“นายกฯ”เปิดทำเนียบถกเอกชน เฟ้นมาตรการช่วยเอสเอ็มอี
การระบาดของโควิด-19ที่ยาวนานมากกว่า 1 ปีได้ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจอย่างรุนแรง ผู้ประกอบการส่วนหนึ่งต้องปิดกิจการลง โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีสภาพคล่องต่ำ และมีความสามารถในการปรับตัวรับกับการแพร่ระบาดได้น้อยกว่ากิจการขนาดใหญ่
จากข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)ระบุว่าภาพรวมประมาณเศรษฐกิจเอสเอ็มอี ไตรมาส 1 ปี 2564 คาดว่าจะติดลบ4.8% จากเดิมที่คาดไว้ติดลบ2-2.4% เนื่องจากการระบาดรอบใหม่ของโควิดที่กระทบต่อรายได้ ภาระหนี้ ทำให้การฟื้นตัวของกิจการทำได้ยากขึ้นโดยในไตรมาสที่ 1 มีเอสเอ็มอีปิดกิจการไปแล้วมากกว่า 2 หมื่นรายซึ่งสถานการณ์ที่เกิดขึ้นภาครัฐจำเป็นต้องเร่งหามาตรการช่วยเหลือโดยเร็ว
ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่าในวันพุธที่ 23 มิ.ย.นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหมจะหารือร่วมกับตัวแทนของภาคเอกชนประกอบไปด้วยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย และสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีเล็งเห็นถึงความสำคัญของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในฐานะฟันเฟืองที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจแต่ในการเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง นอกจากนี้ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีบางส่วนต้องการมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมที่นอกเหนือจากมาตรการทางการเงิน
“ก่อนหน้านี้นายกรัฐมนตรีได้มีการขอให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยในการปรับระยะเวลาการชำระเงิน (credit term) ซึ่งที่ผ่านมาก็ช่วยได้ในระดับหนึ่งแต่ปัจจุบันวิกฤติโควิดยาวนานขึ้นจึงต้องมีมาตรการที่ออกมาจากทั้งฝั่งของภาครัฐและมาตรการที่ภาครัฐจะสนับสนุนให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี”
สำหรับแนวทางการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบกับโควิดที่จะออกมาต่อจากนี้มีทั้งมาตรการของรัฐซึ่งกำลังดูอยู่ระหว่างการจัดทำมาตรการช่วยเหลือการจ้างงาน (co-payment) ส่วนมาตรการที่ภาครัฐจะขอให้เอกชนโดยเฉพาะเอกชนรายใหญ่ช่วยเหลือรายเล็กเช่น การช่วยซื้อสินค้าจากเอสเอ็มอีที่อยู่ในซัพพายเชนการผลิตสินค้ามากขึ้น การช่วยเหลือเรื่องของช่องทางการจัดจำหน่าย รวมทั้งการให้รายใหญ่ที่ทำธุรกิจกับเอสเอ็มอีช่วยเจรจากับธนาคารพาณิชย์ในการปล่อยสินเชื่อซึ่งมีบางธุรกิจได้ช่วยเหลือกันในลักษณะนี้แล้ว
ในส่วนของมาตรการการช่วยเหลือการจ้างงานที่ภาครัฐจะช่วยออกค่าจ้างแรงงานบางส่วนนั้นขณะนี้ยังอยู่ระหว่างหารือกับภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำรายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อให้สามารถช่วยเหลือได้อย่างถูกต้องเหมาะสมในกลุ่มธุรกิจที่ควรได้รับการช่วยเหลือเนื่องจากได้รับผลกระทบจากโควิดให้สามารถเดินหน้าธุรกิจไปได้
แสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า สิ่งที่สมาพันธ์จะนำเสนอต่อภาครัฐจะมีอยู่ 4 เรื่องหลัก ๆ ได้แก่ 1. การจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูเอสเอ็มอีที่เป็นเอ็นพีแอล โดยกองทุนฯนี้จะเข้าไปซื้อสินทรัพย์จากเอสเอ็มอีที่เป็นเอ็นพีแอลในราคาที่เป็นธรรม 2. การจัดตั้งกองทุนอัดฉีดเงินช่วยเอสเอ็มอี โดยการเร่งผลักดันร่างพ.ร.บ.กองทุนพัฒนาวิสาหกิจ พ.ศ.... ที่กระทรวงอุตสาหกรรม และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้ร่างไว้แล้วให้เกิดขึ้นโดยเร็ว เพื่อเป็นช่องทางขอสินเชื่อให้กับเอสเอ็มอี ที่มีการพิจารณาผ่อนปรนมากกว่าธนาคารทั่วไป
3. ออกมาตรการพักต้น พักดอกเบี้ย ที่พักหนี้อย่างแท้จริงโดยไม่มีการคิดดอกเบี้ยใดๆ เป็นเวลา 6-12 เดือน เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่เริ่มผิดนัดชำระหนี้เข้าสู่กลุ่มสีเหลืองไม่ให้สถานการณ์เลวร้ายลงจนตกไปอยู่ในกลุ่มสีแกงที่เป็นเอ็นพีแอล เพราะเอสเอ็มอีที่เริ่มผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขั้นกว่า 2 เท่าตัวเมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด-19 และ4. มาตรการแปลงโอกาสเป็นทุน หรือการออกสินเชื่อ Factoring ที่เปิดให้เอสเอ็มอีนำใบคำสั่งซื้อมาขอกู้เงินธนาคารเพื่อนำไปผลิตสินค้า หรือบริการ รวมทั้งการค้ำประกันกับภาครัฐ