'กรมอนามัย' ห่วงวัยเรียน ‘อ้วน - เตี้ย’ แนะ รร.สร้างโภชนาการเหมาะสม
'กรมอนามัย' กระทรวงสาธารณสุข เผยภาวะโภชนาการของเด็กอายุ 6 -14 ปี เริ่ม 'อ้วน' และ 'อ้วนเตี้ย' เพิ่มขึ้น12.4% แนะแนวทางจัดชุด'อาหารกลางวัน'ที่มี 'โภชนานาการ' เหมาะสม หมุนเวียน 5 วันต่อสัปดาห์ ช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโตและพัฒนาสติปัญญาได้เต็มศักยภาพ
วันนี้ (24 มิ.ย. 64) นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากสถานการณ์ภาวะ 'โภชนาการ' ของเด็กอายุ 6 -14 ปี เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 พบว่า เด็กสูงดีสมส่วน และภาวะผอมมีแนวโน้มที่ดีขึ้น กล่าวคือ สูงดีสมส่วน ร้อยละ 65.5 โดยมีเป้าหมาย ร้อยละ 66 มีภาวะผอม ร้อยละ 3.6 โดยมีเป้าหมาย ไม่เกินร้อยละ 5 แต่พบว่ามี ภาวะเริ่ม 'อ้วน' และ 'อ้วนเตี้ย' เพิ่มขึ้นถึง ร้อยละ 12.4
ซึ่งการส่งเสริมให้เด็กได้รับอาหารและ 'โภชนาการ' ที่เหมาะสมเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโตและพัฒนาสติปัญญาได้เต็มศักยภาพ ควรจัดอาหารหมุนเวียนเป็นรายเดือนหรือรายสัปดาห์ เพื่อให้นักเรียนได้รับอาหารที่หลากหลายในสัดส่วน ที่เหมาะสม ปรุงประกอบอาหารเพื่อลดหวาน มัน เค็ม ไม่ใช้ผงชูรสในการประกอบอาหาร
- จัด 'อาหารกลางวัน' เหมาะสม
ซึ่งการจัดชุด 'อาหารกลางวัน' ที่เหมาะสมสำหรับเด็กวัยเรียนควรหมุนเวียน 5 วันทำการต่อสัปดาห์ ตามมาตรฐาน 'อาหารกลางวัน' สำหรับนักเรียนไทย ซึ่งประกอบด้วย
- ข้าว และกับข้าวไม่น้อยกว่า 4 ครั้งต่อสัปดาห์
- อาหารจานเดียว ไม่ควรเกิน 1 ครั้งต่อสัปดาห์
- ผลไม้ทุกวันหรือไม่น้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์
- ขนมหวานไม่ควรเกิน 2 ครั้งต่อสัปดาห์
- ปลาหรือผลิตภัณฑ์จากปลาอย่างน้อย 1 ครั้งต่อสัปดาห์
- เนื้อสัตว์ เช่น ไก่ หมู เนื้อ หรือผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์อย่างน้อย 2 ครั้งต่อสัปดาห์
- ไข่ 2-3 ฟองต่อคนต่อสัปดาห์
- ตับ เลือด ปลาเล็กปลาน้อยที่กินได้ทั้งก้าง อย่างละ 1 ครั้ง ต่อสัปดาห์
- ถั่วเมล็ดแห้ง เผือกมันอย่างละ 1 ครั้งต่อสัปดาห์
โดยการสร้างการมีส่วนร่วมกับเด็กให้เด็กได้เลือก เมนูที่ชื่นชอบ ผักที่ชื่นชอบ คุณครูปรับเมนูให้ได้ถูกต้องตามหลัก 'โภชนาการ'
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เมนู 'อาหารกลางวัน' หลากหลาย
ทั้งนี้ นอกจากจัดเมนูอาหารหมุนเวียนเพื่อให้นักเรียนได้กินอาหารที่หลากหลายแล้ว ปริมาณอาหาร ที่เด็กนักเรียนควรได้รับในมื้อกลางวันก็สำคัญเช่นกัน ดังนี้
กลุ่มข้าว-แป้ง
เด็กระดับอนุบาล (อายุ 3-5 ปี) ควรได้รับ 1.5 ทัพพี
ระดับประถมปีที่ 1-3 (อายุ 6-8 ปี) 2 ทัพพี
ระดับประถมปีที่ 4-6 (อายุ 9-12 ปี) 3 ทัพพี
ส่วนเนื้อสัตว์
เด็กระดับอนุบาล (อายุ 3-5ปี) ควรได้รับ 1.5 ช้อนกินข้าว
ระดับประถมปีที่ 1-3 (อายุ 6-8 ปี) 2 ช้อนกินข้าว
ระดับประถมปีที่ 4-6 (อายุ 9-12 ปี) 2 ช้อนกินข้าว
นอกจากนี้ เด็กวัยเรียน ควรได้รับผัก 1 ทัพพี ผลไม้ 1 ส่วน และนม 1 แก้ว เพื่อเด็กเติบโตสมวัย
อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในตอนท้ายว่า หากเป็นอาหารจานเดียวถ้าเมนูที่เป็นผัดด้วยน้ำมันจะต้องจัด คู่กับผลไม้ ของหวานที่เป็นกะทิไม่ควรจัดคู่กับอาหารที่เป็นอาหารมัน เนื้อสัตว์ให้ในปริมาณที่เพียงพอและ เป็นเนื้อย่อยง่ายสลับหมุนเวียนกัน โดยมีผักเป็นส่วนประกอบในอาหารทุกมื้อ ใช้เกลือหรือน้ำปลาผสมไอโอดีนในการปรุงอาหาร อาหารว่างประเภทขนมปังที่มีไส้ ควรเลือกไส้ที่มีเนื้อสัตว์ เช่น ขนมปังไส้ไก่หยอง ขนมไทย
ควรเลือกขนมที่มีส่วนประกอบของถั่วต่าง ๆ เช่น ขนมถั่วแปบ ถั่วเขียวต้มน้ำตาล ซึ่งเด็กวัยเรียนควรกินอาหารให้ครบทั้ง 3 มื้อ เช้า กลางวัน เย็น แต่มื้อเช้าสำคัญที่สุด เพราะจะทำให้เด็กมีสมาธิในการเรียน และควรจัดอาหารว่าง เช้าและบ่าย เพื่อเสริม 'โภชนาการ' จากอาหารมื้อหลัก ซึ่งปริมาณสารอาหารที่เด็กควรจะได้รับ ในแต่ละวัน เด็กวัยเรียนอายุ 6-8 ปี ควรได้รับพลังงานวันละ 1,400 กิโลแคลอรี่ เด็กอายุ 9-12 ปี ควรได้รับพลังงานอย่างน้อย 1,700 กิโลแคลอรี่