที่ต้องมีการใช้วัคซีนเพิ่มเติม ขณะนี้มีการจัดหาและเจรจาจองวัคซีนแล้ว 105.5 ล้านโดส แบ่งเป็นแอสตร้าเซนเนก้า 61 ล้านโดส ซิโนแวค 19.5 ล้านโดส ไฟเซอร์ 20 ล้านโดส และจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน 5 ล้านโดส
“ ประเทศไทยต้องเตรียมงบประมาณจัดหาจัดซื้อวัคซีนเพิ่มเติมให้ครบ 150 ล้านโดส โดยภาครัฐจัดหาวัคซีน ดังนี้ วัคซีนซิโนแวค ประมาณ 28 ล้านโดส และวัคซีนโควิด19 อื่นๆ อีกประมาณ 22 ล้านโดส รวมเป็น 50 ล้านโดส ทั้งนี้ ขึ้นกับผลการศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีน และสถานการณ์ของเชื้อกลายพันธุ์ เพราะอาจต้องมีเข็ม 3 หรือเข็ม 1 และ 2 สลับกัน ซึ่งตอนนี้นักวิจัยกำลังคิดค้น เพื่อความมั่นคงก็ต้องเตรียมพร้อมและขยายเพดานมากขึ้น” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว