แบงก์ใหญ่สหรัฐ ประกาศเพิ่มเงินปันผล หลังเฟดไฟเขียวผ่านทดสอบ Stress Test
ธนาคารรายใหญ่ของสหรัฐ รวมถึง มอร์แกน สแตนลีย์ เจพีมอร์แกน แบงก์ ออฟ อเมริกา โกลด์แมน แซคส์ และเวลส์ ฟาร์โก พากันปรับเพิ่มจ่ายเงินปันผล หลังสามารถผ่านการทดสอบภาวะวิกฤติ (Stress Test) ซึ่งดำเนินการโดยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
มอร์แกน สแตนลีย์ ได้สร้างความประหลาดใจให้กับนักลงทุนด้วยการประกาศว่าจะปรับเพิ่มการจ่ายเงินปันผลเป็น 2 เท่า สู่ระดับ 70 เซนต์ต่อหุ้นในไตรมาส 3 ปีนี้ ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 50 เซนต์ นอกจากนี้ มอร์แกน สแตนลีย์ยังประกาศว่าจะเพิ่มการซื้อคืนหุ้นด้วย
ขณะที่แบงก์ ออฟ อเมริกา ประกาศว่าจะเพิ่มการจ่ายเงินปันผล 17% สู่ระดับ 21 เซนต์ต่อหุ้นในไตรมาส 3 ปีนี้เช่นกัน ทางด้านเจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โค เตรียมปรับเพิ่มการจ่ายเงินปันผลในไตรมาส 3 เป็น 1 ดอลลาร์ต่อหุ้น จากระดับ 90 เซนต์
ส่วนธนาคารเวลส์ ฟาร์โกประกาศแผนการซื้อคืนหุ้นมูลค่า 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์เป็นเวลา 4 ไตรมาส โดยจะเริ่มตั้งแต่เดือนก.ย.นี้ ขณะที่โกลด์แมน แซคส์ ประกาศแผนเพิ่มการจ่ายเงินปันผลเป็น 2 ดอลลาร์ต่อหุ้น จากเดิม 1.25 ดอลลาร์ต่อหุ้น
ทางด้านซิตี้กรุ๊ปประกาศว่า ธนาคารมีแผนที่จะเพิ่มการจ่ายเงินปันผลอย่างน้อย 51 เซนต์ต่อหุ้น และมีแผนที่จะซื้อคืนหุ้นในตลาด
เฟดเปิดเผยเมื่อวันที่ 24 มิ.ย.ที่ผ่านมาว่า ธนาคารรายใหญ่ทั้ง 23 แห่งซึ่งรวมถึง แบงก์ ออฟ อเมริกา, เจพีมอร์แกน เชส และซิตี้กรุ๊ป ยังคงมีฐานเงินทุนขั้นต่ำที่ตรงตามข้อกำหนดของเฟด ซึ่งจะสามารถรับมือกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจได้ โดยสถานการณ์สมมติที่เฟดกำหนดขึ้นเพื่อทดสอบภาวะวิกฤตในครั้งนี้รวมถึงกรณีที่เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยรุนแรง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาคอสังหาริมทรัพย์และกลุ่มผู้ถือตราสารหนี้ของบริษัทเอกชน รวมทั้งกรณีที่อัตราว่างงานพุ่งขึ้นแตะระดับ 10.8% และตลาดหุ้นทรุดตัวลงรุนแรงถึง 55%
นอกจากนี้ ข้อกำหนดยังระบุว่า หากภาคธนาคารประสบภาวะขาดทุนเป็นวงเงินรวม 4.74 แสนล้านดอลลาร์ ธนาคารจะต้องมีเงินทุนกันชนเพื่อรองรับการขาดทุน (loss-cushioning capital) มากกว่าเงินทุนขั้นต่ำที่กำหนดไว้กว่า 2 เท่า
เฟดระบุว่า การที่ธนาคารรายใหญ่ทั้ง 23 แห่งสามารถผ่านการทดสอบ Stress Test จะทำให้ธนาคารเหล่านี้สามารถกลับมาจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นได้ในระดับปกติ และกลับมาซื้อคืนหุ้นได้อีกครั้งหลังวันที่ 30 มิ.ย.นี้เป็นต้นไป เนื่องจากธนาคารมีเงินทุนที่เพียงพอจะรับมือหากเกิดกรณีที่เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยรุนแรง
การทดสอบ Stress Test ของเฟดครอบคลุมถึงการประเมินว่า มีความปลอดภัยหรือไม่ที่ธนาคารต่างๆ จะดำเนินการตามแผนการใช้จ่ายเงินทุน ซึ่งรวมถึงการจ่ายเงินปันผล และการใช้จ่ายอื่นๆ นอกเหนือจากการตั้งสำรองหนี้เสีย โดยการทดสอบดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้เงินภาษีของประชาชนไปอุ้มธนาคารต่างๆ เหมือนในช่วงที่เกิดวิกฤตการเงินปี 2550-2552