บช.น. พร้อมรับมือ 'ม็อบ' ดาวกระจาย ไล่ 'นายกฯ' 24 มิ.ย.นี้
บช.น. เตือน สารพัด 'ม็อบ' ร่วมตัวไล่ 'นายกฯ' 24 มิ.ย. อยู่ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ พรบ.ควบคุมโรค
23 มิ.ย.64 - ที่กองบัญชาการตำรวจนคนบาล (บช.น.) พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.), พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รอง ผบช.น. และโฆษก บช.น., พล.ต.ต.สุคุณ พรหมายน รอง ผบช.น. และ พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนะเจริญ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมกันแถลงมาตรการรักษาความปลอดภัยที่กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองนัดชุมนุมขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมที่ทำเนียบรัฐบาลในวันพฤหัสบดีที่ 24 มิ.ย.
พล.ต.ท.ภัคพงศ์กล่าวว่า เนื่องจากมีกลุ่มมวลชนต่างๆ หลายกลุ่มมีการประกาศเชิญชวนประชาชนมาร่วมชุมนุมจัดกิจกรรมในห้วงเวลาต่างๆ หลายสถานที่ กลุ่มแรกคือกลุ่มราษฎร กลุ่มวีโว่ และแนวร่วมมีการจัดกิจกรรมแบ่ง 3 ห้วงเวลา กิจกรรมช่วงแรกเริ่มเวลา 05.00-07.00 น. จัดกิจกรรมที่อนุสาวรีประชาธิปไตย จุดเทียนรำลึกเหตุการณ์ อ่านแถลงการณ์และกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง ช่วงที่ 2 เริ่มเวลา 10.00 น.เคลื่อนขบวนจากอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ไปยังรัฐสภา โดยใช้เส้นทางถนนราชดำเนินการ นครสวรรค์ พิษณุโลก พระราม 6 ทหาร แยกเกียกกาย เพื่อยื่นหนังสือเปิดผนึกถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ข่วงที่ 3 เริ่มเวลา 17.00 น.บริเวณสกายวอร์กแยกปทุมวัน ร่วมกับแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม
กลุ่มที่ 2 .กลุ่มประชาชนคนไทย นำโดยนายนิติธร ล้ำเหลือ หรือทนายนกเขา เวลา 14.00 น.รวมกลุ่มที่แยกอุรุพงษ์ จากนั้นเคลื่อนมวลชนไปยังทำเนียบรัฐบาลฝั่งกรมหลวงชุมพร ถนนพิษณุโลก กลุ่มที่3.กลุ่มไทยไม่ทน นำโดยนายจตุพร พรมพันธ์ เวลา 16.00 น.นัดรวมพลที่แยกผ่านฟ้า ก่อนเคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาล อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ตำรวจมีความพร้อมในการักษาความสงบเรียบร้อย เบื้องต้นใช้กำลังพลของตำรวจนครบาลเป็นหลัก
ผบช.น.เผยต่อว่า สำหรับวัตถุประสงค์ที่ชี้แจงวันนี้ เรื่องที่ 1.แจ้งให้ประชาชนรับทราบการจัดการชุมนุมหรือจัดกิจกรรมต่างๆ ในห้วงเวลาและสถานที่ต่างๆ การจัดกิจกรรมเหล่านั้นอาจกระทบต่อการสัญจรไปมาของประชาชนจะได้หลีกเหลี่ยงการชุมนุม 2.เพื่อให้ทุกฝ่ายทราบว่าการจัดการชุมนุมต้องอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย เนื่องจากปัจจุบันอยู่ระหว่างการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 และ กรุงเทพฯมีการประกาศฉบับที่ 33 ควบคุมการจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค ดังนั้นการจัดกิจกรรมอาจขัดต่อกฎหมายหรือประกาศที่เกี่ยวข้อง 3.แนวทางการปฏิบัติเน้นรักษาความเรียบร้อยเป็นหลักและปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรค สำหรับการตั้งเครื่องกีดขวางหากไม่จำเป็นจะไม่ตั้ง เนื่องจากอาจกระทบต่อความเดือดร้อนของประชาชน แต่หากพิจารณาว่าการชุมนุมมีความวุ่นวายกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน การรักษาความปลอภัยของสถานที่สำคัญก็จะตั้ง
4.การชุมนุมหากพบว่ามีการกระทำความผิดจะดำเนินคดีทุกราย ส่วนแกนนำบางส่วนที่อยู่ระหว่างการประกันตัวของศาลปล่อยตัวชั่วคราวที่มีการกำหนดเงื่อนไขปล่อยตัวชั่วคราวให้ปฏิบัติตามนั้นด้วย หากพบการกระทำความผิดเจ้าหน้าที่ตำรวจมีหน้าที่รวบรวมพยานหลักฐานส่งให้ศาลพิจารณาต่อไป จะเข้าข่ายหรือไม่อยู่ที่การชุมนุมพรุ่งนี้ เพราะเงื่อนไขกำหนดไว้ชัดเจนอยู่แล้ว
พล.ต.ต.สุคุณสรุปการดำเนินคดีเกี่ยวกับการชุมนุมในพื้นที่นครบาลว่า มีการดำเนินคดีเกี่ยวกับการชุมนุมรวมทั้งหมด 217 คดี แบ่งเป็นการชุมนุมคดีทั่วไป 164 คดี คดีความมั่นคง 53 คดี การสอบสวนอยู่ระหว่างชั้นพนักงานสอบสวนและส่งให้อัยการบางส่วน ส่วนคดีที่ส่งให้ศาลเป็นคดีการชุมนุม 19 คดี และคดีคดีความมั่นคง 11 คดี
ด้าน พล.ต.ต.ปิยะกล่าวว่า บช.น.ย้ำเตือนการชุมนุมครั้งนี้ กรุงเทพฯเป็นพื้นที่ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ผู้จัดการชุมนุม ผู้เข้าร่วมชุมนุม จะมีความผิดตามข้อกำหนดตามมาตารา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯฉบับที่ 24 ลงวันที่ 19 มิ.ย.64 ประกับประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินเกี่ยวกับความมั่นคง ฉบับที่ 5 วันที่ 5 พ.ค.64 ประกอบประกาศกรุงเทพฯฉบับที่33และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ยังผิด พ.ร.บ.โรคติดต่อ ผู้ฝ่าฝืนต้องรับโทษตามกฎหมาย ผู้ชักชวนให้มารวมตัวกัน ไม่ว่าจะเป็นทางโซเชียลหรือทางหนึ่งทางใดก็ตามถือว่าเป็นผู้กระทำความผิด ผู้จัดเวที เครื่องเสียง รถสุขา ผู้สนับอุปกรณ์อย่างหนึ่งอย่างใดถือเป็นผู้ร่วมทำผิด สรุปภาพรวมคดีความมั่นคง รวมแล้ว 217 คดี พนักงานสอบสวนสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว 159 คดี คงเหลือระหว่างการสอบสวน 58 คดี กรณีที่ผู้ชุมนุมเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพนักงานสอบสวนหรือชั้นศาลโดยมีเงื่อนไขการปล่อยตัวห้ามกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดในลักษณะที่เคยกระทำผิดมาก่อน ห้ามเข้าร่วมชุมนุมลักษณะที่อาจก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง ห้ามพกพาอาวุธเข้าพื้นที่ชุมนุม ห้ามทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจระกหว่างการชุมนุมเหล่านี้เป็นเงื่อนไขที่ผู้ต้องหาหรือจำเลย หากมีการฝ่าฝืนเงื่อนไขเป็นเหตุให้พนักงานอสบสวนร้องขอต่อศาลเพื่อถอนประกัน ยืนยันว่า บช.น.จะพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ที่กระทำความผิดทุกราย
พล.ต.ท.ภัคพงศ์กล่าวเพิ่มว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่หนักใจ เจ้าหน้าที่เน้นรักษาความเรียบร้อยเป็นหลักให้ประชาชนเดือดร้อนน้อยที่สุด ถ้าการชุมนุมมีความวุ่นวายหรือพิจารณาอาจกระทบต่อคนอื่นหรือทรัพย์สินราชการก็ต้องดำเนินการ ณ ขณะนั้น แต่ถ้าควบคุมได้ก็ต้องเก็บพานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีต่อไป เจ้าหน้าที่ไม่ได้จับตากลุ่มใดเป็นพิเศษ อย่างที่นำเรียนช่วงนี้มปัญหาการแพร่ระบาดโควิดที่เราต้องช่วยกัน ไม่ทราบเหมือนกันว่าการจุดการชุมนุมช่วงนี้มันจะสำคัญกว่าการควบคุมโรคไหม เพราะขณะนี้มีทั้ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินและกฎหมายอื่น ขอให้ประชาชนช่วยกันดีกว่า
ผู้สื่อข่าวถามว่า การข่าวกลุ่มผู้ชุมนุมจะมีการชุมนุมยืดเยื้อหรือค้างคืนหรือไม่ ผบช.น.ตอบว่า เบื้องต้นทราบว่าจะยังไม่มีการค้างคืน ถามอีกว่า แต่ถ้าการชุมนุมมีผลกระทบต่อประชาชนเจ้าหน้าที่จำเป็นต้องดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ยืนยันตำรวจมีความพร้อมในการรักษาความสงบ ถามต่อว่าจะมีการใช้กำลังหรือไม่ เขาตอบว่าตำรวจจะไม่ใช้กำลังถ้าไม่จำเป็น อย่างที่ชี้แจงการใช้กำลัง การชุมนุมวุ่นวายหรือไม่ การชุมนุมกระทบต่อคความปลอดภัยของประชาชนไหม กระทบต่อทรัพย์สินไหม ถ้าเข้าเงื่อนไขตำรวจก็ต้องดำเนินการ เบื้องต้นยังไม่พบการข่าวที่กลุ่มผู้ชุมนุมจะใช้ความรุนแรง และเชื่อว่าการชุมนุมจะไม่ยืดเยื้อ