จาก 'ย้ายประเทศ' สู่ 'ท่านทูตเที่ยวทิพย์' ถอดรหัส ‘การทูตดิจิทัล’ สะท้อนตัวตน ‘สวีเดน’

จาก 'ย้ายประเทศ' สู่ 'ท่านทูตเที่ยวทิพย์' ถอดรหัส ‘การทูตดิจิทัล’ สะท้อนตัวตน ‘สวีเดน’

สัมภาษณ์พิเศษ "ทูตสวีเดน" กับภารกิจการทูตดิจิทัลบนเฟซบุ๊คเพจ Embassy of Sweden in Bangkok ที่สร้างความฮือฮาให้กับแฟนเพจมานักต่อนัก ตั้งแต่ "ย้ายประเทศ" ไปจนถึงท่านทูตขับรถ "เที่ยวทิพย์"

ทุกวันนี้ ทุกหน่วยงานล้วนใช้โซเชียลมีเดียสื่อสารกับผู้รับบริการเพื่อความรวดเร็ว แต่จะมีสักกี่แห่งที่สื่อสารได้ตรงใจ สร้างสีสันได้ทันสถานการณ์ พร้อมๆ กับข้อมูลข่าวสารครบถ้วน หนึ่งในนั้น คือ เฟซบุ๊คของ สถานเอกอัครราชทูตราชอาณาจักรสวีเดนประจำประเทศไทย ภายใต้การนำของเอกอัครราชทูตยอน ออสเตริม เกรินดาห์ล 

"กรุงเทพธุรกิจ" คุยกับทูตถึงแนวทางการนำเสนอข่าวสารผ่านโซเชียลมีเดียของ "สถานทูตสวีเดน" ที่ "โดนใจแฟนเพจ" มากมาย

  

Q : น่าสังเกตว่าเฟซบุ๊คของ "สถานทูตสวีเดน" หยิบประเด็นร้อนในสังคมไทยมาพูดเสมอ ชัดๆ เลยคือตอน "ย้ายประเทศ" ท่านมีความเห็นอย่างไร ทำไมจึงหยิบประเด็นนี้มาเล่น 

A : ขอบคุณมากครับที่สังเกตเห็น สวีเดนมีเป้าหมายที่จะเป็นผู้นำการทูตดิจิทัล (Digital Diplomacy) ในระดับโลก เราพยายามนำเสนอเนื้อหาที่อยู่ในความสนใจในเวลาที่เหมาะสมแก่ผู้ติดตามชาวไทย จริง ๆ เราประชาสัมพันธ์สวีเดนในฐานะจุดหมายด้านการท่องเที่ยว การทำงาน และการศึกษาต่อเป็นปกติอยู่แล้วนะครับ ฉะนั้น ข้อความที่เราสื่อไปนั้นไม่มีอะไรใหม่เลยในแง่ของงานด้านสื่อโซเชียล แต่ประเด็นดังกล่าวประจวบเหมาะกับจังหวะเวลาที่มีการถกเถียงกันในประเด็นหนึ่ง โพสต์ดังกล่าวจึงแพร่หลายอย่างไม่เคยมีมาก่อน ทำให้จำนวนผู้ติดตามเฟซบุ๊คของสถานเอกอัครราชทูตฯ เพิ่มขึ้นอย่างคาดไม่ถึงเช่นกัน

เรายินดีที่ได้เห็นการแลกเปลี่ยนในประเด็นต่างๆ ในคอมเมนต์ เนื่องจากการอภิปรายที่เปิดกว้างและเสรีเป็นสัญญาณของสังคมที่ดี ในโพสต์ดังกล่าว สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ประชาสัมพันธ์ค่านิยมพื้นฐานของสวีเดนได้แก่ สิทธิแรงงาน ความเท่าเทียม สวัสดิการสังคม การไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และนวัตกรรมครับ

ดังนั้น เราตอบคำถามคุณได้ว่ามันเป็นวิธีการหนึ่งที่จะประชาสัมพันธ์ค่านิยมและผลประโยชน์ของสวีเดนผ่านสื่อโซเชียลไปยังผู้ติดตามทั่วโลก ไม่เพียงแต่ในประเทศไทยเท่านั้น

Q : เมื่อพูดประเด็นที่กำลังเป็นกระแสทางการเมืองอย่างเรื่องย้ายประเทศ แน่นอนว่าต้องมีคอมเมนท์ทั้งบวกและลบ ท่านรับมืออย่างไรที่ผู้คนมาถกเถียงกันในเพจสถานทูต ท่านได้อ่านทั้ง 1 หมื่นคอมเมนท์ หรือไม่ คอมเมนท์ไหนที่ท่านขำที่สุด คอมเมนท์ไหนที่ท่านชอบที่สุด (ในประเด็นย้ายประเทศ) 

A : เมื่อสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้รับหนึ่งหมื่นคอมเมนต์ ต้องยอมรับว่า เรารู้สึกท่วมท้นจากการตอบรับโดยสาธารณชนอย่างมาก เราได้รับคำถามต่างๆ ซึ่งจะตอบทุกเรื่องก็เป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้น เราจึงรวบรวมคำถามที่พบบ่อย อาทิ การหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในสวีเดน ภาษี การว่างงาน ผู้อพยพ และตอบกลับในคอมเมนต์ ทีมงานของผมพยายามที่จะอ่านทุกคอมเมนต์แต่บางครั้งก็กระทำได้ยากเมื่อคำนึงถึงความเร็วของการแพร่ขยายของเนื้อหาดังกล่าวและจำนวนทรัพยากรที่เรามี ผมเองไม่ได้มีคอมเมนต์ที่ชอบที่สุด และไม่ได้จัดประเภทว่าคอมเมนต์ใดคอมเมนต์หนึ่งเป็นบวกหรือลบ  เนื่องจากสถานเอกอัครราชทูตฯ เห็นว่าการที่ผู้ติดตามมีปฏิสัมพันธ์กับเราถือว่าดีทั้งนั้น

เรารู้สึกซาบซึ้งเป็นอย่างยิ่งที่สาธารณชนให้ความสนใจในงานของเรา และเราก็ยินดีมากที่ผู้คนได้ใช้ช่องทางนี้เสวนาอย่างเปิดกว้างและสร้างสรรค์ในประเด็นต่างๆ รวมทั้งเรื่องที่ว่าเราจะร่วมกันทำอย่างไรเพื่อหล่อหลอมและพัฒนาสังคมของเราให้ดีขึ้น องค์ประกอบที่สำคัญของประชาธิปไตยคือการเปิดกว้าง เสรีภาพในข้อมูลข่าวสาร และความโปร่งใสครับ

Q : การนำเสนอเนื้อหาผ่านเฟซบุ๊คที่ทางเพจทำมาตลอด สะท้อนอะไรในความเป็น “สวีเดน”

A : หากท่านเลื่อนดูโพสต์ของเราทางสื่อโซเชียลท่านจะเห็นค่านิยมของสวีเดนต่าง ๆ ที่เราพยายามจะประชาสัมพันธ์ อาทิ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน หลักนิติธรรม ความเท่าเทียมทางเพศ ซึ่งรวมถึง LGBTQI เสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในข้อมูลข่าวสาร สิทธิเด็ก ความยั่งยืน และการปกป้องสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ เราพยายามที่จะส่งเสริมแบรนด์ของสวีเดนรวมทั้งวัฒนธรรมและปรากฏการณ์ต่างๆ ในสวีเดน เช่น เทศกาลกลางฤดูร้อน (Midsummer) และฟุตบอล (ในช่วงศึกฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป)

เราเชื่อว่าตัวตนที่แท้จริงของเราแสดงออกผ่านนวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ และความโปร่งใสในสื่อโซเชียลครับ

Q: แนวทางการเล่นโซเชียลมีเดียของสถานทูตสวีเดนเป็นอย่างไร ท่านคิดว่าสำคัญแค่ไหนกับการทูต

A : ในชีวิตประจำวันของนักการทูต เรามักมีโอกาสพบปะกับผู้แทนจากภาครัฐและเอกชนในประเทศนั้นๆ อยู่บ่อยครั้ง การทูตสาธารณะ (Public Diplomacy)  เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานทางการทูตมาเป็นเวลานานแล้ว อย่างไรก็ดี สื่อโซเชียลได้ให้โอกาสที่ยอดเยี่ยมในการสื่อสารกับสาธารณชนชาวไทยและสามารถเข้าถึงคนได้เป็นล้านๆ คนด้วยข้อความและข้อริเริ่มต่างๆ ของเรา

สวีเดนเป็นประเทศแรกๆ ที่ได้นำสิ่งที่ในปัจจุบันเรียกว่าการทูตดิจิทัล (Digital Diplomacy) มาใช้ และเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์เราทั่วโลก เรามีเป้าหมายที่จะเป็นประเทศแถวหน้าในด้านการสื่อสารทางดิจิทัล ในความพยายามนั้น เราจึงต้องมีนวัตกรรมและพัฒนางานของเราอย่างต่อเนื่องในสื่อโซเชียลต่าง ๆ ผู้ติดตามจึงสำคัญต่อเรามาก เรารักที่จะฟังข้อคิดเห็นของผู้ติดตาม  และพยายามทำเนื้อหาให้น่าสนใจ รวมทั้งพยายามตอบคำถามที่ได้รับ

นอกจากนี้ เรายังติดต่อกับชาวสวีเดนในประเทศไทยผ่านสื่อโซเชียลอีกด้วยโดยมีจดหมายข่าวประจำเดือนและข้อมูลด้านกงสุล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาวิกฤตที่สำคัญ อาจพูดได้ว่า “การทูตดิจิทัล” ได้ทวีความสำคัญในฐานะเครื่องมือในการดำเนินนโยบายต่างประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงโรคระบาดใหญ่ซึ่งทำให้การมีปฏิสัมพันธ์แบบตัวต่อตัวนั้นมีข้อจำกัด

Q : ท่านทูตให้อิสระแก่แอดมินเพจทำคอนเทนท์แค่ไหน มีแนวทางกำกับดูแลอย่างไรบ้าง

A : ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทน ผมได้ให้แนวทางการทำงานแก่ทีมงานของผมและได้ให้เสรีภาพในการสร้างสรรค์และวางแผนเนื้อหาได้อย่างเต็มที่ตามที่ทีมงานเห็นสมควร สถานเอกอัครราชทูตฯ มียุทธศาสตร์หลักอยู่แล้ว แต่การวางแผนและการออกแบบข้อความในการสื่อสารนั้นต้องกระทำอย่างเป็นอิสระจึงจะมีประสิทธิภาพ 

ในบางครั้ง ทีมงานของผมจะขออนุมัติในบางโพสต์ที่สำคัญ หรือโพสต์ที่เกี่ยวกับผม ผมพยายามที่จะหาเวลามาเข้าร่วมงานด้านการสื่อสารอยู่เสมอเมื่อได้รับการร้องขอ ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายภาพ ถ่ายวิดีโอ ชิมขนมไทย หรือประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์หรือแบรนด์ต่างๆ ของสวีเดน เราพยายามที่จะสร้างบรรยากาศที่เป็นมิตรและเปิดกว้างในที่ทำงาน โดยทุกคนควรมีอิสระที่จะเสนอความคิดสร้างสรรค์หรือนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อพัฒนางานของเราได้อย่างเต็มที่

Q : ท่านขับรถ “เที่ยวทิพย์” มากี่จังหวัดแล้ว ประทับใจที่ไหน อย่างไร ที่ไหนที่อยากไปแต่ยังไม่มีคนนำเสนอ

A : เราได้รับคำแนะนำให้ไปเที่ยวทิพย์ใน 32 จังหวัด แต่ผมเคยไปจริงๆ แค่ 4 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี ชลบุรี เชียงใหม่ และภูเก็ต หากเป็นไปได้ ผมประสงค์ที่จะไปทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศไทย ผมได้ยินมาว่าแต่ละภาคหรือแต่ละจังหวัดมีเสน่ห์ รวมทั้งประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และอาหารที่เป็นเอกลักษณ์ของตน ดังนั้น ผมจึงตั้งตารอที่เดินทางไปจังหวัดต่างๆ ให้มากที่สุดระหว่างการประจำการของผมที่ประเทศไทยครับ

Q : ท่านลองขนมไทยมากี่ชนิดแล้ว ชอบขนมอะไรที่สุด 

A : 5 ชนิดครับ ได้แก่ ข้าวเหนียวมะม่วง ข้าวเหนียวทุเรียน ซ่าหริ่ม บัวลอย และขนมใส่ไส้  ผมชอบข้าวเหนียวมะม่วงที่สุดเพราะรสชาติกลมกล่อม อร่อยดีครับ จริง ๆ ผมชอบมะม่วงอยู่แล้ว อะไรที่มีส่วนผสมของมะม่วงก็เลยถูกใจน่ะครับ แล้วผมชอบที่ข้าวเหนียวกับมะม่วงเข้ากันมากครับ มะม่วงเมืองไทยนี่พิเศษมาก มีมะม่วงหลากหลายพันธุ์ในโลก แต่ว่ามะม่วงเมืองไทยอร่อยที่สุดเลยครับ

ส่วนขนมไทยที่แฟนเพจแนะนำมาแล้วหารับประทานได้ยากมากคือ ม้าฮ่อ ส้มฉุน ขนมโค ข้าวต้มใบมะพร้าวไส้กล้วย และปลาแห้งแตงโม ครับ

Q : ปีก่อนสวีเดนเป็นข่าวดังเรื่องนโยบายโควิด ไม่ยอมล็อกดาวน์เหมือนประเทศอื่นๆ ขณะนี้สถานการณ์โควิดและการฉีดวัคซีนในสวีเดนเป็นอย่างไร เปิดเศรษฐกิจไปบ้างหรือยัง 

A : ประเทศต่างๆ ล้วนมีแนวทางในการจัดการกับโควิด -19 แตกต่างกัน ยังไม่มีแบบแผนตายตัวในการแก้ปัญหาโรคระบาดใหญ่นี้ แต่ละประเทศจะตัดสินใจบนพื้นฐานของผลประโยชน์แห่งชาติและประชาชน สิ่งนี้อาจน่าประหลาดใจสักหน่อย แต่ในสวีเดนนั้น หน่วยงานผู้เชี่ยวชาญจะดำเนินงานตามที่รัฐบาลและรัฐสภาตัดสินใจ ส่วนมาตรการต่างๆ ของหน่วยงานก็จะขึ้นอยู่กับหลักวิทยาศาสตร์ แนวปฏิบัติและประสบการณ์ที่เป็นเลิศ ซึ่งบนพื้นฐานนี้เองที่รัฐบาลใช้เป็นหลักในประเมินสถานการณ์และการตัดสินใจ

เมื่อปีที่แล้ว รัฐสภาได้ออกกฎหมายให้อำนาจหน่วยงานต่างๆ สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ดีขึ้นและสามารถปรับผู้ละเมิดกฎระเบียบเพื่อลดการแพร่ระบาดของไวรัส ปัจจุบันในสวีเดน ทุกคนได้รับคำแนะนำจากหน่วยงานราชการให้หลีกเลี่ยงงานสังคม รักษาระยะห่างอย่างปลอดภัยจากบุคคลอื่น อยู่ที่บ้าน และตรวจโรคเมื่อมีอาการ เป็นที่น่าเศร้าว่าเรามีจำนวนผู้เสียชีวิตประมาณ 14,500 คน และผู้ติดเชื้อราว 1 ล้านคน

สำหรับการฉีดวัคซีนของประเทศนั้น สวีเดนได้ฉีดวัคซีนไปแล้วมากกว่า 6.7 ล้านโดสตั้งแต่เริ่มโครงการในเดือนธันวาคม 2563 ปัจจุบัน จำนวนผู้ติดเชื้อน้อยมากโดยเปรียบเทียบ โดยร้อยละ 30 ของประชากรผู้ใหญ่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วครบสองโดส และร้อยละ 60 ของประชากรผู้ใหญ่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วหนึ่งโดส

ส่วนด้านเศรษฐกิจ ปีที่แล้วเศรษฐกิจสวีเดนหดตัวร้อยละ 2.8 และปีนี้ ได้มีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของเราจะเติบโตร้อยละ 4.4 ดังนั้น ผมหวังว่าเรากำลังเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ครับ

Q : นโยบายภูมิคุ้มกันหมู่ที่เคยใช้ได้ผลมากน้อยแค่ไหน มีบทเรียนใดในสวีเดนที่ไทยสามารถเรียนรู้ได้ในเรื่องโควิด

A: ผมคิดว่าตอนนี้ทุกประเทศกำลังพยายามที่จะมีภูมิคุ้มกันหมู่โดยใช้วัคซีน เช่นเดียวกับหลายๆ ประเทศ สวีเดนพยายามที่จะลดจำนวนผู้ติดเชื้อ ด้วยจำนวนประชากรที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วจำนวนมาก กอปรกับฤดูร้อนเป็นช่วงที่คนมาพบปะภายนอกอาคารมาก ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อลดลงอย่างมาก (ปัจจุบันอัตราการติดเชื้ออยู่ที่ 50 รายจากประชากร 100,000 คน) แต่ด้วยไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ทำให้เรายังคงต้องระมัดระวัง โดยบทเรียนจากโรคระบาดใหญ่ที่สามารถประยุกต์ใช้ได้กับทุกประเทศคือ “ไม่มีใครปลอดภัย จนกว่าทุกคนจะปลอดภัย” ดังนั้น สวีเดนจึงบริจาควัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าให้แก่ COVAX เพื่อช่วยเหลือการขาดแคลนวัคซีนทั่วโลก

Q : โลกทุกวันนี้มีโจทย์ใหม่ๆ ให้ต้องแก้ ทั้งโรคระบาดจากไวรัสร้าย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความเสมอภาคทางเพศ สีผิว เชื้อชาติ ในทัศนะของท่านทำอย่างไรจึงจะขับเคลื่อนเรื่องเหล่านี้ไปได้พร้อมๆ กัน

A: ขอบคุณสำหรับคำถามที่เยี่ยมยอดครับ โลกเผชิญกับความท้าทายต่างๆ ที่รุมเร้า ซึ่งได้ถูกอธิบายและรวมอยู่ในวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 (Sustainable Development Goals 2030) ที่ทุกประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติได้ร่วมลงนามรับรอง รวมทั้งไทยและสวีเดน วาระดังกล่าวเป็นพิมพ์เขียวสำหรับมนุษย์และโลกของเราโดยเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ เป็นพันธมิตรในการดำเนินการแก้ปัญหาร่วมกัน

สำหรับสวีเดน เราได้บรรลุ 3 ใน 17 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหัสวรรษแล้ว ได้แก่ การขจัดความยากจน สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี รวมทั้งมีพลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้ และที่สำคัญที่สุด สวีเดนตั้งเป้าหมายที่จะเป็นรัฐสวัสดิการแห่งแรกของโลกที่ปราศจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และจะลดการ​ปล่อยก๊าซเรือนกระจกจนเหลือศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2045 เป็นอย่างช้า 

อย่างไรก็ดี เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหัสวรรษไม่ใช่สำหรับรัฐบาลเท่านั้น แต่เป็นของทุกภาคส่วนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจ ประชาสังคม ภาควิชาการ รวมทั้งเป็นเรื่องในระดับตนเองของพลเมืองทุกคน เราทุกคนสามารถเพิ่มความตระหนักรู้ในประเด็นต่างๆ อาทิ สิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียมทางเพศ การสร้างพลังให้แก่สตรีและเด็กหญิง การปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและโลกของเรา เราต้องมีมาตรฐานที่สูงสำหรับรัฐบาลของเราที่จะบรรลุเป้าหมายต่างๆ เหล่านี้ เราเองก็สามารถจะเป็นพลเมืองโลกที่ดีได้ อาทิ มีไลฟ์สไตล์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหัสวรรษเป็นเครื่องเตือนใจเราว่าประเทศต่างๆ ต้องร่วมมือกันเพื่อแก้ไขความท้าทายในระดับโลก ดังนั้น สวีเดนจึงเป็นประเทศที่ยึดมั่นในระบบพหุภาคีเป็นอย่างมากเลยครับ