CHAYO-JMT เพิ่มงบซื้อหนี้ ชี้โควิดดันแบงก์ขาย NPL 5.6 แสนล้าน
“ชโย กรุ๊ป” คาดปี 64 แบงก์เทขาย NPL ระดับ 5.3-5.6 แสนล้าน NPA แสนล้าน เหตุโควิดทำหนี้ในระบบพุ่ง เพิ่มงบซื้อเป็น 2 พันล้าน จากเดิม 1.2 พันล้าน ด้าน “เจเอ็มที” ทุ่มเป็น 1 หมื่นล้าน เดิมอยู่ที่ 6 พันล้าน หนุนรายได้ปีนี้โตตามเป้า 30%
นายสุขสันต์ ยศะสินธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ชโย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CHAYO เปิดเผยว่า บริษัทคาดว่าในปี 2564 สถาบันการเงินจะนำหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ออกมาขายเพิ่มขึ้นประมาณ 5.3-5.6 แสนล้านบาท หรือประมาณ 3.3-3.5% จากมูลค่าสินเชื่อทั้งระบบ 16 ล้านล้านบาท โดยพบว่าในไตรมาส 1 ปี 2564 ที่ผ่านมา ปริมาณหนี้ในระบบเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 5.12 แสนล้านบาท หรือ 3.2% เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 4.8-5 แสนล้านบาท หรือ 3.0-3.1% และคาดว่าในช่วงปลายปีนี้หนี้ในระบบจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกอย่างมีนัยสำคัญจากการครบกำหนดระยะเวลาพักหนี้
ในส่วนของหนี้ที่เป็นสินทรัพย์รอการขาย (NPA) คาดว่าสถาบันการเงินจะนำออกมาจำหน่ายสูงขึ้นเช่นกัน โดยคาดว่าจะเห็นปริมาณหนี้ที่นำออกมาขายในระบบเติบโตเท่าตัวในระดับแสนล้านบาท ซึ่งเป็นผลกระทบจากการแพร่ระบาดของสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลให้ภาคธุรกิจและประชาชนได้รับผลกระทบ รวมถึงมาตรการพักทรัพย์พักหนี้ (Asset Warehousing) ที่เปิดให้ผู้ประกอบธุรกิจโอนทรัพย์สินชำระหนี้แก่สถาบันการเงินแบบมีเงื่อนไขในการซื้อคืน
สำหรับงบลงทุนเพื่อซื้อสินทรัพย์เข้ามาบริหารในปี 2564 วางไว้ที่ประมาณ 2 พันล้านบาท แบ่งเป็นงบลงทุนของ CHAYO ประมาณ 1-1.2 พันล้านบาท โดยคาดว่าจะเข้าซื้อหนี้ที่มีหลักประกันประมาณ 60-70% และหนี้ที่ไม่มีหลักประกันประมาณ 30-40% ซึ่งจะส่งผลให้ยอดสินเชื่อคงค้าง (Outstanding Loan) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 1 หมื่นล้านบาท จากระดับ 6.5 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นปี 2563 ส่วนอีก 920 ล้านบาท เป็นงบลงทุนของ บริษัท บริหารสินทรัพย์ชโย เจวี จำกัด (Chayo JV) คาดว่าจะพร้อมดำเนินการไตรมาส 3 ปีนี้ มูลค่าหนี้ที่เข้าซื้อประมาณ 2 พันล้านบาท
พร้อมกันนี้ บริษัทตั้งเป้าหมายรายได้เติบโตไม่ต่ำกว่า 25% จากปีก่อนที่มีรายได้ 520.38 ล้านบาท แม้รายได้ในไตรมาส 2 ปี 2564 จะถูกกระทบจากการระบาดของโควิด-19 รอบ 3 แต่เชื่อว่าการเติบโตของรายได้ในไตรมาสแรกที่สูงถึง 60-70% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน และแนวโน้มรายได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ที่คาดว่าจะฟื้นตัวเพราะเป็นช่วงไฮซีซันของธุรกิจ เหล่านี้จะหนุนให้บริษัทสามารถเติบโตได้ตามเป้าหมาย
เมื่อสอบถามถึงการแข่งขันของธุรกิจ AMC นายสุขสันต์ กล่าวว่า บริษัทไม่กังวลกับการเข้ามาของคู่แข่ง เพราะมองว่าคู่แข่งในระบบที่ประกาศเข้ามาทำธุรกิจเป็นผู้เล่นรายเดิมที่ดำเนินธุรกิจบริหารสินทรัพย์อยู่แล้ว เช่น บมจ.ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น (SAWAD) ที่จับมือกับ บมจ.โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ (NOBLE) หรือ บมจ.อาร์เอส (RS) ที่เข้าซื้อหุ้น บริษัท เชฎฐ์ เอเชีย จำกัด เป็นต้น รวมถึงมองว่าเป็นผลดีที่คนไทยหันมาทำธุรกิจ AMC แทนที่จะปล่อยให้เป็นธุรกิจของนักลงทุนต่างประเทศ ทั้งนี้ ไม่กังวลราคาในการเข้าซื้อสินทรัพย์ โดยคาดว่าจะสามารถรักษาต้นทุนในการเข้าซื้อที่ 50-60% ของมูลหนี้ได้
นายสุทธิรักษ์ ตรัยชิรอาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือ JMT กล่าวว่า ปริมาณหนี้เสียในระบบที่สถาบันการเงินเสนอขายเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563 ที่เกิดการระบาดของโควิด-19 อย่างไรก็ตาม คาดว่าปริมาณหนี้ในปีนี้จะยังไม่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญระดับเท่าตัว เพราะมีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พยุงไว้ แต่คาดว่าในปี 2565 ภายหลังจบมาตรการพักหนี้จะเห็นสัญญาณหนี้เสียในระบบเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ในการนี้บริษัทเพิ่มงบลงทุนซื้อหนี้เสียปี 2564 มาอยู่ที่ 1 หมื่นล้านบาท จากเดิมตั้งไว้ที่ 6 พันล้านบาท ขณะที่รายได้ของบริษัทในปีนี้คาดว่าจะเติบโต 30% จากปีก่อนที่มีรายได้ 3.2 พันล้านบาท โดยคาดว่าแนวโน้มรายได้ในไตรมาส 2 ปี 2564 และช่วงครึ่งหลังที่เหลือจะเติบโตต่อเนื่องจากไตรมาสแรกที่รายได้เติบโต 5.8% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนตามลำดับ เพราะได้ปัจจัยหนุนจากการเข้าสู่ช่วงไฮซีซันของธุรกิจ รวมถึงคาดหวังการเปิดประเทศและการกระจายวัคซีนโควิด-19 จะหนุนให้ลูกหนี้กลับมามีรายได้เพิ่มขึ้น