กลุ่มธุรกิจร้านค้าปลีก ศูนย์การค้า ขานรับมาตรการรัฐคุมเข้มการแพร่ระบาดไวรัสโควิด ปรับเวลาเปิด-ปิด ยกระดับความปลอดภัยขั้นสูงสุด งดกิจกรรมรวมตัวคนจำนวนมาก
นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย และ นายนพพร วิฑูรชาติ นายกสมาคมศูนย์การค้าไทย ร่วมกันเปิดเผยว่า สมาชิกผู้ประกอบการค้าปลีกและศูนย์การค้า ยกระดับมาตรการการเฝ้าระวังการระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างสูงสุด โดยจะเพิ่มมาตรการเข้มข้นในการคัดกรองพนักงาน ผู้เกี่ยวข้อง และผู้บริโภคที่เข้าใช้บริการในศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า และร้านค้าปลีกต่างๆ ในระดับสูงสุด
พร้อมทั้งงดกิจกรรมทางการตลาดที่มีการรวมตัวของคนจำนวนมาก เพื่อเพิ่มศักยภาพให้ทุกหน่วยงานควบคุมการแพร่ระบาดระลอกใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด เป็นไปตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) มีมติให้ยกระดับมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ใน 6 พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด รวม 10 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี นราธิวาส ปทุมธานี ปัตตานี ยะลา สงขลา สมุทรปราการ และ สมุทรสาคร มีผลตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย. เป็นต้นไป หรือจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง
“สมาคมผู้ค้าปลีกไทย และสมาคมศูนย์การค้าไทย จะเป็นผู้นำให้เอกชนทุกภาคส่วนร่วมมือกันในการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ร่วมกับภาครัฐอย่างเต็มที่”
ทั้งนี้ ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า คอมมูนิตี้มอลล์ เปิดตามปกติ และ ปิดให้บริการเวลา 21.00 น. "ร้านอาหาร" หรือเครื่องดื่มที่จำหน่ายในศูนย์การค้าให้จําหน่ายในลักษณะของการนํากลับไปบริโภคที่อื่น ร้านค้าปลีกไฮเปอร์มาร์ท แคช แอนด์ แครี่ หรือศูนย์ค้าส่ง ที่ตั้งนอกศูนย์การค้าเปิดตามปกติ และปิดให้บริการ 21.00 น. ร้านค้าสะดวกซื้อ และซูเปอร์มาร์เก็ต ที่ตั้งอยู่นอกศูนย์การค้าให้เปิดบริการได้ตามเวลาปกติ
หากมีประกาศของจังหวัดอื่นใดนอกเหนือจากนี้ ให้ปฏิบัติตามประกาศจังหวัดนั้นๆ พร้อมกันนี้ ทุกคนต้องสวมหน้ากากอนามัย หน้ากากผ้า เมื่ออยู่ในที่สาธารณะ รวมถึงให้พนักงานทำงานที่บ้าน (Work From Home) และงดการเดินทางโดยไม่มีความจำเป็น
สมาคมผู้ค้าปลีกไทย และสมาคมศูนย์การค้าไทย รวมทั้งพันธมิตรสมาคมการค้าต่างๆ ประกอบด้วย คณะกรรมการค้าปลีกและบริการ หอการค้าไทย สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย และสมาคมภัตตาคารไทย ในนาม “บิ๊กไฟว์” ซึ่งทั้งระบบมีการจ้างงานถึง 12 ล้านคน คิดเป็น 34% ของจีดีพีประเทศ มีมูลค่าทางเศรษฐกิจรวม 5.6 ล้านล้านบาท ได้มีการสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐในการควบคุมและลดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดมาอย่างต่อเนื่อง โดยให้พื้นที่เพื่อเป็นจุดฉีดวัคซีน พร้อมโมเดลของระบบการทำงาน (Total Solutions) รวมทั้งเรื่องความช่วยเหลือในส่วนต่างๆ อาทิเช่น อุปกรณ์ทางการแพทย์ เตียงสนาม เครื่องอุปโภคและบริโภค พร้อมเน้นย้ำ “การ์ดไม่ตก”
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์แพร่ระบาดที่ยังมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้ง 5 สมาคมฯ จึงข้อเสนอแผนปฎิบัติการเชิงรุกนอกเหนือจากการล็อคดาวน์ที่ต้องพิจารณาเป็นช่วงเวลา บางคลัสเตอร์ และเฉพาะพื้นที่ จะต้องมีมาตรการเยียวยาช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบอย่างเร่งด่วน เช่น ช่วยค่าน้ำค่าไฟ ช่วยจ่ายค่าแรงงานที่ต้องว่างงาน และชดเชยรายได้ที่หายไป ประการสำคัญ รัฐต้องเร่งแผนการนำเข้าและปูพรมฉีดวัคซีนให้ทั่วถึงและเร็วที่สุด โดยเฉพาะในคลัสเตอร์ที่มีการแพร่ระบาด