เปิดตำรา 'Bearhug' ทำธุรกิจแบบไม่กลัว 'เจ๊ง' ต้องมีอะไรบ้าง?

เปิดตำรา 'Bearhug' ทำธุรกิจแบบไม่กลัว 'เจ๊ง' ต้องมีอะไรบ้าง?

เปิดแนวคิดการทำธุรกิจสไตล์ "ซารต์" และ "กานต์"​ แห่งบ้าน "Bearhug" ที่แม้ขาดทุนหมาดๆ 17 ล้านบาทจาก "ชานมกระป๋อง" แต่ก็ยังพร้อมลุกขึ้นเดินหน้าต่อ!!

"..ธุรกิจขาดทุน 17 ล้าน" หลายคนคงนิยามธุรกิจประโยคนี้ว่า "เจ๊ง!" และถ้าสถานการณ์นี้เกิดขึ้นกับใครก็ไม่ตาม ไม่แปลกที่จะท้อจนหมดไฟ

แต่นั่นไม่ได้เกิดขึ้นกับ "ซารต์ ปัทมพร" และ "กานต์ อรรถกร" พาร์ทเนอร์รู้ใจแห่ง "Bearhug" ผู้เผชิญกับการขาดทุน 17 ล้านจากธุรกิจขาย "ชานมกระป๋อง" ในร้านสะดวกซื้อ

..ขาดทุนขนาดนี้ แต่ทั้งคู่กลับไม่ได้มองว่า ตัวเองกำลัง "เจ๊ง" แถมนี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรก เพราะที่ผ่านมา พวกเขาปิดมาแล้วถึง 3 บริษัท!!

"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" ชวนทั้งคู่มาคุยเรื่องการทำธุรกิจ​พร้อมเส้นทางธุรกิจที่หลายคนอาจไม่เคยรู้ พร้อมแนวคิดในการทำธุรกิจยุคใหม่ที่วันที่โลกเปลี่ยน

ซารต์-ปัทมพร ปรีชาวุฒิเดช และ กานต์-อรรถกร รัตนารมย์ มักจะปรากฏตัวให้เห็นในนามของยูทูบเบอร์ ช่อง "Bearhag" และ "Sunbeary" ที่มีคนติดตามหลักล้าน ทั้ง 2 คนเริ่มทำช่องจากความชอบ ก่อนกระโดดมาอยู่ในสนามธุรกิจด้วยความ "อยากรู้อยากลอง"

สิ่งที่ทำให้พวกเขาถูกพูดถึงอย่างมากในโลกโซเชียล คือการปล่อยคลิปเล่าถึงการขาดทุนถึง 17 ร้านจากการผลิตชานมกระป๋อง Sun Su ขายในร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น

อย่างที่บอกต้นเรื่อง.. นี่ไม่ใช่การขาดทุน หรือปิดกิจการครั้งแรกของพวกเขาทั้งคู่ ปัทมพร เล่าย้อนถึงเส้นทางการทำธุรกิจของพวกเขา ว่านี่ไม่ธุรกิจแรกที่ปิดตัวลง เส้นทางธุรกิจของพวกเขาที่ผ่านการล้ม และลุกครั้งแล้วครั้งเล่า โดยมีหลายธุรกิจที่เคยทำแล้วปิดไปแล้ว 3 บริษัท 1. เปิดคอร์สสอนออนไลน์ 2. เปิดบริษัทขายของโดยได้ไอเดียขายขนม ขายของเล่น 3. บริษัทขายผงโรยศีรษะล้าน

เส้นทางธุรกิจที่ผ่านการล้มซ้ำแล้วซ้ำเล่า อดสงสัยไม่ได้ว่า.. อะไรทำให้ทั้ง 2 คนยังลุกขึ้นเดินหน้าธุรกิจอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง? ด้วยแนวคิดในการทำธุรกิจที่มองว่าการ "ล้ม" คือเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นธรรมดาในโลกธุรกิจ ตราบใดที่ยังมีแรง และความสร้างสรรค์ก็กลับมาทำสิ่งใหม่ๆ ได้เสมอ

"ล้ม" คือเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นธรรมดาในโลกธุรกิจ ตราบใดที่ยังมีแรง และความสร้างสรรค์ก็กลับมาทำสิ่งใหม่ๆ ได้เสมอ

  •  คิดจะเริ่มทำธุรกิจ ต้องมีอะไรบ้าง ? 

จากประสบการณ์ล้มซ้ำแล้วซ้ำเล่า ที่กลายเป็นบทเรียนล้ำค่าแก่ทั้งคู่ เมื่อให้ช่วยกลั่นออกมาเป็น "ของมันต้องมี" สำหรับใครที่อยากจะเริ่มต้นธุรกิจบ้างนั้น ทั้งคู่ถอดสูตรออกมาได้ดังนี้..

- มีความรู้เรื่อง "บัญชีขั้นต้น" ทำให้ไม่กลัวการอ่านงบ เข้าใจการทำบัญชี ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในการมองภาพรวมของการทำธุรกิจ 

- มีความรู้เรื่อง "ภาษีเบื้องต้น" เช่น ภาษีบุคคลธรรมดา ภาษีธุรกิจ ซึ่งจะช่วยให้บริหารจัดการการเงินในธุรกิจได้ดีและถูกต้อง

- มีความรู้ด้าน HR การบริหารทีม ค่าใช้จ่ายด้านบริหารบุคคลเพื่อเตรียมรับมือกับการบริหารบุคคลด้วย

- มีเงิน นอกจากมีสำหรับการเริ่มต้นลงทุนแล้ว ยังต้องวางแผนรองรับให้มั่นใจว่าถ้าธุรกิจล้ม ชีวิตจะไม่ล้ม ตอนที่เราทำธุรกิจ

ซารต์และกานต์ เล่าประสบการณ์การว่าทุกครั้งที่เริ่มต้นธุรกิจยังมีรายได้จากการทำยูทูบอยู่ ไม่ได้ทิ้งทุกอย่างเพื่อไปทำธุรกิจ นอกจากนี้ยังมีการซื้อประกัน อุดเรื่องกองทุน ฯลฯ ซึ่งมีการวางแผนสำรองไว้ ระดับหนึ่ง ต้องมีเงินสดรองรับไว้ว่าเราจะไม่ตายจากการลองทำอะไรใหม่ๆ 

- รู้ว่าตัวเองเจ๊งได้มากที่สุดแค่ไหน เป็นเรื่องที่ต้องประเมินตัวเอง และเรียนรู้ที่จะตัดใจเจ๊งในบางครั้ง เพื่อลุกขึ้นเดินหน้าต่อให้เร็วที่สุด

162461387370

   

  •  สิ่งที่อยากบอกคนทำธุรกิจรุ่นใหม่  

ซารต์ เล่าว่า "ทุกอย่างเราไม่รู้ว่ามันสำเร็จไหม เราต้องมาลองดูก่อน เราชอบไหม มันไปได้ไหม หลายอย่างเราคิดแต่เราไม่ทำ สุดท้ายเราก็ไม่รู้คำตอบว่ามันจะออกมาเป็นยังไง สุดท้ายสิ่งที่เราคิดแล้วมันไม่สำเร็จก็อยากให้มีกำลังใจกับตัวเองเยอะๆ เพราะว่าถ้าเรามีกำลังใจเราจะสร้างอะไรใหม่ก็ได้ แต่เมื่อไรก็ตามที่เราท้อ เราไม่เก่ง อย่างนั้นอย่างนี้ เราอาจจะเจ๊งถาวรไปเลยก็ได้" 

"อยากให้มีกำลังใจกับตัวเองเยอะๆ เพราะถ้าเรามีกำลังใจเราจะสร้างอะไรใหม่ก็ได้
แต่เมื่อไรก็ตามที่เราท้อ เราไม่เก่ง อย่างนั้นอย่างนี้ เราอาจจะเจ๊งถาวรไปเลยก็ได้"

ส่วนกานต์ "ฝากถึงเด็กรุ่นใหม่ ทำธุรกิจอาจจะไม่ใช่ธุรกิจแรกของเราก็ได้ เราอาจจะต้องเจออีก 5 6 7 ธุรกิจ ต้องปิดบริษัท เปิดบริษัท และต้องไปศึกษาเรื่องของบัญชีให้ดี อาจจะคิดว่าเราเป็นเจ้าของธุรกิจสบายๆ ถือเงิน จ้างลูกจ้างทำงาน ความจริงมันตรงกันข้าม ก็แค่ยอมรับมันและอยู่กับมัน"