‘สารัชถ์’ซีอีโอ‘กัลฟ์’รุกลงทุนธุรกิจอาหารเกษตรในสหรัฐ
‘สารัชถ์’ซีอีโอ‘กัลฟ์’รุกลงทุนธุรกิจอาหารเกษตรยักษ์ใหญ่ในสหรัฐ หลังร่วมมือคาร์กิลล์สนับสนุนการขยายกิจการของบริษัทโลคัล บาวติ กรุ๊ป สตาร์ทอัพด้านการเกษตรในที่ร่มสัญชาติอเมริกัน
สารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร(ซีอีโอ)บริษัทกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) จับมือ“คาร์กิลล์” ยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมอาหารเกษตรของสหรัฐ ร่วมลงทุนในการทำข้อตกลงควบรวมกิจการกับบริษัทโลคัล บาวติ กรุ๊ป (Local Bounti Group)บริษัทเกษตรยักษ์ใหญ่ในสหรัฐ ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 1,100 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 35,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ โลคัล บาวติ กรุ๊ป บริษัทสตาร์ทอัพด้านการเกษตรในที่ร่ม ประกาศแผนแปลงเป็นบริษัทมหาชน ผ่านการควบกิจการกับ Leo Holdings III Corp ซึ่งเป็นบริษัทที่มีจุดประสงค์เฉพาะในการเพิ่มทุนและเข้าเทรดในตลาด หรือการระดมทุนในรูปแบบ SPACs
ที่ผ่านมา บริษัท Leo Holdings III Corp ระดมทุนได้ 125 ล้านดอลลาร์ ผ่านการลงทุนส่วนตัวในหุ้นสาธารณะ หรือ PIPE โดยมีนักลงทุนเอกชนเข้าร่วมหลายราย เช่น ฟิเดลิตี แมเนจเมนท์ แอนด์ รีเสิร์ช โค (Fidelity Management & Research Co)บีเอ็นพี พาร์ริบาส์ แอสเส็ต แมเนจเมนท์ อีโคซิสเต็ม รีสโตเรชัน ฟันด์ ( BNP Paribas Asset Management Ecosystem Restoration Fund) และนายสารัชถ์ ซีอีโอและรองประธานกรรมการบริษัทกัลฟ์ ที่จับมือเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์กับคาร์กิลล์ อิงค์ ที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับอาหารและเกษตรกรรมในสหรัฐ
ในส่วนของบริษัทคาร์กิลล์ มีแผนที่จะให้ความช่วยเหลือด้านเงินกู้ประมาณ 200 ล้านดอลลาร์ เพื่อสนับสนุนการขยายกิจการของบริษัทโลคัล บาวติ กรุ๊ป
คาดกันว่าแผนควบรวมกิจการระหว่างบริษัทโลคัล บาวติ กรุ๊ป และบริษัท Leo Holdings III Corp จะแล้วเสร็จภายในครึ่งหลังของปีนี้
ทั้งนี้ การระดมทุนในรูปแบบ SPACs ที่ย่อมาจาก Special Purpose Acquisition Companies กลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้งในสหรัฐ ซึ่งมียอดการระดมทุนสูงถึง 80,000 ล้านดอลลาร์ ในปีที่ผ่านมา ถือเป็นทางเลือกในการระดมทุนจากสาธารณะนอกจากการทำไอพีโอ
จุดเด่นของ SPACs คือมีขั้นตอนไม่ยุ่งยาก เพราะสามารถคุยกับผู้บริหาร SPACs ซึ่งมีอำนาจตัดสินใจลงทุนได้โดยตรง ทำให้สามารถเจรจาเรื่องมูลค่าบริษัท โครงสร้างหลังการควบรวม รวมถึงเงื่อนไขต่างๆ ที่อาจไม่สามารถทำได้ หากต้องการนำบริษัทเข้าไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์โดยการทำไอพีโอ
นอกจากนี้ SPACs ยังเปิดโอกาสใหม่ๆ ให้กับนักลงทุนรายย่อยที่ต้องการลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพที่ไม่ได้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์จึงถือได้ว่า SPACs เป็นการปลดล็อกครั้งใหญ่ที่นักลงทุนทั่วไปสามารถลงทุนในสตาร์ทอัพเหล่านั้นได้โดยไม่ต้องรอไอพีโอ