งานวิจัยเผยฉีด'แอสตราเซนแนก้า'ผสม'ไฟเซอร์'กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี
มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดเผยผลงานวิจัยที่บ่งชี้ว่าการฉีดวัคซีนต้านโรคโควิด-19 ของแอสตราเซนเนก้าและวัคซีนของไฟเซอร์ โดยทิ้งระยะห่าง 4 สัปดาห์ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้กับผู้ได้รับการฉีดวัคซีนได้ดีกว่าการรับวัคซีนตัวเดียวกันเป็นเข็มที่ 2
ผลการวิจัยล่าสุดนี้ ดำเนินการภายใต้ชื่อโครงการ Com-COV ซึ่งจัดตารางการฉีดวัคซีนสองสูตรร่วมกัน และทิ้งระยะห่างต่างกัน เพื่อเปรียบเทียบผลลัพธ์ของการผสมวัคซีน จนได้ข้อสรุปว่า ไม่ว่าจะเว้นระยะห่างนานแค่ไหน การใช้วัคซีนของแอสตราเซนเนก้าร่วมกับวัคซีนของไฟเซอร์ จะช่วยทำให้เกิดสารแอนตี้บอดี้ในปริมาณสูงมากเพื่อต่อต้านการเพิ่มขึ้นของโปรตีนโคโรนาไวรัสได้อย่างดี
ผลวิจัยนี้สนับสนุนการตัดสินใจของรัฐบาลบางประเทศในยุโรปที่เริ่มนำเสนอวัคซีนตัวอื่นสำหรับการฉีดเข็มที่ 2 ซึ่งไม่ใช่ของแอสตราเซนเนก้า หลังจากมีรายงานเกี่ยวกับปัญหาลิ่มเลือดแข็งตัวของผู้รับวัคซีนชนิดนี้
อย่างไรก็ตาม นายแมทธิว สเนป ศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ซึ่งอยู่เบื้องหลังการวิจัยนี้ กล่าวว่า แม้ผลการศึกษาล่าสุดจะช่วยให้เกิดความยืดหยุ่นในการวางแผนแจกจ่ายวัคซีน แต่ไม่สามารถใช้เป็นคำแนะนำเพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงแผนการฉีดวัคซีนสูตรต่างๆ ที่ผ่านกระบวนการวิจัยเชิงทดลองทางคลินิกมาแล้วได้
นายสเนป ระบุว่า การฉีดวัคซีนจากสูตรเดียวทั้งสองเข็มควรเป็นหลักปฏิบัติต่อไป นอกเสียจากว่ามีเหตุผลจำเป็นจริงๆ