สั่งสแกน 'มาตรการป้องกันโควิด' ทุกโรงเรียน
ศธ.ออกนโยบายเข้มตั้งไตรภาคี เป็นทีมย่อยสแกน 'มาตรการป้องกันโควิด' ทุกโรงเรียน หลังพบมีนักเรียนติดเชื้อ ย้ำถ้าพบเด็กติดเชื้อ หยุดสอนแบบ on-site ปิดโรงเรียนฆ่าเชื้อทันที พร้อมเผยมีครูอีก 3แสนกว่าคนยังไม่ได้ฉีดวัคซีนโควิด 19
หลังจากเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ในสถานกาณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ 'โควิด-19' ตั้งแต่ วันที่ 14 มิถุนายนที่ผ่านมา พบว่าขณะนี้มีโรงเรียนในหลายจังหวัดต้องปิดการเรียนการสอน เนื่องจากพบนักเรียนติดเชื้อจำนวนมาก
น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผยว่าตนเองได้ติดตามการจัดการเรียนการสอนของ'สถานศึกษา' ทั่วประเทศ พบว่าเมื่อเข้าสู่สัปดาห์ที่ 2 การเปิดเรียนแบบ 'on-site' เรียนที่โรงเรียน จำเป็นต้องเพิ่มความเข้มงวดเรื่องมาตรการความปลอดภัย การปฏิบัติตามมาตรการคัดกรองของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เช่น เคร่งครัดให้เด็กสวมใส่หน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่างในโรงเรียน
ดังนั้น เพื่อเป็นการสกัดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ 'โควิด-19' ที่ 'สถานศึกษา' จึงมีนโยบายเร่งด่วนให้หน่วยงานที่มี'สถานศึกษาในสังกัด ทั้งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เข้มข้นเรื่องการตรวจสอบมาตรการรักษาความปลอดภัยของ'สถานศึกษา' ทุกแห่งทั่วประเทศ ทั้งของรัฐและเอกชน
เพื่อสำรวจว่าได้ปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงศึกษาธิการ ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) และกระทรวงสาธารณสุขหรือไม่ หากโรงเรียนใดไม่เป็นไปตามมาตรการให้เร่งปรับปรุงทันที และหากทำไม่ได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดก็ต้องหยุดเรียนแบบ 'on-site'แล้วเลือกใช้รูปแบบอื่นในการจัดการเรียนการสอนให้นักเรียนแทน เพื่อปรับปรุงในส่วนของโรงเรียนให้ได้ตามมาตรฐานตัวชี้วัดที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ เพื่อความความปลอดภัยสูงสุดของนักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนผู้ปกครอง และประชาชนทุกคน
- ตั้งคกก.ไตรภาคีคุมเข้ม'มาตรการป้องกันโควิด'ในสถานศึกษา
น.ส.ตรีนุช กล่าวต่อว่า ได้มีการตั้ง 'คณะกรรมการไตรภาคี' ที่กรรมการประกอบด้วยผู้แทนจากกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข และผู้ปกครอง ทำหน้าที่ตรวจสอบมาตรฐานการรักษา 'ความปลอดภัย'ของ 'สถานศึกษา' รวมถึงคนในพื้นที่ จัดให้มีการนิเทศ ตรวจติดตามทุกโรงเรียนเป็นประจำ
พร้อมตั้งคณะกรรมการชุดย่อยจำนวนหลายคณะ ซึ่งเป็นตัวแทนของไตรภาคีในพื้นที่ ลงสแกนสถานศึกษาในพื้นที่ของตนเอง เพื่อตรวจสอบหาช่องโหว่ และปรับปรุงพัฒนาอุดรอยรั่วในส่วนนั้น รวมถึงเฝ้าระวังไม่ให้เกิดความหย่อนยานเรื่องมาตรการความปลอดภัย
กรณีที่มีนักเรียนในโรงเรียนนั้นๆติดเชื้อเพียงคนเดียว หรือ ในชุมชนที่เป็นเขตบริการมีชาวบ้านติดเชื้อ ก็ให้โรงเรียนขอความเห็นชอบกรรมการโรคติดต่อจังหวัดปิดเรียนแบบ 'on-site' เพื่อทำความสะอาดโรงเรียน
แล้วเลือกใช้การจัดการเรียนการสอนในรูปแบบอื่นให้แก่นักเรียนในระหว่างที่ปิดโรงเรียน เช่น การเรียน On Line ผ่านอินเทอร์เน็ต หรือ การเรียน On Hand โดยจัดส่งหนังสือ แบบเรียน แบบฝึกหัด หรือ ใบงานให้นักเรียนทำที่บ้าน เป็นต้น ซึ่ง ดิฉันมั่นใจ ว่า การที่มีคณะกรรมการชุดย่อย ซึ่งเป็นคนในพื้นที่จำนวนหลายชุด จะทำให้สามารถสแกนสถานศึกษาทุกแห่งแล้วเสร็จภายในหนึ่งสัปดาห์ และได้ข้อมูลจริง ทำให้แก้ไขปัญหาได้ตรงจุด และรวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้มั่นใจว่าโรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัยจากโควิด
- เผยยอดครู ยังไม่ได้ 'ฉีดวัคซีนโควิด 19'อีก 3 แสนกว่าคน
สำหรับการ'ฉีดวัคซีนโควิด 19'ในกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมี 'ครูและบุคลากรทางการศึกษา' ที่ต้องได้รับการ 'ฉีดวัคซีนโควิด 19' ทั้งหมด 776,895 ราย พบว่าขณะนี้ (วันที่ 22 มิ.ย.2564) มี'ครูและบุคลากรทางการศึกษา'ที่ยังไม่ได้รับการ'ฉีดวัคซีนโควิด 19' 553,835 ราย แบ่งเป็นครู 370,681 ราย และบุคลากร 183,154 ราย แยกเป็นรายสังกัด สำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)424,206 ราย สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา 9,651 ราย
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) 109,760 ราย สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) 10,194 ราย สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.)23 ราย และสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) 1 ราย
ส่วนผู้ที่ได้รับการ'ฉีดวัคซีนโควิด 19'แล้ว 223,060 ราย แบ่งเป็นครู 178893 ราย บุคลากรทางการศึกษา 44,167 ราย โดยมีครูและบุคลากรที่ได้รับการ'ฉีดวัคซีนโควิด 19'เข็มที่ 1 จำนวน 184,083 ราย เป็นครู 150,727 ราย และบุคลากรทางการศึกษา 33,356 ราย แยกรายสังกัด ดังนั้น สพฐ. 74,218 ราย สอศ. 33,672 ราย สช.55,132 ราย กศน.14,691 ราย ก.ค.ศ.245 ราย สกศ. 251 ราย สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.) 5,874 ราย
ครูและบุคลากรทางการศึกษาที่'ฉีดวัคซีนโควิด 19'เข็มที่ 2 จำนวน 38,977 ราย เป็นครู 28,166 ราย และบุคลากร 10,811 ราย แยกรายสังกัด สพฐ. 6,648 ราย สอศ.11,153 ราย สช.16,502 ราย กศน.3,808 ราย ก.ค.ศ.5 ราย สกศ. 129 ราย และสป. 732 ราย