รับมือ 'คุณพ่อวัยทอง' เมื่อ‘วัยทองผู้ชาย’ พบได้เร็วตั้งแต่อายุ 45 ปี  

รับมือ 'คุณพ่อวัยทอง' เมื่อ‘วัยทองผู้ชาย’ พบได้เร็วตั้งแต่อายุ 45 ปี  

"วัยทองผู้ชาย" เกิดได้เร็วขึ้น อายุราว 40 ปีก็เป็นได้เรียกว่าเฮอร์โมนเพศชายหยุดทำงาน  เนื่องใน 5 ธันวาคม วันพ่อแห่งชาติ ช่วยทำความเข้าใจอาการและการรับมือ 

5 ธันวาคม "วันพ่อแห่งชาติ"  ทำความเข้าใจ เรื่อง “วัยทอง” ไม่ได้เกิดแต่กับผู้หญิงเท่านั้น “วัยทองผู้ชาย” ก็เกิดขึ้นได้ อาการที่ต้องสังเกต และวิธีการรับมือเมื่อตัวเองหรือคุณพ่อ คุณสามีเริ่มเข้าสู่วัยทอง เพื่อความเข้าใจกันและกัน สร้างสัมพันธ์อันดีในครอบครัว

ผู้ชายวัยทอง จะเรียกว่า Androgen Deficiency in Aging Men(ADAM)  คือ การขาดฮอร์โมนเพศชายในชายสูงอายุ และปัจจุบันวัยทองผู้ชายอาจจะเริ่มพบได้เร็วขึ้นอาจจะอายุประมาณ 45 ปี จึงเปลี่ยนมาเรียกว่า Andropause ที่หมายถึง ฮอร์โมนเพศชายหยุดทำงาน

สาเหตุวัยทองผู้ชาย

สาเหตุวัยทองผู้ชาย มีจุดแตกต่างจากวัยทองผู้หญิง 2 จุด คือ

1.ฮอร์โมนที่ลดลงและทำให้เกิดอาการวัยทองในผู้ชายเป็นฮอร์โมนเพศชายชื่อ เทสทอสเทอโรน (Testosterone)

2.ฮอร์โมนเพศชายจะค่อย ๆ ลดระดับลง แม้จะเริ่มที่อายุ 45-50 ปีเหมือนกัน บางคนอาจจะแสดงอาการ แต่ในบางคนอาจจะไม่แสดงอาการขาดฮอร์โมนจนอายุหลัง 70 ปีไปแล้วก็ได้

ผลกระทบวัยทองผู้ชาย

การขาดฮอร์โมนในเพศชายมีผลกระทบค่อนข้างมาก เพราะ ฮอร์โมนเทสทอสเทอโรนมีความสำคัญมากกับร่างกาย แบ่งออกเป็น 6 อย่างดังนี้

  • เกี่ยวข้องกับระบบประสาท ทำให้มีความคิดสร้างสรรค์ที่เป็นระบบ
  • เกี่ยวข้องกับเชาวน์ปัญญา และ อารมณ์
  • เกี่ยวข้องกับการสร้างผิวหนัง กล้ามเนื้อ และกระดูกที่แข็งแรง
  • เกี่ยวข้องกับการสร้างเม็ดเลือด
  • ทำให้มีความต้องการทางเพศ
  • ทำให้ระบบสืบพันธุ์ เช่น อัณฑะ ต่อมลูกหมาก องคชาต สมบูรณ์

อาการวัยทองผู้ชาย

ด้านร่างกาย อ่อนเพลีย เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวหนาว เหงื่อออกมาก เบื่ออาหาร ปวดเมื่อยตามตัวโดยไม่มีสาเหตุ ไม่กระฉับกระเฉง กล้ามเนื้อลดขนาดลง ไม่มีแรง

ด้านจิตใจ เบื่อหน่าย ไม่มีแรงจูงใจ เศร้า เหงา เครียดและหงุดหงิดง่าย โกรธง่าย เฉื่อยชา ขี้บ่นมากขึ้น ขี้น้อยใจเพิ่มขึ้น อยากอยู่คนเดียว นอนไม่หลับ ความจำลดลง โดยเฉพาะความจำระยะสั้น

สุขภาพทางเพศ สมรรถภาพทางเพศและความต้องการทางเพศลดลง หรือไม่มีอารมณ์เพศ บางคนเกิดอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศด้วย

กระดูกและกล้ามเนื้อ กระดูกบางลง เป็นโรคกระดูกพรุนได้ กล้ามเนื้อจะค่อยๆ ลดขนาดลง มีความแข็งแรงของกล้ามเนื้อลดลง

วิธีดูแลวัยทองผู้ชาย

วิธีการดูแลสุขภาพตนเองของผู้ชายวัยทองทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ดังนี้

  • ออกกำลังกาย การเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อ เช่น แขน ขา ลำตัว เป็นจังหวะซ้ำกันต่อเนื่อง โดยออกแรง ปานกลาง ใช้เวลาอย่างน้อย 30 นาทีต่อเนื่อง หรือสะสม ครั้งละ 10 นาที ทำทุกวันหรือเกือบ ทุกวัน เช่น เดินเร็ว วิ่งเหยาะ ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ รำมวยจีน
  • อาหาร กินอาหารครบ 5 หมู่ ให้หลากหลาย เพิ่มอาหารที่มีแคลเซียมสูงเพื่อเสริมสร้างกระดูก ซึ่งได้จากนม ถั่วเมล็ดแห้ง ปลาเล็กปลาน้อย ผักใบเขียว เป็นต้น และเพิ่มโปรตีนจากเนื้อปลา ทำให้ย่อยง่าย กินผลไม้ เพิ่มวิตามินซีและ เส้นใยอาหารป้องกันท้องผูก เช่น ฝรั่ง ส้ม กล้วย มะละกอ
  • ลดความเครียด รู้จักผ่อนคลายความเครียด โดยหา กิจกรรมหรืองานอดิเรกที่ชอบทำ  พักผ่อนให้ เพียงพอ มองเรื่องต่างๆ ในแง่ดี 
  • ปรึกษาปัญหาสุขภาพและตรวจสุขภาพประจำปีอย่างน้อย ปีละครั้ง

แพทย์แผนไทยดูแลสุขภาพแบบองค์รวม  

นอกจากนี้  กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ยังแนะนำการใช้ศาสตร์การแพทย์แผนไทยดูแลผู้สูงอายุแบบองค์รวมตามหลักธรรมานามัย นำการนวดไทยและตำรับยาหอมดูแลอาการเจ็บป่วยเบื้องต้น ลดอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และกระตุ้นการไหลเวียนเลือด ผ่อนคลาย หลับง่าย หลักธรรมานามัย ประกอบด้วยการดูแลสุขภาพ 3 องค์ประกอบ ดังนี้

1.กายานามัย คือ การมีสุขภาพกายที่ดี โดยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ การทำท่ากายบริหาร หรือการออกกำลังกาย เช่น การทำท่าบริหารฤๅษีดัดตน การเล่นโยคะ หรือกิจกรรมกีฬาที่เหมาะสม

2.จิตตานามัย คือ การมีสุขภาพใจที่ดี การส่งเสริมและดูแลสุขภาพทางใจ เช่น การทำสมาธิ สวดมนต์และภาวนา ซึ่งช่วยให้จิตใจเกิดความสงบ ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย ลดความตึงเครียด

3.ชีวิตานามัย คือ มีพฤติกรรมในการดำรงชีวิตประจำวันที่ดี เช่น การอยู่ในสถานที่ที่สะอาด ไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ รวมถึงการนำสมุนไพรในกลุ่มที่ช่วยลดน้ำตาลในเลือดมาปรุงเป็นอาหารและเครื่องดื่ม เช่น เมนูมะระขี้นกผัดไข่ ปลานึ่งมะนาวใส่กระเทียม แกงเลียงใส่ตำลึง ต้มจืดมะระขี้นกยัดไส้  น้ำขิง น้ำบัวบก น้ำตะไคร้ ชาใบหม่อน

“ลูกหลานต้องเพิ่มความใกล้ชิด ใส่ใจดูแล การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย    6 – 8 ชั่วโมง สังเกตอาการของผู้สูงอายุ หากพบสิ่งผิดปกติต้องพาไปพบแพทย์ในทันที และควรระมัดระวังในการลื่น หกล้มในกลุ่มผู้สูงอายุ”นพ.สมฤกษ์ จึงสมาน อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกกล่าว   

อีกหนึ่ง ทางเลือกในการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ คือ การออกกำลังกายฤๅษีดัดตน เป็นการบริหารร่างกายโดยการเคลื่อนไหวอย่างช้า ควบคู่กับการหายใจเข้า - ออก เป็นการฝึก  ลมหายใจและใช้สมาธิร่วมด้วย มีประโยชน์ช่วยกระตุ้นระบบการไหลเวียนเลือด ทำให้ร่างกายตื่นตัว แข็งแรง โดยท่าบริหารฤๅษีดัดตนมี 15 ท่าพื้นฐาน เช่น ท่าที่ 1 นวดกล้ามเนื้อบนใบหน้า ท่าที่ 2 แก้ลมข้อมือ ท่าที่ 3 แก้ปวดท้องและข้อเข่า แก้ลมปวดศีรษะ ท่าที่ 4แก้ลมเจ็บศีรษะและตามัว และแก้เกียจ ท่าที่5 แก้แขนขัดและขัดแขน ท่าที่ 6 แก้กล่อนและเข่าขัด ซึ่งเป็นท่าที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ

สำหรับยาสมุนไพร ที่เหมาะกับผู้สูงอายุเมื่อมีอาการวิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน ลมจุกแน่นในอก แนะนำ ตำรับยาหอมนวโกฐ นำมาละลายกับน้ำอุ่น รับประทานเมื่อมีอาการ ไม่ควรเกินวันละ 3 ครั้ง การนวดไทย สำหรับผู้สูงอายุยังช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อ อาการปวดเมื่อย หรือกล้ามเนื้อตึง ช่วยลดอาการเจ็บปวด เช่น ปวดหลัง ปวดขา หรือคอบ่า นอกจากนี้ยังช่วยให้ผ่อนคลายร่างกายและจิตใจลดความเครียด แต่ต้องระมัดระวังและควรปรึกษาแพทย์แผนไทยหากมีปัญหาเรื่องโครงสร้างและกระดูกอยู่เดิม

 

อ้างอิง : กรมอนามัย  ,รพ.พญาไท, กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก